posttoday

แฉปมรถไฟมาเลย์-สิงคโปร์สะดุดเพราะคอร์รัปชัน?

08 มกราคม 2564

หลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสและต้องการคำอธิบายจากรัฐบาลหลังยกเลิกโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์

หลังจากที่ข้อตกลงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ (Kuala Lumpur-Singapore high-speed rail - HSR) ที่มาเลเซียและสิงคโปร์ร่วมลงนามในปี 2559 ถูกยกเลิกลงอย่างเป็นทางการ

โดยทั้งสองฝ่ายออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าทั้งสองไม่สามารถบรรลุข้อตกลงโครงการนี้ได้หลังจากที่มาเลเซียต้องการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงโดยให้เหตุผลเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

ล่าสุดเดอะสเตรตส์ไทมส์รายงานว่าการยกเลิกรถไฟฟ้าความเร็วสูงครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาโครงการรถไฟในมาเลเซียเท่านั้น โดยนับตั้งแต่รัฐบาลพรรคพันธมิตรแห่งชาติ (PN) เข้ามาอำนาจได้ 10 เดือน เส้นทางอื่นๆ อีกอย่างน้อย 2 เส้นทางที่พาดผ่านเขตเมืองใหญ่ของกัวลาลัมเปอร์ก็กำลังเผชิญกับการแทรกแซงของรัฐบาลในการคัดเลือกผู้รับเหมา

การแทรกแซงของรัฐบาลนำไปสู่การเรียกร้องจากหลายฝ่ายทั้งพรรคฝ่ายค้านและประชาชนโดยเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างโปร่งใสมากกว่านี้

โดยนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำในการลงนามข้อตกลง HSR เมื่อปี 2559 กล่าวหาว่ารัฐบาล PN ไม่เห็นด้วยกับโมเดล AssetsCo เนื่องจากเป็นโมเดลที่ทำให้พวกเขาไม่มีอิสระที่จะมอบโครงการให้ใครก็ได้ตามอำเภอใจ

ทั้งนี้ โมเดล AssetsCo คือโมเดลภายใต้ข้อตกลง HSR จะต้องได้รับการแต่งตั้งผ่านการประกวดราคาระหว่างประเทศที่เปิดเผยและโปร่งใสเพื่อรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาระบบและผู้ให้บริการเครือข่าย

ยิ่งทำให้หลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใสและต้องการคำอธิบายจากรัฐบาลหลังยกเลิกโครงการ HSR

ทั้งนี้ โครการดังกล่าวถูกระงับมาตั้งแต่ปี 2561 หลังอดีตนายกรัฐมนตรีราซัคพ้นจากตำแหน่ง และรัฐบาลใหม่เข้ามามีบทบาทบริหารต่อ

โดยศาสตราจารย์เย่ กิม เล้ง นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซันเวย์กล่าวว่าหากทุกอย่างถูกปกปิดเป็นความลับจะยิ่งส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และยิ่งทำให้ประชาชนเชื่อว่ารัฐบาลมีบางอย่างที่ต้องปกปิด

ด้าน ลิม กวน อิงก์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาเลเซียเรียกร้องให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของมาเลเซีย (MACC) ทำหน้าที่ "อย่างมืออาชีพและเป็นอิสระ" เพื่อตรวจสอบการยกเลิกโครงการดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกระบวนการประกวดราคาระหว่างประเทศ

ขณะที่ดาโต๊ะสรี มุสตาฟา โมฮัมมัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศแย้งว่า AssetsCo จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่รัฐบาลจะสามารถจ่ายได้

พร้อมเสริมว่ารัฐบาลจะทำการศึกษาโดยละเอียดเพื่อสำรวจทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด รวมถึงความเป็นไปได้ของโครงการ HSR ในประเทศและผลประโยชน์ต่อชาวมาเลเซีย

โดยเขาให้เหตุผลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เงื่อนไขเดิมของโครงการ HSR ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องลดต้นทุนสำหรับโครงการใหญ่หลายโครงการรวมถึง HSR

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงดังล่าวมีระยะทาง 350 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในมาเลเซีย 335 กิโลเมตร และในสิงคโปร์ 15 กิโลเมตร โดยมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2569

ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยย่นเวลาการเดินทางระหว่างกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์เหลือเพียง 90 นาทีเท่านั้น ขณะที่การเดินทางโดยรถยนต์ต้องใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง