posttoday

เตือนอาศัยในเมืองที่มลพิษทางอากาศสูงเสี่ยงตาบอด

26 มกราคม 2564

การอาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงเพิ่มความเสี่ยงจอประสาทตาเลื่อมจนนำมาสู่การตาบอด 

ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยชาวอังกฤษซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์จักษุวิทยาของอังกฤษพบว่า ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่มากขึ้นมีความสัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (AMD) จนนำมาสู่การสูยเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้นถึง 8%

นักวิจัยศึกษาอาสาสมัครอายุระหว่าง 40-69 ปี จำนวน 15,954 คน ซึ่งขณะเริ่มวิจัยแต่ละคนไม่มีปัญหาด้านสายตา โดยติดตามภาวะจอประสาทตาเสื่อมของแต่ละคน แล้วนำผลการติดตามมาเปรียบเทียบกับระดับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่แต่ละคนอาศัยอยู่

การวิจัยครั้งนี้อาศัยข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวกับยีนและข้อมูลสุขภาพของอาสาสมัคร รวมทั้งค่าประมาณของระดับมลพิษทางอากาศโดยเฉลี่ยต่อปีตามที่อยู่อาศัยของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากท่อไอเสียรถยนต์

นักวิจัยพบว่า มีอาสาสมัครเพียง 1,286 คน หรือ 1% เท่านั้นที่มีอาการจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ แต่หากนำปัจจัยด้านการใช้ชีวิตและโรคที่เป็นอยู่เดิมมาพิจารณา กลับพบว่าอาสาสมัครที่ได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในปริมาณที่เข้มข้น มีโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุพิ่มขึ้นถึง 8%

นอกจากนี้ ยังพบว่าการสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 และมลพิษอื่นๆ ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจอประสาทตาของอาสาสมัครด้วย

อย่างไรก็ดี ทางทีมระบุว่าการศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามลพิษทำให้สูญเสียการมองเห็น

ทว่าผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งระบุว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศมากๆ อาจทำให้จอประสาทตาอ่อนแอซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

คริส  อิงเกิลเฮิร์น จักษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของอังกฤษซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยล่าสุดนี้ระบุว่า แม้ว่าผลการวิจัยจะไม่ได้พิสูจน์ว่ามลพิษทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุโดยตรง แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าการศึกษาทั้งสองซึ่งต่างคนต่างวิจัยนี้ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าการเชื่อมโยงที่งานวิจัยสรุปนั้นเป็นเรื่องจริง