posttoday

อาลีบาบาผูกขาดตลาดต้องโทษรัฐบาลจีน

24 ธันวาคม 2563

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กชี้ว่า รัฐบาลจีนเองเป็นต้นเหตุและสนับสนุนให้เกิดการผูกขาดของอาลีบาบา

วันนี้ (24 ธ.ค.) ทางการจีนประกาศว่าจะเดินหน้าสอบสวนอาลีบาบาในข้อหาผูกขาดทางการค้า และธนาคารกลางของจีน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านการธนาคารจะเรียกแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาลีบาบาเข้าชี้แจง คำสั่งฟ้าผ่านี้ส่งผลให้หุ้นของอาลีบาบาร่วงถึง 8.6% ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน

บลูมเบิร์กระบุว่า การก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของอาลีบาบาเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลทั้งการปกป้องและการเอาอกเอาใจภาคธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ ผู้นำจีนงัดทั้งการเซ็นเซอร์ การจำกัดการเป็นเจ้าของกิจการของชาวต่างชาติ และข้อจำกัดอื่นๆ มาสกัดบรรดาคู่แข่งจากต่างชาติ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไป่ตู้ (Baidu) อาลีบาบา (Alibaba)  และเท็นเซนต์ (Tencent) หรือที่รู้จักกันในนาม BAT ถูกมองว่าเป็นตัวอย่างนวัตกรรมและความทันสมัยของจีน และการที่รัฐบาลจีนไม่ได้เอาอะไรไปจากผู้ก่อตั้งบริษัทเหล่านี้ที่สร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยมือเปล่า บวกกับการที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล แอมะซอน และเฟซบุ๊ค ก็ทำให้ BAT ได้เกราะป้องกันชั้นดี

การผ่อนผันจากรัฐบาลในช่วงที่บริษัทกำลังตั้งไข่ได้ฟูมฟักให้อาลีบาบาผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในภายหลัง โดยรัฐบาลจีนเป็นผู้เปิดไฟเขียวและสนับสนุนให้การผูกขาดเกิดขึ้น

แต่ตอนนี้อาณาจักรอาลีบาบาใหญ่โตเกินไป และรัฐบาลจีนก็ต้องการเด็ดปีกยักษ์ใหญ่ตนนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมาย

การเสนอขายหุ้นแก่สาธารณชนครั้งแรก (IPO) เมื่อเดือน พ.ย.ของแอนท์ กรุ๊ป ซึ่งจะเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของโลกหากสำเร็จ ถูกสั่งระงับกะทันหันในนาทีสุดท้าย หลังจากที่ แจ็ก หม่า วิจารณ์ระบบการธนาคารของจีนไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า

หลังจากทางการจีนสั่งตรวจสอบอาลีบาบา หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นปากเสียงของรัฐบาลจีนระบุในบทความว่า ทางการจีนต้องการกำกับดูแลและชี้แนวทางการพัฒนาให้ธุรกิจที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

People’s Daily ยังเสริมอีกว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมภาคธุรกิจนี้ แต่การต่อสู้กับการผูกขาดกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนเนื่องจากทรัพยากรทั้งหลายไหลไปสู่บริษัทเหล่านี้

เหตุการณ์นี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ถูกตรวจสอบในข้อหาผูกขาดทางการค้า แต่ก็มีความแตกต่างกัน โดยในสหรัฐคณะกรรมการกำกับดูแลทำได้เพียงหวังว่าพวกเขาจะมีอำนาจเพียงพอที่จะสกัดบริษัทอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ค หรือแอมะซอน

ทว่าด้วยโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมของสหรัฐ ทำให้ทางการทำได้เพียงรอคอยให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาด แล้วค่อยก้าวเข้าไปจัดการ

ขณะที่ในจีน มืออันแข็งแกร่งของรัฐบาลเอื้อมไปได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือซ่อนเร้น ซึ่งบรรดาเจ้าของบริษัทถูกบีบบังคับให้เดินอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่าง “ใกล้ชิดกับรัฐบาล” และ “ใกล้ชิดเกินไป” บรรดาบริษัทในแดนมังกรจึงเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของชาติ และบางครั้งก็เป็นศัตรูที่เข้มแข็ง

แต่ไม่ว่าสุดท้ายแล้วทางการจีนจะฟันธงว่าอาลีบาบาผูกขาดตลาดหรือไม่ เพียงโอกาสที่จะถูกรัฐบาลจีนควบคุมก็เพียงพอให้บรรดาเจ้าของบริษัทลุกขึ้นมาดำเนินการอะไรสักอย่างแล้ว

และจากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัล หม่าได้ยื่นข้อเสนอแบ่งแอนท์ กรุ๊ป ส่วนหนึ่งให้รัฐบาลจีนเพื่อแสดงความมีน้ำใจก่อนที่ IPO จะถูกระงับแบบฟ้าผ่า ผิดกับท่าทีของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่แสดงท่าทีแข็งขืนระห่างการตอบคำถามในสภาคองเกรส

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว “ข้อเสนอ” ของหม่าก็ไม่เพียงพอ

และในเมื่อรัฐบาลจีนช่วยปลุกปั้นอาลีบาบาขึ้นมา อำนาจที่จะตัดสินอนาคตของอาลีบาบาจึงอยู่ในมือรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว