posttoday

เพราะเริ่มมีอำนาจมากเกินไปจึงเอาไว้ไม่ได้

24 มีนาคม 2564

จีนไล่เช็กบิลฟินเทค ยึดอำนาจคุมตลาดคืนจากมหาเศรษฐี สีจิ้นผิงเอาจริง ไล่จัดการบริษัทฟินเทคที่เพาะสร้างอิทธิพลจนกลายเป็นเจ้าตลาด

หม่าฮั่วเถิง หรือ โพนี่ หม่า เคยกล่าวไว้ว่า "ผู้นำของตลาดในวันนี้ อาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้นำในวันพรุ่งนี้"

คำกล่าวนี้หมายถึงการผู้นำตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงว่องไวจนใครที่ตามไม่ทันก็อาจจะหลุดจากตำแหน่งผู้นำเอาง่ายๆ 

แต่ในวันนี้คำกล่าวข้างต้นยังมีนัยด้วยว่าตัวเขาและบอสแห่งบริษัทเทคคนอื่นๆ ในจีนอาจต้องเสียตำแหน่ง "ผู้นำ" ในนอนาคตเอาง่ายๆ เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะตามเทรนด์ไม่ทัน แต่เพราะรัฐบาลกำลังจะเชือดพวกเขา

นับตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนก็เข้ามาควบคุมตรวจสอบยักษ์ใหญ่ด้านฟินเทคและดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างเข้มงวด หลังจากปล่อยให้บริษัทเหล่านี้โตวันโตคืน ไล่ตั้งแต่สั่งระงับการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่บุคคลทั่วไป (IPO) ของ Ant Group และการออกกฎควบคุมการปล่อยเงินกู้ยืมผ่านแพลตฟอร์ม ตามด้วยการตรวจสอบการผูกขาดทางการค้าใน Alibaba ของ แจ็ก หม่า ล่าสุด Tencent กำลังตกเป็นเป้าการไล่เช็กบิลของทางการแบบเดียวกัน

เกิดอะไรขึ้นกับเทคจีน?

แม้เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นหลังจาก แจ็ก หม่า วิพากษ์วิจารณ์ระบบธนาคารของทางการจีนว่าล้าหลัง แต่มาถึงตอนนี้ก็ไม่อาจโทษว่า แจ็ก หม่า เป็นต้นตอของการเคลื่อนไหวนี้แบบเต็มร้อย เพราะโพนี่ หม่า เจ้าของ Tencent ทำตัวโลว์โปรไฟล์มาตลอด และยังมีสัญญาณว่าการไล่เช็กบิลนี้จะลามไปถึงยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นด้วย

สัญญาณนี้ออกมาจากปากของ สีจิ้นผิง โดยตรง เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาผู้นำจีนเผยในที่ประชุมที่ปรึกษาด้านการเงินและคณะกรรมการประสานงานว่า ทางการจีนจะเข้าไปตรวจสอบบริษัทแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลของลูกค้าและมีอิทธิพลต่อตลาดเข้มงวดขึ้น

คำพูดนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าการเชือดธุรกิจอินเทอร์เน็ตเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และทางการเตรียมจะยกระดับการขจัดอิทธิพลของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีขึ้นไปอีก

เพราะคำว่า “บริษัทแพลตฟอร์ม” ที่สีจิ้นผิงใช้สามารถตีความครอบคลุมไปถึงผู้ยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นเรียกรถโดยสาร Didi Chuxing (ตีตีชูสิง) บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ Meituan (เหม่ยถวน) ไปจนถึงผู้นำอีคอมเมิร์ซอย่าง JD.com และ Pinduoduo (พินตัวตัว)

จุดมุ่งหมายของรัฐบาลจีนในขณะนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลแล้ว แต่เป็นการควบคุมบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่ทางการปล่อยให้เติบโตแบบไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมจนขยับขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในตลาดจนเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน และเกิดการะเมิดสิทธิ์ของลูกค้า

เพราะเริ่มมีอำนาจมากเกินไปจึงเอาไว้ไม่ได้

Alipay ของ Ant Group ขยับขยายจากการเป็นตัวแทนการชำระเงินไปสู่การบริหารจัดการทรัพย์สิน ประกันภัย และปล่อยเงินกู้ยืมซึ่งธุรกิจหลังนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่เข้มงวดเหมือนธนาคารปกติ และไม่ต้องใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน ทำให้ทางการจีนกังวลว่าลูกหนี้จะผิดนัดชำระหนี้จนนำมาสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนซ้ำเติมตัวเลขเมื่อปีที่แล้วที่หนี้ครัวเรือนจีนพุ่งสูงถึง 335% ของจีดีพี

Alibaba กับ Tencent ยังกลายเป็นเจ้าตลาดแพลตฟอร์มที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีนแทบจะทุกแง่มุม ตั้งแต่เป็นช่องทางพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัว โอนเงิน ช็อปปิ้งออนไลน์ ขอเงินกู้ เรียกรถโดยสารสาธารณะ ไปจนถึงเล่นเกม จึงถูกมองว่ามีอิทธิพลเกินไป

ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็ถูกกล่าวหาว่าเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งในปัจจุบันนี้กลายเป็นของมีค่าดั่งทองคำ หรือปฏิบัติกับลูกค้าแตกต่างกันตามลักษณะนิสัยการช้อปปิ้ง รวมทั้งใช้ระบบอัลกอริทึมตั้งราคาพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ และใช้แท็กติกจำกัดตัวเลือก ซึ่งผู้ขายรายเล็กถูกบังคับให้เลือกระหว่าง Alibaba กับอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ เช่น Pinduoduo ซึ่ง Tencent เป็นผู้ถือหุ้น

และที่เป็นที่กังขาของสังคมจีนคือ บรรดามหาเศรษฐีใช้อิทธิพลและแพลตฟอร์มของตัวเองช่วยปกปิดความผิดเพื่อนมหาเศรษฐีด้วยกัน

ชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าพ่อเทคโนโลยีสั่งลบแฮชแท็กที่เป็นเทรนด์ใน Weibo ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวของ เจี่ยงฝาน ประธานบริษัท Taobao และ Tmall ในเครือของ Alibaba ซึ่งนอกใจภรรยาไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับจางต้าอี้ อินฟลูเอนเซอร์คนดังที่ไลฟ์ขายสินค้าใน Taobao และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ruhnn บริษัทเอเจนซี่อินฟลูเอนเซอร์ที่ Alibaba หนุนหลัง

รัฐบาลจีนอาจมองเรื่องนี้ว่าตัวเองถูกลูบคม เพราะผู้ที่มีอำนาจสั่งลบหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตควรจะเป็นทางการมากกว่า

การลงดาบของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ทางการจีนจึงต้องขยับตัวเพื่อยึดเอาอำนาจในการควบคุมตลาดจากมหาเศรษฐีเหล่านี้กลับมาอยู่ในมือของรัฐบาล และทำให้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นและเติบโตภายในขอบเขตที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอนุญาตเท่านั้น

รัฐบาลพยายามกำหนดขอบเขตด้วยการออกกฎหมายควบคุมไซเบอร์ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อจำกัดการเข้าถึงดาต้าส่วนบุคคลของผู้ใช้โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและแอปต่างๆ ปรากฎว่าแอปต่างๆ มักเมินเฉยต่อข้อห้ามของรัฐบาล บริษัทใหญ่ๆ ทั้ง Tencent และ Baidu ต่างก็ถูกร้องเรียนเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัว และ WeChat และ Weibo ไปจนถึง Didi Chuxing ต่างเคยเก็บเกี่ยวดาต้าของผู้ใช้กันมาแล้ว

ในปี 2019 รัฐบาลจึงต้องร่างระเบียบใหม่ให้แอปต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสยิ่งขึ้น แต่แล้วก็ยังมีกรณีละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู็ใช้ โดยปีที่แล้ว Tencent และ ByteDance ถูกฟ้องร้องที่ศาลปักกิ่งในข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัว

แต่มันไม่ได้มีแค่ปัญหาเชิงเทคนิคเท่านั้น

เพราะอีกกระแสคาดการณ์หนึ่งในจีนคือ รัฐบาลเห็นว่าพวกเศรษฐีเริ่มจะท้าทายรัฐมากขึ้น เริ่มจากกรณีของเริ่นจื้อเฉียง อดีตไทนคูนอสังหาริมทรัพย์ที่มักจะเขียนโพสต์ใน Weibo วิจารณ์พรรคมาโดยตลอดแต่ยังไม่ถูกเล่นงาน จนกระทั่งเขาวิจารณ์สีจิ้นผิงเข้าให้จึงถูก "อุ้ม" เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว และเดือนกันยายนค่อยถูกตัดสินลงโทษ 18 ปีในข้อหาคอร์รัปชั่น

เรายังคาดการณ์ได้ด้วยว่าปฏิบัติการควบคุมเศรษฐีเป็นหนึ่งในเป้าหมายกุมอำนาจของสีจิ้นผิง ซึ่งเขาประสบความสำเร็จในการรวบอำนาจในพรรคและสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เขาดำรงตำแหน่งได้นานเท่าที่อำนาจในพรรคจะอำนวย 

เมื่อควบคุมฝ่ายการเมืองได้แล้ว ก็ถึงเวลาต้องเข้ามาคุมฝ่ายธุรกิจ แต่เขาไม่ได้ยื่นมือเข้ามาแบบทะเล่อทะล่า การกุมอำนาจทางการเมืองและสังคมของสีจิ้นผิงนั้นสอดคล้องกับการกระตุ้นหลักสังคมนิยมขึ้นมาใหม่และการตอกย้ำการปกครองแบบจีนที่เป็น "สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีน" ผสมผสานกับเป้าหมายใหม่ในการสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่เรียกว่า "ความฝันจีน"

นัยหนึ่งเป็นการทำให้สีจิ้นผิงมี "ทฤษฎีของตัวเอง" เหมือนผู้นำระดับ "Supreme leader" อย่างเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิงที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยทฤษฎีและเป้าหมายเฉพาะตัว

อีกนัยหนึ่งการชูหลักการสังคมนิยมขึ้นมาอีก เป็นการเบรกไม่ให้สังคมจีนกลายเป็นทุนนิยมแบบตะวันตกมากเกินไป เพราะมันจะทำให้สังคมจีนมีความเหลื่อมล้ำเกินไป นายทุนจะมีอำนาจมากเกินไป และเมื่อประชาชนเสพทุนนิยมตะวันตกมาเกินไป พวกเขาจะลืมค่านิยมแบบจีน และโหยหาระบอบใหม่จนเป็นอันตรายต่อการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์

เพราะเริ่มมีอำนาจมากเกินไปจึงเอาไว้ไม่ได้

กอปรกับช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจมีความเสี่ยงของการก่อหนี้และเงินเฟ้อ ในช่วงเวลาเดียวกันบริษัทเทคต่างๆ ดันมาออกผลิตภัณฑ์ฟินเทคกันอย่างสนุกสนาน แม้ฟินเทคพวกนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายการเข้าถึงเงินทุน แต่มันมีความเสี่ยงตามมาเช่นกัน

รัฐบาลจีนประกาศชัดแล้วว่าต้องโตด้วยและต้องไม่เสี่ยงด้วย การจะให้บริษัทเทคมาป่วนนโนยายการเงินย่อมไม่มีทาง 

ด้วยเหตุนี้บรรดานายทุนทั้งหลายจึงต้องถูกจัดระเบียบ บางคนที่เคยเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศยังถูกเรียกตัวมา "คุย" ซึ่งก็คือการเตือนนั่นเอง

อีกหนึ่งสาเหตุไม่ได้เกิดในจีน แต่เกิดขึ้นในสหรัฐ

จากการจลาจลบุกสภาคองเกรสในวันรอบรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ทำให้สหรัฐตระหนักถึงอิทธิพลของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีต่ออำนาจการเมือง แม้แต่มหาอำนาจอันดับ 1 ก็ยังถูกท้าทายแบบไม่เคยมีมาก่อนเพราะการกระตุ้นจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก (โดยทรัมป์ที่ทวีตข้อความปลุกระดมและการแพร่กระจายข่าวปลอม) 

จีนคงเห็นพลังมืดของบริษัทเทคที่ชี้นำชะตากรรมของระบอบการปกครองได้ จึงต้องปรามเจ้าสัวเทคในบ้านตัวเอง ซึ่งแต่เดิมนั้นการควบคุมโซเชียลมีเดียในจีนนั้นค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้วในแง่ของการเซนเซอร์ประเด็นล่อแหลมกับรัฐและสังคม แต่ประเด็นอื่นๆ ยังอยู่ในดุลพินิจิของบริษัทเทคต่างๆ ปรากฎว่าบริษัทเทคล้ำเส้นมาอยู่เนืองๆ 

แน่นอนว่าหลังกรณีแจ็ค หม่า หลังกรณีเจี่ยงฝาน และหลังกรณีเริ่นจื้อเฉียง รัฐจำเป็นต้องลงมาลดอำนาจเจ้าสัวพวกนี้ก่อนที่จะสายเกินไป 

โดย จารุณี นาคสกุล และ กรกิจ ดิษฐาน 

Photo by Noel CELIS / AFP