posttoday

การค้าเจนเก่าอยากรอด ต้องฉีกกฎค้าปลีกเดิมๆ แบบ B8ta

17 เมษายน 2564

ในยุคที่อีคอมเมิร์ซกำลังมาแรง แต่ทำไม B8ta ถึงมั่นใจว่าธุรกิจค้าปลีกจะยังไปรอดและไม่มีวันตาย

ในขณะที่การซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ใครๆ ก็คิดว่าอีกไม่นานการค้าปลีกคงถึงกาลอวสาน เนื่องจากหลายเจ้าทยอยปิดตัวไปแล้ว บางเจ้าก็ล้มละลาย แต่ไม่ใช่สำหรับ วิภู นอร์บี ผู้ร่วมก่อตั้ง B8ta ร้านขายปลีกแก็ดเจ็ทที่มีสาขาถึง 22 แห่งทั่วสหรัฐ เขามองว่ายังไงๆ ธุรกิจค้าปลีกก็ยังไปรอดและไม่มีวันตาย เนื่องจากมีความได้เปรียบตรงที่ลูกค้าสามารถลองสัมผัส ลองใช้สินค้าตัวอย่างได้จนกว่าจะพอใจ ซึ่งการซื้อขายออนไลน์ทำไม่ได้

จากประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรในบริษัทผลิตเครื่องควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ Nest และการพูดคุยสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การสต๊อกสินค้า ทำให้ นอร์บี อยากเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าปลีกเดิมๆ เพื่อให้เอื้อต่อทั้งคนซื้อและคนขายไปพร้อมๆ กัน เขาจึงร่วมกับเพื่อนเปิด B8ta ขึ้นมาเมื่อปี 2015

โมเดลที่ไม่เหมือนใคร

โมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้ B8ta ต่างจากร้านค้าปลีกอื่นๆ คือ ร้านจะคิดค่าวางสินค้าในอัตราตายตัวจากผู้ผลิตอุปกรณ์แก็ดเจ็ท แทนที่จะหักเปอร์เซ็นต์จากกำไรที่ขายสินค้า โดยที่ B8ta จะรวบรวมข้อมูลปฏิกิริยาที่ลูกค้ามีต่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งกลับไปให้เจ้าของแบรนด์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้จากกล้องสามมิติที่ติดอยู่ภายในร้านโดยไม่มีการเปิดเผยตัวตนของลูกค้า

เป้าหมายต่อมาของ B8ta คือการสร้างประสบการณ์การรับรู้เกี่ยวกับสินค้า ฉีกกฎเดิมที่ร้านค้าปลีกมักจะมีโชว์สินค้าในกล่องอย่างเดียวโดยที่ไม่มีสินค้าทดลอง นอร์บี ตอบโจทย์ข้อนี้ด้วยการจัดอบรมพนักงานในร้านให้มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าแต่ละชิ้นเป็นอย่างดีสำหรับตอบคำถามกับลูกค้า รวมทั้งแกะสินค้าออกจากกล่องให้ลูกค้าได้สัมผัสและทดลองก่อน พร้อมกับติดตั้งไอแพดไว้ข้างสินค้าแต่ละแบรนด์เพื่อสาธิตการใช้

นักช็อปออนไลน์บางคนอาจจะเคยแวะไปลองสินค้าจากหน้าร้าน แต่สุดท้ายเมื่อได้สีหรือแบบที่ต้องการแล้วกลับไปสั่งซื้อในอินเทอร์เน็ตแทนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่จุดนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับร้านค้าปลีกแนวใหม่อย่าง B8ta ที่นี่ไม่กลัวว่าลูกค้าจะไม่ซื้อสินค้าจากร้านตัวเอง ฟิลลิป ราอับ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เผยว่า ถ้าลูกค้าต้องการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเราก็ไม่ว่า เนื่องจากเราไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะไม่ได้คิดส่วนแบ่งจากผลกำไร

สำหรับสินค้าที่วางขายในร้านก็คนละแนวกับร้านค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป สินค้าของ B8ta ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสตาร์ทอัพที่ผ่านการระดมทุนในเว็บไซต์ Kickstarter เช่น ลำโพงไวไฟ กล้องวงจรปิด จักรยานไฟฟ้า อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน หรือสินค้าไอเดียแหวกแนว อาทิ เครื่องปล่อยไหมขัดฟันที่จะปล่อยเส้นไหมออกมาตามความยาวที่ทันตแพทย์แนะนำและส่งสัญญาณไฟเตือนหากไม่ได้ใช้งานหลายวัน

นอร์บี มองว่า การนำแก็ดเจ็ทล้ำๆ จาก Kickstarter มาวางที่ร้านถือเป็นการให้โอกาสกับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้มีที่ยืน ในทางกลับกันสินค้าเหล่านี้ก็ช่วยสร้างสีสันให้กับ B8ta และเป็นการต่อลมหายใจให้กับร้านค้าปลีกในภาวะที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในยุคอีคอมเมิร์ซครองเมือง

สะดุดเพราะโควิด

ดูเหมือนว่าธุรกิจของนอร์บีต้องสะดุดลงเมื่อเขาเริ่มเปิดสาขา 2 แห่งในเท็กซัส แต่เขาไม่ได้เตรียมพร้อมกับสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นนั่นก็คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีก่อน ซึ่งทำให้ลูกค้าของเขาลดลงไปมาก อย่างสาขาหนึ่งในฮูสตันมีลูกค้าเข้าเพียง 40 คนในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. 2020 ขณะที่ช่วงก่อนหน้านั้นมีลูกค้ากว่า 1,000 คน เช่นเดียวกับสาขาในออสตินซึ่งมีลูกค้าลดลงราว 98%

ก่อนหน้านั้นในเดือนมี.ค. 2020 ช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด B8ta ประกาศว่าจะต้องปลดพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กร ขณะที่พนักงานที่เหลือจะถูดลดค่าจ้าง พร้อมกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคในร้านอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม นอร์บีหวังว่าบริษัทของเขาและร้านค้าปลีกอื่นๆ จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ "ผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีนะ แต่ทุกอย่างจะโอเค" นอร์บีกล่าว

ภาพโดย : B8ta