posttoday

ทำไมบลูมเบิร์กเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีอนาคตที่สุด?

18 ธันวาคม 2563

บลูมเบิร์กชี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกันในปี 2021

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ 17 ประเทศในปี 2021 ซึ่งใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเงิน 11 ข้อ โดยบลูมเบิร์กจัดให้อนาคตเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอันดับ 1 ของตาราง

บลูมเบิร์กให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองที่มั่นคงและมีศักยภาพสูงที่จะดึงดูดเงินทุนเข้าประเทศ และยังคาดการณ์ว่าปีหน้าจีดีพีของไทยจะเติบโต 3.9% ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีจะเกินดุล 3.1% และดุลงบประมาณต่อจีดีพีจะขาดดุล 4.9% ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 41%

ส่วนประเทศจีนอยู่อันดับสุดท้ายของตาราง แม้บลูมเบิร์กจะคาดการณ์ว่าปีหน้าจีดีพีของจีนจะขยายตัวถึง 8.1% ก็ตาม เนื่องจากต้องเผชิญกับความคาดหวังสูงอยู่แล้ว

จากการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กยังพบอีกว่า บรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่มีความพร้อมที่จะฟื้นตัวจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชีย เป็นตัวช่วยรองรับแรงสั่นสะเทือนจากปัจจัยภายนอก

แต่ที่ต้องจับตามองคือ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ต้องประเมินอย่างระมัดระวังเพื่อควบคุมความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

ทำไมบลูมเบิร์กเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีอนาคตที่สุด?

ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่บลูมเบิร์กใช้วิเคราะห์ว่าตลาดเกิดใหม่ใดจะรับมือกับความท้าทายและโอกาสเหล่านั้นได้ดีกว่าคู่แข่งสรุปได้ดังนี้

การฟื้นตัวจาก Covid-19

เกิดความกังวลว่าประเทศยากจนและประเทศด้อยพัฒนาจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการกระจายวัคซีน และหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อยู่แล้ว โดยเฉพาะไทยที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมองว่า เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก Covid-19 ในปีนี้ จะฟื้นตัวและเห็นการเติบโตอย่างมากในปี 2564 โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงมากล้วนมาจากเอเชียทั้งสิ้น ได้แก่ อินเดีย จีน และฟิลิปปินส์ 

การฟื้นตัวหลังล็อกดาวน์

โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า เมื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ประเทสกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามาเลเซีย ชิลี และฟิลิปินส์ อนาคตสดใสที่สุด  

ช่องโหว่ของโครงสร้าง

โครงสร้างทางเศรษฐกิจแย่ลงในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลงบประมาณที่จะเพิ่มภาระทางการเงินให้รัฐบาล