posttoday

สรุปข่าววัคซีนทั่วโลก: เพื่อนบ้านไทยไปถึงไหนแล้ว?

11 พฤษภาคม 2564

ความคืบหน้าของวงการวัคซีนจากทั่วโลก สามารถเช็ค "ข่าวจริง" ของวัคซีนจากทั่วโลกได้ที่นี่

ขณะนี้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านกำลังเผชิญกับการกลับมาของ Covid-19 ระลอกที่ 3 แม้ว่าจะมีการยกระดับทั้งมาตรการป้องกันและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนมากที่สุด แต่กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในหลายประเทศยังกลับมาอยู่ในช่วงขาชั้นอีกครั้ง

สิงคโปร์

สิงคโปร์เพิ่งแซงหน้านิวซีแลนด์ขึ้นเป็นประเทศที่รับมือกับ Covid-19 ได้ดีที่สุดในโลก จากการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วและมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่ 19.5% ของประชากรทั้งหมดที่มีอยู่ราว 6 ล้านคน 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า จนถึงวันอาทิตย์ (9 พ.ค.) ชาวสิงคโปร์ 1.8 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และ 1.2 ล้านคนได้รับครบทั้งสองโดสแล้ว และคาดว่าหากได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตตามกำหนด จะบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ 

  • เจอคลัสเตอร์ใหม่

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ สิงคโปร์ตรวจเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่สัปดาห์ละอย่างน้อย 10 รายทั้งที่ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายอื่น ทั้งยังพบคลัสเตอร์แหล่งใหม่เพิ่มเติม และพบเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ทางการสิงคโปร์ต้องเร่งตรวจหาเชื้อเชิงรุกทั่วประเทศ

  • ยกระดับมาตรการ

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์สั่งตั้งการ์ดด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเข้มงวดเป็นเวลา 3 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.จนถึงสิ้นเดือน โดยลดการรวมตัวกันจากไม่เกิน 8 คนเหลือ 5 คน เพิ่มระยะเวลากักตัวของผู้เดินทางเข้าประเทศจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงจาก 14 เป็น 21 วัน ส่วนสถานที่ทำงานและอีเว้นต์แข่งขันกีฬาต่างๆ ก็ต้องลดจำนวนคน

  • ห่วงเชื้อกลายพันธุ์อินเดีย

ทางการสิงคโปร์ยังแสดงความกังวลเรื่องเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดียที่อาจหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันของคลัสเตอร์โรงพยาบาล 9 จาก 40 คนได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้ว และอีกอย่างน้อย 5 รายได้รับเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อินเดีย

  • Covid-19 จะอยู่ตลอดไป

วิเวียน บาลากริชนาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งเคยเป็นนายแพทย์มาก่อนเผยกับ CNBC ว่า Covid-19 จะอยู่กับเราตลอดไป  เพราะมันแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว และการกลายพันธุ์และเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็อุบัติขึ้นตลอดเวลา ขณะที่ภูมิคุ้มกันของคนจะขึ้นๆ ลงๆ

อดีตนายแพทย์กล่าวอีกว่า สถานการณ์ตอนนี้มีแนวโน้มอันตรายมากขึ้นทั้งกับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วซึ่งอาจละเลยการดูแลตัวเอง และกับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่วัคซีนอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ การเว้นระยะห่างทางสังคมและการปิดพรมแดนอาจต้องนำกลับมาใช้อีกเป็นครั้งคราว

  • ศูนย์กลางผลิตวัคซีน Pfizer

บริษัท BioNTech ของเยอรมนีเลือกสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน Pfizer-BioNTech ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

มาเลเซีย

ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ (10 พ.ค.) มาเลเซียมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,807 ราย รวมติดเชื้อทั้งหมด 444,848 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และเสียชีวิต 1,700 ราย ขณะที่ข้อมูลจาก Our World in Data พบว่า มาเลเซียแจกจ่ายวัคซีนแล้ว 1.77 ล้านโดส 3.4% ของประชากรฉีด 1 โดส และ 2.1% ได้รับครบทั้งสองโดสแล้ว

  • ล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

แม้ว่าขณะนี้มาเลเซียจะอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของ Covid-19 มาตั้งแต่เดือน ม.ค. แต่ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (10 พ.ค.) นายกรัฐมนตรี มูยิดดิน ยัสซิน ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.จนถึงวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ด้วยการห้ามเดินทางเดินทางระหว่างรัฐและระหว่างจังหวัด รวมทั้งห้ามรวมตัวกัน ส่งผลให้ชาวมุสลิมไม่สามารถฉลองเทศกาลอิดิลฟิตรี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน แต่ธุรกิจต่างๆ ยังสามารถดำเนินต่อไปได้

เวียดนาม

เวียดนามฉีดวัคซีนให้ประชาชนของตัวเองน้อยที่สุดในอาเซียน จนถึงตอนนี้ทางการฉีดวัคซีนไปเพียง 851,513 โดส หรือคิดเป็น 0.88% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น แม้จะได้รับวัคซีน AstraZeneca จากโครงการแจกจ่ายวัคซีน COVAX ขององค์การอนามัยโลก เกือบ 1 ล้านโดสเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และวัคซีนล็อตแรกจาก COVAX กำลังจะหมดอายุในวันที่ 31 พ.ค.นี้  

  • ระลอก 3

ที่ผ่านมาเวียดนามควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งแรกในรอบเดือนตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา และแพร่กระจายไปใน 26 เมืองและจังหวัดทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว อาทิ ฮานอย จังหวัดไห่เซือง หวิญฟุก และไถ่เหงวียน ทั้งยังพบการระบาดในโรงพยาบาลจนต้องสั่งล็อกดาวน์โรงพยาบาลอย่างน้อย 10 แห่ง

ที่น่าห่วงคือ ยังไม่สามารถหาต้นตอแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อในจุดใหญ่ๆ อย่างในกรุงฮานอยและเมืองดานัง อีกทั้งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในระลอกนี้ได้รับเชื้อกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียที่สร้างความกังวลให้กับวงการแพทย์อยู่ในขณะนี้

  • จำกัดการเคลื่อนไหว

สถานการณ์นี้ทำให้ทางการสั่งจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน ในกรุงฮานอยต้องปิดโรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารข้างทาง  ส่วนโรงภาพยนตร์ ยิม สปาต้องปิดทั้งในกรุงฮานอยและเมืองโอจิมินห์ และปิดหมูบ้านแห่งหนึ่งในเมืองหวิญฟุกที่มีประชากร 920 คนหลังพบผู้ติดเชื้อ 8 ราย

  • คุมเข้มชาวต่างชาติ

นักท่องเที่ยวต่างชาติและบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อต้องกักตัวในสถานที่ที่ทางการจัดให้เป็นเวลา 3 สัปดาห์จากเดิม 2 สัปดาห์ เนื่องจากพบผู้ที่กักตัวครบ 14 วันและมีผลตรวจเป็นลบ 2 ครั้งติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามยังตรวจสอบนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แต่ละจังหวัด แต่ละบ้าน และเข้าตรวจบริษัทที่มีพนักงานชาวต่างชาติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

  • อาจระบาดหนัก

ด้วยความที่เวียดนามฉีดวัคซีนได้น้อย จึงมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง นายกรัฐมนตรี ฟ่ามมินห์จินห์ ถึงกับเอ่ยว่า “มีโอกาสสูงที่เชื้อจะกระจายไปทั่วประเทศ” ส่วนเหงวียนถั่นลอง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การระบาดอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีแหล่งแพร่กระจายเชื้อหลายแหล่ง และไวรัสหลายสายพันธุ์ที่ทำให้ติดเชื้อรวดเร็ว ควบคุมได้ยาก

ลาว

ข้อมูลของสำนักข่าว BBC ระบุว่าลาวฉีดวัคซีนแล้ว 184,387 โดส หรือคิดเป็น 2.5% ของประชากรทั้งหมด โดยการระบาดระลอกใหม่เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 49 รายเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.เป็น 1,302 รายภายในเวลาไม่ถึงเดือน เกิดขึ้นหลังจากคนลาวสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อชาวไทย และจากแรงงานลาวที่เดินทางกลับจากไทย

หลังจากนั้นทางการลาวจึงสั่งล็อกดาวน์ ห้ามประชาชนออกจากบ้านยกเว้นกรณีจำเป็นและห้ามเดินทางระหว่างกรุงเวียงจันทน์กับจังหวัดอื่นๆ และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค.กระทรวงสาธารณสุขลาวประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 15 วันจนถึงวันที่ 20 พ.ค.นี้

นอกจากนี้ ลาวเพิ่งพบผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 เป็นรายแรกของประเทศโดยเป็นหญิงชาวเวียดนามวัย 53 ปีที่ทำงานในร้านคาราโอเกะในกรุงเวียงจันทน์

Photo by Alain JOCARD / AFP