posttoday

เมื่อสหรัฐไม่ไว้ใจจีนจึงต้องลงมาคุมแม่น้ำโขงด้วยตัวเอง

16 ธันวาคม 2563

แม่น้ำโขงที่ไหลหล่อเลี้ยงปากท้องกว่า 60 ล้านชีวิตรวมทั้งคนไทย กลายเป็นสมรภูมิยุทธศาสตร์วัดขุมกำลังระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่แม่น้ำโขงกลายเป็นสมรภูมิยุทธศาสตร์วัดอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝั่งสหรัฐรุกหนักด้วยการเปิดตัวโครงการดาวเทียมสำหรับติดตามตรวจสอบระดับน้ำในเขื่อนของจีนในลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ความกระจ่างว่าจีนไม่ปล่อยน้ำให้ประเทศปลายน้ำอย่างที่เข้าใจกันมาจริงหรือไม่

โครงการ Mekong Dam Monitor ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างศูนย์สังเกตการณ์แม่น้ำโขง สติมสัน เซ็นเตอร์ (Stimson Center) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และอายส์ออนเอิร์ธ (Eyes On Earth) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำของสหรัฐ จะจับตาเขื่อน 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนที่จีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง และอีก 15 เขื่อนบนแม่น้ำสายย่อย

หลายปีที่ผ่านมาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงของจีนถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของทั้งความแห้งแล้งและน้ำท่วมในประเทศท้ายน้ำ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  และยังเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้หัวชนฝา

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจน ระดับแม่น้ำโขงที่ผิดปกติเริ่มเห็นชัดเจนเมื่อปีที่แล้ว โดยปกติระดับน้ำจะสูงขึ้นในช่วงฤดูมรสุมและจะลดลงในฤดูแล้ง แต่เมื่อปีที่แล้วระดับแม่น้ำโขงสูงเพียง 2.5 เมตรทั้งที่ความจริงควรสูงถึง 7.5 เมตร

นอกจากนี้ปีที่แล้วประเทศท้ายแม่น้ำโขงต้องเผชิญภาวะแห้งแล้งรุนแรงเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยเฉพาะไทยที่แม่น้ำโขงลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 100 ปีจนเห็นสันดอนกลางน้ำ

ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับผลวิจัยของ Eyes on Earth ที่พบว่า ปฏิบัติการของเขื่อนทั้ง 11 แห่งของจีนกักเก็บน้ำทางตอนบนของแม่น้ำโขงไว้ในขณะที่ประเทศท้ายน้ำต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง และยังประเมินว่าระหว่างเดือน ก.ค.-พ.ย.ปีที่แล้ว 2 เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของจีนอย่างเขื่อนเสี่ยววันและเขื่อนนั่วจาตู้กักน้ำไว้กว่า 20,000 ล้านคิวบิกเมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 8 ล้านสระรวมกัน

แปลว่าในขณะที่ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชากำลังเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง แต่จีนกลับมีน้ำใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองเหลือเฟือ

แต่จีนก็งัดงานวิจัยออกมาโต้ว่าที่น้ำแล้งเป็นเพราะปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนมีน้อย ทำให้ท้ายแม่น้ำมีน้ำลดลงไปด้วย และงานวิจัยล่าสุดจากสถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียน (CREEI) ที่มีรัฐบาลจีนหนุนหลัง ยังตอกกลับว่าสหรัฐไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด และอ้างว่าเขื่อนบนแม่น้ำล้านช้างเป็นประโยชน์กับประเทศท้ายน้ำอย่างชัดเจน โดยการกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากช่วยป้องกันทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งให้ประเทศท้ายน้ำ

โครงการจับตาดูเขื่อนแม่น้ำโขงในจีนของสหรัฐเกิดขึ้นหลังจากที่บรรดาประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านต้องทนอึดอัดคับข้องใจกับความโปร่งใสในการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขงของจีนจนต้องออกมาเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลมาแล้ว

ก่อนหน้านี้จีนเปิดเผยข้อมูลแม่น้ำโขงเฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมาทางการจีนรับปากว่าจะแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำตลอดทั้งปีผ่านกลไกการแบ่งปันสารสนเทศความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำของแม่โขง-ล้านช้าง โดยจีนบอกว่าเพื่อแสดงถึงความตั้งใจอันดีและความจริงใจของจีนในฐานะประเทศต้นน้ำที่มีความรับผิดชอบ

ทว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากฝั่งจีน ข้อมูลที่ประเทศท้ายน้ำต้องการรู้ก็ยังเป็นความลับ

ความคลุมเครือของจีนเปิดช่องให้สหรัฐโจมตีว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติการของเขื่อนและการปล่อยน้ำจากเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำโขงไม่ถูกต้องและขาดหลักฐาน

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำโขงจาก Stimson Center เผยว่ากลไกการแบ่งปันข้อมูลของจีนให้ข้อมูลเฉพาะจุดตรวจวัดที่อยู่ท้ายเขื่อนที่อยู่ใกล้พรมแดนไทยที่สุดเท่านั้นและอัพเดทข้อมูลไม่บ่อย แต่อายเลอร์บอกว่าข้อมูลระดับน้ำและข้อมูลการปฏิบัติการของเขื่อนเป็นตัวชี้วัดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อายเลอร์ยังเผยอีกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของเขื่อนทั้ง 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบน รวมถึงข้อมูลปริมาณน้ำยังถูกจีนเก็บเป็นความลับ

เมื่อจีนไม่เปิดเผยข้อมูลน้ำ ประเทศท้ายน้ำจึงไม่มีโอกาสเตรียมตัวตั้งรับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ บางครั้งจู่ๆ ก็เกิดน้ำท่วมกะทันหันตามแนวชายแดนไทย-ลาวในช่วงฤดูแล้ง บางครั้งการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนก็ทำให้น้ำเพิ่มขึ้นหลายเมตรชั่วข้ามคืน สร้างความเสียหายมหาศาลให้ชุมชนริมแม่น้ำโขงที่ไม่ทันตั้งตัว หรือบางครั้งก็น้ำลดลงผิดปกติตามที่ผลการศึกษาของ Stimson Center พบ

ในปีนี้ยังมีความกังวลว่าสถานการณ์ความแห้งแล้งในประเทศท้ายน้ำจะรุนแรงกว่าปีที่แล้วซึ่งจะส่งผลกระทบกับไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อการชลประทาน การปลูกข้าว และการประมง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะแม่น้ำโขงเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาที่จับได้คิดเป็น 25% ของปลาน้ำจืดที่จับได้ทั่วโลก และมีความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา (กว่า 1,000 สายพันธุ์ และอาจมีอีกหลายพันธุ์ที่ยังสำรวจไม่พบ) เป็นอันดับสองรองจากป่าแอมะซอนเท่านั้น

ปัจจุบันจีนมีเขื่อน 11 แห่งอยู่บนแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขงตอนบน 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และอีก 120 แห่งบนแม่น้ำสาขาที่กำลังก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างการวางแผน

หากยังปล่อยให้จีนสร้างเขื่อนและควบคุมต้นน้ำโขงเพื่อประโยชน์ของตัวเองตามใจชอบ ไม่เฉพาะประเทศท้ายน้ำเท่านั้นที่จะเดือดร้อน ระบบนิเวศที่สร้างขึ้นมายาวนานเป็นที่อยู่ของปลานานาชนิดรวมทั้งปลาบึก ปลาเฉพาะถิ่นของแม่น้ำโขงที่ตอนนี้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว ก็จะพลอยพังไปด้วย

เซ็บ โฮแกน นักชีววิทยาปลาจากมหาวิทยาลัยเนวาดารีโนเผยว่า แม่น้ำโขงไม่ควรต้องเผชิญชะตากรรมการเป็นแม่น้ำที่มีการสร้างเขื่อนมากที่สุดเหมือนกับแม่น่ำโคโลราโดของสหรัฐ ที่มีความยาวเพียง 2,330 กิโลเมตร แต่มีเขื่อนอยู่บนแม่น้ำสายหลักถึง 15 เขื่อนและอีกนับร้อยเขื่อนบนแม่น้ำสาขา

หลังมีเขื่อนอุทกศาสตร์ตามธรรมชาติของแม่น้ำโคโลราโดก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล การวางไข่ของปลาประจำถิ่นส่วนใหญ่แทบจะไม่เกิดขึ้น

“อัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากการสร้างเขื่อน และผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความกังวลว่าแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นเลือดของคนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูญเสียประสิทธิภาพจนไม่สามารถส่งเสริมความหลากหลายของสัตว์ป่าและผู้คนนับล้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ได้อีกต่อไป”

ดังนั้นหากจีนยังควบคุมน้ำที่ต้นแม่น้ำโขงได้ตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงประเทศท้ายน้ำ แม่น้ำโขงทั้งสายอาจไม่อาจย้อนกลับไปอุดมสมบูรณ์ได้แบบเดิม สหรัฐจึงต้องเข้ามาจับตากิจกรรมของเขื่อนจีนบนแม่น้ำโขง

นอกจากจะได้ควบคุมจีนทางอ้อมแล้ว ยังได้ผูกมิตรกับประเทศท้ายน้ำเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในลุ่มน้ำโขงกลับมาด้วย