posttoday

อังกฤษไฟเขียวทดลองให้คนติดโควิดเพื่องานวิจัย

18 กุมภาพันธ์ 2564

อังกฤษจ่อเริ่มโครงการวิจัย ขออาสาสมัคร 90 คนรับเชื้อไวรัสโคโรนา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรอนุมัติพร้อมสนับสนุนงบประมาณโครงการ Human Challenge Study ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำการทดลองนำอาสาสมัครมารับเชื้อไวรัสโคโรนาเพื่อศึกษาด้านต่างๆ เกี่ยวกับไวรัสโดยละเอียด

งานวิจัยดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าโดยอาสาสมัครจำนวน 90 คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จะเดินทางมายังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอนดอนเพื่อฉีดละอองไวรัสโคโรนาเข้าไปในจมูก โดยทีมวิจัยจะควบคุมปริมาณไวรัสและเฝ้าติดตามตั้งแต่วินาทีแรกที่รับเชื้อ โดยพวกเขาจะได้ค่าตอบแทนคนละ 4,500 ปอนด์ หรือประมาณ 187,000 บาท

เพื่อให้แน่ใจว่าอาสาสมัครจะไม่ป่วยหนักหรือมีอาการรุนแรง ทีมวิจัยจึงได้จำกัดเฉพาะอาสาสมัครในช่วงอายุ 18 ถึง 30 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น โดยพวกเขาจะต้องถูกแยกตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ

ศาสตราจารย์ปีเตอร์ โอเพนชอว์ จากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ซึ่งอยู่เบื้องหลังงานวิจัยนี้เผยว่าเราจะเรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส และไม่เพียงแต่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังเร่งการค้นพบวิธีการรักษาและวัคซีนใหม่ๆ ด้วย

ลอว์เรนซ์ ยัง ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากโรงเรียนแพทย์วอร์วิคกล่าวว่านี่เป็นวิธีที่ดีที่จะทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ของโฮสต์กับเชื้อโรค แม้ว่าจะมาพร้อมกับปัญหาทางจริยธรรมก็ตาม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังการทดลองมองว่าการทดลองดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขาสามารถศึกษาวิธีการรักษาใหม่ๆ ต่อไปได้

นักวิทยาศาสตร์หวังว่าหลังจากนี้จะสามารถนำอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าร่วมการทดลองด้วยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

โดยขณะนี้สวนเดียวของการศึกษาที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหราชอาณาจักรคือการทดลองเพื่อหาปริมาณของไวรัสที่ต่ำที่สุดที่สามารถแพร่ระบาดสู่มนุษย์

อย่างไรก็ตามข้อจำกัดด้านอายุและปริมาณของอาสาสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองอาจทำให้ผลการศึกษาไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอาการป่วยมาก่อน และยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินผลลัพธ์จากการทดลองอย่างไรเมื่อมีข้อจำกัดดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการทดลองที่ให้อาสาสมัครสัมผัสกับเชื้อที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรคและไทฟอยด์เพื่อทดสอบวัคซีน แต่โรคเหล่านั้นสามารถหายขาดได้ ขณะที่โรคโควิด-19 ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงของโรคในระยะยาว

Photo by Glyn KIRK / AFP