posttoday

จะเกิดอะไรขึ้นหากจลาจลทำให้สหรัฐไม่เหลือผู้นำประเทศ?

14 มกราคม 2564

สถานการณ์สมมติที่เริ่มจะใกล้เคียงความจริงเข้าไปทุกที สหรัฐมีวิธีการเตรียมรับวิกฤติแบบนั้นอย่างไร?

หลังจลาจลที่สภาคองเกรส พวกหัวรุนแรงที่สนับสนุนทรัมป์ก็ยังไม่ยอมรามือง่ายๆ โดยสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) เตือนว่า กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมรวมตัวประท้วงอีกครั้งพร้อมอาวุธที่ศาลาว่าการของแต่ละรัฐทั้ง 50 แห่งและที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนและระหว่างที่ โจ ไบเดน จะทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

ทำให้ทางการสหรัฐต้องมีคำสั่งเพิ่มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยทั้งรัฐบาลกลาง ทางการแต่ละรัฐและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต่างเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ความรุนแรง แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์อนุมัติการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังจากที่หลายฝ่ายเตือนถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดนในวันที่ 20 มกราคมนี้

แต่ทรัมป์จะไม่ไปร่วมงานนี้ มีแต่ไมค์ เพนซ์รองประธานาธิบดีเท่านั้น ทำให้มีกระแสวิตกว่าการที่ทรัมป์เลี่ยงจะไปร่วมงานอาจเป็นเพราะเขาวางแผนปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงหรือไม่เพื่อที่เขาจะรอดจากการถูกลูกหลงไหด้วย

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราจึงควรทำความเข้าใจกับกลไกการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเอาไว้ก่อนหากเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น พวกเขามีวิธีการรับมืออย่างไร และใครจะขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศหากบรรดาผู้นำที่ไปชุมนุมกันไม่สามารถทำหน้าที่ได้ด้วยเหตุสุดวิสัย (เช่น ถูกจับเป็นตัวประกันหรือถูกลอบสังหารทั้งหมด)

สหรัฐคิดถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดละออ จึงมีการวางตัว "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" (Designated survivor) หรือผู้ถูกกำหนดให้สืบทอดตำแหน่งต่อ ในกรณีที่ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภา และคณะรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด รวมถึงสมาชิกสภาไปร่วมงานพิธีในสถานที่เดียวกันและเกิดเหตุมไม่คาดฝันขึ้นจนคนเหล่านี้ไม่สามารถบริหารประเทศได้อีก

งานที่จะมีนักการเมืองระดับนำไปร่วมงานกันในคราวเดียวคืองานสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีและการกล่างสุนทรพจน์ประจำปีของประธานาธิบดีสหรัฐต่อสภาคองเกรส

การวางตัว "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นซึ่งโลกเผชิญกับภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ ในเวลานั้นหากจู่ๆ ประเทศศัตรูยิงนิวเคลียร์ถล่มสหรัฐในช่วงที่ทำพิธีอยู่ สหรัฐจะกลายเป็นอัมพาตทางการเมืองทันทีเพราะไม่มีใครที่จะสั่งการอะไรได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีสหรัฐดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้สั่งการให้กดยิงหัวรบนิวเคลียร์ด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดตัวแทนของประธานาธิบดีให้ชัดเจนเพื่อรับมือในกรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตกระทันหัน

ตามกฎหมายแล้วสหรัฐได้กำหนดลำดับชั้นของการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีเอาไว้ เรียกว่ากฎหมาย Presidential Succession Act of 1947 โดยกำหนดผู้สืบทอดประธานาธิบดีเอาโดนเริ่มต้นจากรองประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร รักษาการประธานวุฒิสภา รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลโดยเริ่มจากกระทรวงหลักๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ตามด้วยอัยการสูงสุด และตามด้วยกระทรวงระดับรองลงมา

อนึ่ง ใรกรณียกเว้นคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หากจะต้องขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องลาออกจากฝ่ายนิติบัญญัติเสียก่อน เพื่อรักษาหลักการการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจให้เกิดความโปร่งใส

การกำหนดลำดับขั้นการสืบทอดตำแหน่งอาจดูวุ่นวายในสายตาประเทศอื่น แต่มันเป็นระบบที่มีไว้เพื่อรักษาความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยของผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศต่อไปในกรณีทีเกิดเรื่องไม่คาดคิด เช่น ในสมัยของประธานาธิบริชาร์ด นิกสัน มีการสืบทอดตำแหน่งที่ไม่ได้อิงกับกฎหมายปี 1947 แต่อิงกับ 25th Amendment หรือ บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 25

สมัยนิกสันมีรองประธานาธิบดีคือ สปิโร แอกนิว ต่อมาแอกนิวลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากพัวพันเรื่องอื้อฉาว คนที่ขึ้นมารับตำแหน่งแทนคือหัวหน้าพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรชื่อว่า เจอร์รัล ฟอร์ด ต่อมานอิกสันต้องลาอกอีกเพราะเรื้ออื้อฉาว ทำให้ฟอร์ดรับตำแหน่งประธานาธิบดีตามลำดับขั้นแบบฟลุ๊คๆ

จะเห็นว่าระบบนี้ไม่ใช่ระบบกระต่ายตื่นตูม แต่มันพิสูจน์แล้วว่ามีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงจริงๆ หนึ่งในเรื่องคาดไม่ถึงในตอนนี้ก็คือ ใครจะไปเชื่อว่าม็อบจะบุกคองเกรส

ในกรณีที่ผู้สืบทอดตำแหน่งตามกฎหมายซึ่งมีทั้งหมด 18 คนไปอยู่พร้อมหน้ากันที่ใดที่หนึ่ง พวกเขาจะกลายเป็นเป้าในการถูกกำจัดได้ง่ายหากศัตรูต้องการจะทำลายเสถียรภาพของสหรัฐ เพื่อแก้ปัญหานี้ "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" จึงเกิดขึ้นมาตอบรับกับกฎหมายการสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี

กระบวนการคัดเลือก "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" จะคัดมาจากรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีโดยในตอนแรกจะมีการกำหนดไว้เพียงคนเดียว แต่หลังจากปี 2016 หรือหลังจากทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีมีการกำหนดไว้ 2 คน (อย่างไรก็ตามสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็กำหนดไว้สองคนเช่นกัน)

บุคคลที่คัดสรรมาส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงระดับรอง เช่น กระทรวงกิจการภายในประเทศหรือกระทรวงเกษตร หรือรักษาการประธานวุฒิสภา คนที่ถูกกำหนดตัวไว้จะถูกพาตัวไปอยู่ที่เซฟเฮาส์ในขณะที่คนอื่นๆ ไปร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า คนที่ถูกกันตัวไว้จะอยู่พร้อมกับกระเป๋าบรีฟเคสสำหรับเข้ารหัสสั่งการยิงขีปนาวุธนิวคเลียร์ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงถือไว้ติดตามตัวผู็นำสหรัฐอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า Nuclear football

"ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" มีจุดเริ่มต้นจากความกลัวว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐทั้งหมดจะตายไปหมดหากศัตรูถล่มด้วยนิวเคลียร์ และในช่วงของจอร์จ ดับเบิลยู บุชมีการกำหนดตัวแทนไว้ถึง 2 คนซึ่งเป็นช่วงสงครามต่อต้านการก่อารร้าย แต่ในเวลานี้ความกลัวเรื่องสงครามนิวเคลียร์แทบไม่มีแล้ว แต่ภัยคุกคามมาจากสหรัฐแทนนั่นคือกลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงที่สนับสนุนโดยทรัมป์และทรัมป์ยังปลุกระดมคนเหล่านี้ด้วย

หลังเกิดเรื่องไม่คาดฝันที่สภาคองเกรสซึ่งสมาชิกสภาและรองประธานาธิบดีต้องหนีตายจากการคุกคามของสาวกทรัมป์ (ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการหนีตายเพราะข้อมูลบางแห่งระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบางคนมุ่งเอาชีวิตนักการเมืองในสภา) ความที่ทรัมป์เป็นเหตุให้เกิดเรื่องนี้ จึงมีการเรียกร้องให้ถอดถอนทรัมป์และสั่งให้ปิดปากทรัมป์ไม่ให้ปลุกระดมไปเลยโดยชี้ว่าทรัมป์มีสถานะเป็น Clear and present danger

Clear and present danger หรือ "อันตรายที่ชัดเจนและเฉพาะหน้า" เป็นกลักการของกระบวนการตุลาการสหรัฐที่ศาลมีอำนาจพิจารณาระดับสิทธิขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ได้ซึ่งว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือเสรีภาพในการชุมนุม หากศาลเห็นว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอันตรายที่ชัดเจนและเฉพาะหน้าต่อความมั่นคงของชาติ

อันตรายเฉพาะหน้าของทรุัมป์ก็คือเขาอาจปลุกระดมผู้สนับสนุนให้ก่อเหตุอีก หรืออาจใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดีสั่งการเรื่องที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และจะต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดีสหรัฐเป็นผู้สั่งการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา

ตอนนี้ทรัมป์และสาวกของทรัมป์จึงเป็น "อันตรายที่ชัดเจนและเฉพาะหน้า" ของประเทศ ในช่วงไม่กี่วันหลังเหตุที่คองเกรสจึงมีการผลักดันให้ถอดถอนทรัมป์ด้วยกระบวนการของสภาคองเกรสและไมค์ เพนซ์ในฐานะรองประธานาธิบดียังมีอำนาจตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 25 หรือ 25th Amendment ซึ่งให้อำนาจรองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีในการโหวตถอดถอนประธานาธิบดีเนื่องจากประธานาธิบดีไม่มีความสามารถในการใช้อำนาจและทำหน้าที่ในตำแหน่งได้อีก

หลังจากนั้นไม่นานทรัมป์ก็มีอาการเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น เช่น ประณามม็อบที่บุกถล่มคองเกรส (ตามคำยั่วยุของเขา) สั่งให้ทำเนียบขาวลดธงครึ่งเสาไว้อาลัยตำรวจคสภาที่เสียชีวิตในเหตุจลาจล และยังสั่งให้ใช้มาตรการฉุกเฉินในเมืองหลวงหลังมีเบาะแสว่าพวกหัวรุนแรง (ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะเขาอีกนั่นเอง) วางแผนก่อเหตุในวันสาบานตนรับตำแหน่งของโจ ไบเดน

แต่พวกหัวรุนแรงก็ยังเคลื่อนไหวกันต่อไป แม้ว่าพิธีสาบานตนของไบเดนจะจัดผ่าไปได้โดยไม่มีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" แต่สังคมอเมริกันแตกแยกอย่างหนักไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่แค่ความเห็นต่างทางการเมืองแบบสมัยก่อน แต่เป็นการเผชิญหน้ากันด้วยกำลัง

ความกลัวว่าจะเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝันจะยังสื่อออกมาในรูปขอแงสื่อบันเทิงและวรรณกรรม เช่น ซีรีส์เรื่อง Designated Survivor (ปี 2016 - 2019) ที่มีพล็อตเรื่องเป็นเหตุสมมติเมื่อประธานาธิบดีกับคณะรัฐบาลทั้งหมดไปแถลงต่อสภาครั้งแรกแล้วคองเกรสถูกวินาศกรรมจนคนในนั้นตายเกือบหมด เหลือแต่ "ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต" ที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเคหะและพัฒนาเมืองซึ่งเป็นกระทรวงจิ๊บจ๊อยเท่านั้นที่ยังรอด รัฐมนตรีโลว์โพร์ไฟล์จึงต้องรับบทหนักด้วยการเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลกแบบไม่คาดฝัน

วรรณกรรมอีกเรื่องที่มีพล็อตคล้ายๆ กันคือ The Handmaid's Tale เล่าถึงเหตุการณ์วินาศกรรมของกลุ่มหัวรุนแรงที่สังหารประธานาธิบดีสหรัฐกับคนในสภาคองเกรสทั้งหมด จากนั้นยึดอำนาจเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบเผด็จการทหาร กำหนดค่านิยมใหม่เป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว

น่าขนลุกที่ตัวร้ายในเรื่อง The Handmaid's Tale มีค่านิยมอนุรักษ์นิยมสุดโต่งคล้ายๆ กับกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์และบุกเข้าไปในคองเกรสเมื่อเร็วๆ นี้

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by SAUL LOEB / AFP