posttoday

ชนเผ่านาคาอดีตนักล่าหัวที่ปั่นป่วนอินเดียกับเมียนมา

24 กุมภาพันธ์ 2564

ชนเผ่านาคาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อินเดียไม่แสดงท่าทีชัดเจนกับการทำรัฐประหารในเมียนมา

ตอนนี้ในสายตาชาวเมียนมาส่วนใหญ่ จีนคือผู้สนุบสนุนการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมายิ่งซับซ้อนขึ้นอีกเมื่อหลายชนเผ่าในเมียนมาได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน หนึ่งในนั้นก็คือชนเผ่านาคาที่อยู่ติดกับพรมแดนอินเดีย ทำให้อินเดียซึ่งมีกรณีพิพาทกับจีน ยังนิ่งเฉยกับการทำรัฐประหารในเมียนมา

โพสต์ทูเดย์จะพาไปรู้จักชนเผ่านากาที่สร้างปัญหาให้เมียนมากับอินเดีย

ในเวลานี้มีกระแสต่อต้านจีนที่เพิ่มมากขึ้นในขบวนประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารในเมียนมาเพราะชาวเมียนมาเชื่อว่าจีนอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารหรืออย่างน้อยก็ช่วยเหลือกองทัพเมียนมา

แต่ก็มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจีนอาจให้ความช่วยเหลือกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต้องการอำนาจในการปกครองตนเองในเมียนมาและก่อเหตุปะทะอยู่เนืองๆ หนึ่งในนั้นคือ "สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์" (NSCN) ที่เคลื่อนไหวในอินเดียเป็นหลักและในเขตสะกายในเมียนมา และกลุ่ม NSCN (K) ที่เคลื่อนไหวในเมียนมาเป็นหลักและไม่ยอมที่จะเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ

มีการกล่าวหาว่าจีน (ซึ่งมีเรื่องขัดแย้งกับอินเดีย) ให้เงินทุนอาวุธและกระสุนแก่ NSCN ในการต่อสู้เพื่อเอกราชกับรัฐบาลอินเดีย แต่ในขณะเดียวกันก่อนหน้านี้กลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของอินเดียเพื่อบั่นทอนกำลังของกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนนาคาในอินเดียด้วยกันเอง

อินเดียพยายามเจรจาหยุดยิงกับนาคาและเมียนมาก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเมียนมาถือเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" ที่กลุ่มติดอาวุธมาหลบซ่อนเพื่อเคลื่อนไหว และถึงแม้ว่าอินเดียจะพยายามเจรจากับนาคาแต่เมื่อปี 2019 มีรายงานว่าผู้บัญชาการ NSCN-IM ที่มีชื่อเสียงระดับสูงบางคนหลบหนีไปยังมณฑลยูนนานของจีนเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน จีนจึงมีบทบาทมากเกี่ยวกับความมั่นคงในที่ชายแดนเมียนมาและอินเดีย

อาจเป็นสาเหตุนี้ที่ทำให้รัฐบาลอินเดียค่อนข้างเงียบเรื่องการทำรัฐประหารเมียนมา เพราะระยะหลังอินเดียร่วมมือกับกองทัพเมียนมาถี่ขึ้นและกองทัพเมียนมาใช้อาวุธของอินเดียมากขึ้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนสนับสนุนกลุ่มนาคา

ชนเผ่านาคาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย (รัฐนาคาแลนด์) ติดต่อกับตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา (เขตปกครองตนเองนาคา) มีประชากรรวมกันราว 2 ล้านคน และมีเผ่าย่อยๆ กว่า 40 เผ่า โดยในฝั่งเมียนมามีประมาณ 10 เผ่า

เดิมทีเผ่านาคาทั้งสองฝั่งไม่มีพรมแดนแยกจากกันชัดเจนจนกระทั่งราวปี 1971 ที่ทหารเข้ามาขีดเส้นแบ่งพรมแดนบนพื้นดิน แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังคิดว่าทั้งสองฝั่งต่างก็เป็นชาวนาคาเหมือนกัน บางคนยังใช้เงินรูปีของอินเดียซื้อข้าวของจากชาวนาคาฝั่งอินเดีย หรือส่งลูกหลานไปเรียนที่อินเดีย

ชนเผ่านี้ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม ในอดีตหากนักรบนากาทำสงครามกับศัตรูไม่ว่าจะเป็นชนเผ่านาคาต่างเผ่า ทหารอังกฤษ หรือทหารอินเดีย เพื่อปกป้องดิแดนของตัวเอง นักรบนาคาจะตัดหัวศัตรูแล้วใส่ตะกร้าที่เตรียมมาเพื่อนำกลับหมู่บ้าน เป็นเสมือนถ้วยรางวัลแห่งชัยชนะ

ศีรษะศัตรูเหล่านี้จะถูกนำมาประดับกำแพงและประตูบ้านของนักรบ ส่วนตัวนักรบเองจะได้รับการสักที่ใบหน้าและหน้าอกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำที่เป็นฮีโร่ โดยการสักนี้จะทำโดยภรรยาของหัวหน้าเผ่า

Wangnao อดีตนักรบชาวนาคาเผ่าคอนยัคในอินเดียเผยกับ National Geographic เมื่อปี 2015 ว่า การล่าศีรษะมนุษย์ไม่ใช่เพียงวิธีหนึ่งในการทำสงครามเท่านั้น แต่ตามความเชื่อเรื่องวิญญาณของชาวนากา ศีรษะมนุษย์มีพลังที่ช่วยให้พืชพรรณธัญญาหาร มังสาหาร และเผ่าพันธุ์อุดมสมบูรณ์

ชาวนาคาจะถ่ายถอดทักษะการใช้มีดตัดศีรษะด้ามยาวจากรุ่นสู่รุ่น และผู้ชายทุกคนจะมีปืนที่ทำกันเองติดตัว

Ngon Pok วัย 80 ปีเล่าเหตุการณ์ที่พ่อและปู่ของเขากลับบ้านมาพร้อมหัวมนุษย์อย่างภาคภูมิใจ พวกเขาแลกความเจ็บปวดกับรอยสักเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ เขาเล่าพร้อมโชว์รอยสักที่หน้าอกของเขา

เช่นเดียวกับภรรยาของเขาซึ่งเผยว่าเธอก็สักบริเวณแขน ขา และใบหน้า มันเจ็บแต่เธอบอกตัวเองว่าถ้าแม่และป้าของเธอทำได้เธอก็ต้องทำได้

Ku Myo วัย 35 ปีกล่าวว่าพ่อแม่ของเธอรู้สึกประทับใจไม่น้อยหลังจากที่เธอกลับบ้านเมื่ออายุ 15 ปีพร้อมกับรอยสักบนใบหน้า

การล่าศีรษะมนุษย์ดำเนินมาจนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่คณะมิสชันนารีจากอินเดียเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายแบ๊บติสต์ (ปัจจุบันชาวนาคาราว 95% นับถือศาสนาคริสต์) ชาวนาคาจึงเริ่มหยุดล่าศีรษะมนุษย์ และนำกะโกลกมนุษย์ที่ประดับไว้ในหมู่บ้านไปฝัง

ปัจจุบันนี้ แม้ว่าชาวนาคาจะไม่ได้ล่าศีรษะมนุษย์แล้ว แต่บางเผ่ายังมีเทศกาลที่ระลึกถึงประเพณีดังกล่าวอยู่ โดยจะขุดกะโหลกที่ฝังไว้ออกมาตั้งโชว์ และมีการถือปืนถือมีดเต้นรำ 

Pete Oxford ช่างภาพชาวอังกฤษเดินทางไปถ่ายรูปและพูดคุยกับชาวนาคาในนาคาแลนด์เขาเล่าว่า "ชาวนาคากลับบ้านพร้อมหัวมนุษย์อย่างน้อยหนึ่งหัวที่ได้จากศัตรูระหว่างการต่อสู้"

"พวกเขาไม่ใช่มนุษย์กินคน แต่หัวพวกนี้นำมาเพื่อแสดงชัยชนะ แสดงถึงความกล้าหาญของเขา นักล่ามีสิทธิ์ได้รอยสักบริเวณใบหน้าและหน้าอกเปรียบเสมือนตราเกียรติยศ"

"แม้ว่าการล่าหัวครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นช่วงปี 1980 แต่พวกเขายังใช้ชีวิตแบบชนเผ่าตามประเพณีดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย พกอาวุธ ใช้แรงงานควาย ต้มชาในกระบอกไม้ไผ่"

อย่างไรก็ตามเขายืนยันว่า "ชาวนาคาเป็นมิตรและไม่ได้ทำให้คนนอกรู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด"