posttoday

โควิดยังไม่หาย ทะเลจีนใต้จะลุกเป็นไฟ

09 กุมภาพันธ์ 2564

เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ-เรือดำน้ำฝรั่งเศสโผล่ทะเลจีนใต้ อังกฤษก็กำลังจะเข้ามา ถามว่าทำไปเพื่ออะไร?

ในขณะที่ทุกสายตาจับจ้องไปที่การทำรัฐประหารที่เมียนมา ยังมีอีกหนึ่งฮ็อตสปอตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จู่ๆ ก็ทำท่าจะมีปัญหาขึ้นมา คือน่านน้ำทะเลจีนใต้

กองทัพเรือสหรัฐกล่าวเมื่อวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ว่าได้ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำคือกองเรือ Theodore Roosevelt Carrier Strike Group และกองเรือ Nimitz Carrier Strike Group ไปฝึกซ้อมปฏิบัติการทางทะเลที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ นับเป็นการฝึกซ้อมครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในน่านน้ำแห่งนี้

การฝึกซ้อมดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่จีนประณามการที่กองทัพสหรัฐส่งเรือพิฆาต USS John S. McCain เข้ามาใกล้หมู่เกาะพาราเซลที่จีนควบคุมอยู่ แต่สหรัฐไม่สนใจการอ้างสิทธิของจีนมากไปกว่าการเรียกร้องให้มีเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำทะเลจีนใต้

อย่างที่พลเรือตรี จิม เคิร์ก ผู้บัญชาการกองเรือ Nimitz Carrier Strike Group กล่าวในแถลงการณ์ว่า "เรามุ่งมั่นที่จะรับรองการใช้ทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ทุกประเทศพึงมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ"

แต่สหรัฐมาซ้อมอะไรแถวนี้? อีกประการหนึ่งกองเรือ Carrier strike group แต่ละกองมีทหารประจำการมากถึง 7,500 นาย มันจึงเป็นการซ้อมที่เหมือนการกระตุกหนวดพญามังกรกันชัดๆ

การส่งเรือพิฆาตและในที่สุดส่งกองเรือใหญ่มาสองกองถือภารกิจแรกของกองทัพเรือสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง ไบเดนเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเล่นงานจีนต่อไปด้วยวิธีการที่อยุ่กับร่องกับรอยมากกว่าทรัมป์

ดังนั้นภารกิจของกองทัพเรืองอเมริกันจึงถือเป็นภารกิจที่จะกระตุ้นให้การเผชิญหน้าได้ง่ายๆ และอาจทำให้ภูมิภาคนี้เสี่ยงที่จะเกิดการเผชิญหน้าขึ้น ฝ่ายที่เสี่ยงคือนานาประเทศในอาเซียน

อาเซียนต้องตกอยู่ระหว่าง 3 สถานการณ์ คือสถานะการเป็นคู่กรณีของจีนในการอ้างสิทธิ์เหนือน่านน้ำและหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้

สถานการณ์ที่สอง บางประเทศในอาเซียนต้องการให้สหรัฐเข้ามาถ่วงอำนาจจีน ตัวอย่างเช่น เวียดนามที่เดินหมากตาที่สุ่มเสี่ยงในการเข้าหาสหรัฐเพื่อปกป้องการคุกคามจากจีน (ขณะเดียวกันจีนใช้น้ำเย็นเข้าลูบด้วยการไปดีลทางเศรษฐกิจกับเวียดนามมาได้หลายดีล)

แต่ประการที่สาม ในขณะเดียวกันอาเซียนก็เสี่ยงที่จะย่อยยับหากปล่อยให้สหรัฐเข้ามาใช้ข้ออ้างเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือแล้วแอบแฝงเจตนาในการยั่วยุจีนจนกระทั่งถึงกับต้องเผชิญหน้ากัน

แต่ตอนนี้อาเซียนไม่ได้มีแค่สหรัฐที่จะขอเข้ามาช่วย "คานอำนาจ" เพราะยังมีฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย แม้แต่เยอรมนียังแสดงความกังวลเรื่องทะเลจีนใต้

เริ่มจากฝรั่งเศสก่อนเพราะวันเดียวกับที่สหรัฐส่งกองเรือใหญ่เข้ามาซ้อมโน่นซ้อมนี่ในทะเลจีนใต้ เรือดำน้ำพิฆาตพลังนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสคือเรือ SNA Emeraude มาพร้อมกับเรือสนับสนุน BSAM Seine ทำการลาดตระเวนผ่านทะเลจีนใต้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสเปิดเผยผ่านใน Twitter เมื่อค่ำวันจันทร์

ฟลอรองซ์ ปาร์ลี รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสบอกว่า "การลาดตระเวนพิเศษนี้เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินเรือในทะเลจีนใต้ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่เด่นชัดถึงขีดความสามารถของกองทัพเรือฝรั่งเศสของเราในการประจำการในระยะไกลและเป็นเวลานาน ร่วมกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (ของเรา) คือออสเตรเลีย สหรัฐ และญี่ปุ่น"

ถึงแม้จะบอกตรงๆ ว่าเพื่อโชว์ศักยภาพในฐานะพันธมิตรออสเตรเลีย สหรัฐ และญี่ปุ่น แต่ปาร์ลียังบอกด้วยว่า "ทำไมต้องเป็นภารกิจแบบนี้? ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของเราเกี่ยวกับพื้นที่นี้ และยืนยันว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎเดียวที่ถูกต้องไม่ว่าเราจะแล่นเรือไปในทะเลใดก็ตาม"

นี่คือข้ออ้างที่นานาประเทศมีร่วมกันคือการอ้างสิทธิในการแล่นเรือในน่านน้ำทะเลจีนใต้โดยไม่ต้องไปขอความเห็นชอบจากจีน เพราะพันธมิตรเหล่านี้มองว่าการอ้างสิทธิของจีนไม่ชอบธรรม แต่ก็เหมือนกับคำตอบของปาร์ลี (ที่ดูเหมือนจะร้อนตัว) ที่ว่า ""ทำไมต้องเป็นภารกิจแบบนี้?" เพราะต้องมีคำถามแน่ๆ อยู่แล้วว่ากองเรือฝรั่งเศสไปป้วนเปี้ยนอะไรแถวนั้น?

มหาอำนาจตะวันตกในเวลานี้ดูเหมือนจะมองจีนเป็นภัยคุกคามกันหมด แต่ถ้ามองแค่นี้ก็คงไม่พอ เพราะเมื่อดูไปที่การกำหนดอุดมการณ์ของประเทศเหล่านี้จะพบว่าบางประเทศพยายามดันตัวเองให้มีบทบาทสำคัญในฐานะมหาอำนาจโลกอีกครั้ง และการเป็นมหาอำนาจฝ่าย "พระเอก" จำเป็นจะต้องมีการสร้าง "ตัวร้าย" เพื่อเสริมบารมี

ประเทศที่น่าจะเข้าข่ายนี้ก็คือเพื่อนบ้านของฝรั่งเศสคือสหราชอาณาจักร ซึ่งตั้งเป้าที่จะเป็น Global Britain (บริเทนที่หลุดจากพันธะของสหภาพยุโรปและแข็งแกร่งด้วยการสยายปีกไปทั่วโลก)

เว็บไซต์ของรัฐบาลบริเทนอธิบายแนวคิดไว้ว่า "Global Britain คือการลงทุนในความสัมพันธ์ของเรา (กับนานาประเทศ) อีกครั้งโดยสนับสนุนกฎระเบียบระหว่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรเปิดกว้างมองออกไปข้างนอกและมีความมั่นใจในเวทีโลก"

ประโยคที่ว่า "สนับสนุนกฎระเบียบระหว่างประเทศ" คล้องจองกันอย่างดีกับคำกล่าวของรัฐมนตรีฝรั่งเศสที่ "ยืนยันว่ากฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎเดียวที่ถูกต้อง" และเหมือนกับคำพูดของผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐว่า "การใช้ทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ทุกประเทศพึง" ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับแนวคิดของโจ ไบเดน ที่จะเล่นงานจีนให้อยู่ในกรอบของกติกาสากล

สิ่งที่เป็นรูปธรรมของ Global Britain ในตอนนี้คือการที่สหราชอาณาจักรจะร่วมมือกับสหรัฐในการฟอร์มกองเรือให้เป็นกองเรือพิฆาตร่วม (joint carrier strike group) ภายในปีนี้

หกองเรือพิฆาตร่วมบริเทน-สหรัฐ จะนำโดยเรือรบ HMS Queen Elizabeth ของบริเทนและประกอบด้วยเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke ของกองทัพเรือสหรัฐที่ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี พร้อมเครื่องบินรบ F-35B JSF ของนาวิกโยธินสหรัฐ

แล้วก็เป็นไปตามคาดเมื่อเดือนมกราคม สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะส่งเรือ HMS Queen Elizabeth เข้ามาปฏิบัติการในแปซิฟิกซึ่งรวมถึงน่านน้ำทะลจีนใต้ในฐานะปฏิบัติการแรก

เช่นเดียวกับกรณีของเรือดำน้ำของฝรั่งเศสที่ก่อให้เกิดคำถามว่า "ทำไมต้องเป็นภารกิจแบบนี้?" ก่อนที่จะได้คำตอบโฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน ถานเข่อเฟย บอกว่า "ฝ่ายจีนเชื่อว่าทะเลจีนใต้ไม่ควรเป็นทะเลแห่งการแข่งขันกันด้วยอาวุธและเรือรบ"

ถานเข่อเฟยยังบอกว่า มูลเหตุแห่งการทำให้น่านน้ำทะเลจีนใต้กลายเป็นพื้นที่สั่งสมกำลังการทหาร (militarisation) ที่แท้จริงมาจากประเทศอื่นๆ

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว หวางอี้รัฐมนตรีต่างประเทศจีนก็กล่าวแบบเดียวกันเป๊ะเพียงแต่เอ่ยชื่อประเทศชัดว่า สหรัฐคือตัวการที่ทำให้ทะเลจีนใต้เกิดการสั่งสมกำลังทางทหาร

ดูเหมือนว่าจีนจะโยนความผิดให้ประเทศอื่นเสียอย่างนั้น เพราะจีนเองก็มีส่วนไม่น้อยเลยที่ทำให้ทะเลจีนใต้ถูก militarisation จนเกินเหตุ และหมู่เกาะต่างๆ หรือแม้แต่เนินทรายยังกลายเป็นป้อมปืน

การจัดซื้ออาวุธขนานใหญ่ของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะเวียดนาม) ก็ล้วนแต่เป็นผลมาจากการปักหมุดในทะเลจีนใต้ของประเทศจีน

ถามว่าประชาคมอาเซียนต้องการให้เกิดการ militarisation ที่ประตูบ้านของตัวเองหรือไม่? ตอบว่าไม่ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เสริมกำลังทางทหารอย่างหนักหน่วงในช่วงไม่กี่ที่ผ่านมา งบประมาณกลาโหมของเวียนามเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มันจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024

ระหว่างปี 2014 - 2018 เวียดนามยังเป็นผู้สั่งซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก

เมื่อปีที่แล้วหวางอี้กล่าวในแถลงการณ์ที่โพสต์บนเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศว่า “สันติภาพและเสถียรภาพเป็นผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังเป็นปณิธานเชิงกลยุทธ์ร่วมกันของจีนและประเทศในอาเซียนด้วย”

หากเชื่อตามนี้เวียดนามคงไม่ซื้ออาวุธราวกับโปรยเงินทิ้งเล่น

นักวิชาการบางคนเช่น Cheng-Chwee Kuik ชี้ว่าตอนนี้จีนไม่ได้โอ๋อาเซียนอีกแล้ว จีนหันมาใช้แนวทางที่แข็งกร้าวมากขึ้น ในระยะหลังจะเห็นได้ว่าจีนมีท่าทีแข็งกร้าวอย่างเห็นได้ชัดมากๆ ต่อการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ในทะเลจีนใต้ (เช่นขีปนาวุธ) การแสดงความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ทั้งแถบด้วยการเตือนบ่อยๆ เมื่อมีเรือรบของต่างชาติแล่นผ่านเข้ามา

นักวิชาการ Cheng-Chwee Kuik จึงตั้งคำถามว่า "เราจึงสงสัยว่าทำไมจีนถึงแปรเปลี่ยนท่าทีในเชิงรุกมากขึ้นแม้ว่าก่อนหน้านี้จะใช้วิธีโอ้โลมปฏิโลมกับอาเซียน" คำตอบสั้นๆ ก็คือ จีนต้องการจะแสดงให้สหรัฐและประเทศที่อ่อนแอกว่าที่คิดจะไปขอแรงสหรัฐได้เห็นว่าจีน "เอาจริง"

กับสหรัฐเราคงไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าจีนยังจะเอาจริงกับประเทศที่อ่อนแอกว่าด้วย เสถียรภาพของอาเซียนก็คงมีปัญหาแล้ว อย่างไรก็ตาม นี่เป็นความเห็นของนักวิชาการเพียงคนเดียวเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ ทุกฝ่ายมีส่วนทำให้เกิดการสั่งสมกำลังทหารและทำให้ทะเลจีนใต้เป็นลานสวนสนาม

สิ่งที่อาเซียนกำลังเจอในตอนนี้ คือจีนที่ใช้ทั้งไม้อ่อน (พยายามโน้มน้าวให้อาเซียนเชื่อว่าจะช่วยร่างระเบียบการใช้ทะเลจีนใต้ร่วมกันซึ่งไม่เสร็จเสียที) และยังใช้ไม้แข็ง (ด้วยการเสริมกำลังทหารและใช้วาทะที่แแข็งกร้าวเมื่อพูดถึงการอ้างสิทธิในน่านน้ำ)

อาเซียนยังต้องเจอกับประเทศนอกวงที่อยากจะเข้ามาเอี่ยว เช่น สหรัฐ แต่ในกรณีของสหรัฐนั้นยังพอเข้าใจได้ในเมื่อสหรัฐมีอิทธิพลในแปซิฟิกมานานและมีความสัมพันธ์ทางทหารในอาเซียนอยู่บางประเทศ

แต่ที่เข้าใจได้ยากคือ ฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรจะเข้ามาทำให้สถานการณ์ยุ่งยากขึ้นอีกทำไม หากไม่ใช่เพราะต้องการยกตัวเองให้มีอิทธิพลในเวทีโลกมากขึ้นโดยใช้อาเซียนเป็นเบี้ยเป็นหมาก

จีนนั้นมองสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสด้วยสายตาที่รังเกียจและดูแคลน บทความใน Global Times สื่อของทางการจีนบอกว่า "สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเข้ามาเบียดในอ้อมแขนของสหรัฐเพื่อขอความอบอุ่น สองประเทศในยุโรปรู้ดีว่ากำลังทหารของตนไม่เพียงพอสำหรับความทะเยอทะยานในระดับโลก ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการขยายอิทธิพลโดยการยืมกำลังจากวอชิงตัน"

สหราชอาณาจักรนั้นทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมมหาศาล แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าประเทศนี้ได้รับผลกระทบจากโคงิด-19 หนักหน่วงที่สุดประเทศหนึ่ง รวมถึงสหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี เรียกได้ว่าประเทศตะวันตกที่ "เป็นห่วง" ทะเลจีนใต้ ยังแก้ปัญหาในบ้านตัวเองไม่เรียบร้อย

ถามว่าแล้วรัสเซียหายไปไหนในความขัดแย้งนี้?

รัสเซียต่างหากที่เข้าตำรา "นิ่งเสียตำลึงทอง" (แต่ไม่ถึงกับเป็น "ตาอยู่") เพราะได้รับประโยชน์อย่างจังจากความขัดแย้งนี้ เช่น เวียดนามที่สั่งซื้ออาวุธจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก แม้แต่เมียนมาซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทะเลจีนใต้ ก็สั่งอาวุธรัสเซียเข้ามาก ดังมีผู้สังเกตเห็นหลังการทำรัฐประหารว่ายุทโธปกรณ์ของกองทัพเมียนมาเป็นของรัสเซีย และคาดว่าซื้อของรัสเซียมาเป็นการถ่วงดุลกับจีน

เพราะจีนถูกจับตาว่าอาจได้รับประโยชน์จากการัฐประหารที่เมียนมา แต่ชาติตะวันตกเสียหายมหาศาลจากการนี้ 

โดย กรกิจ ดิษฐาน

AFP PHOTO/Republic of Singapore Navy