posttoday

อินโดตะลุยอวกาศ เสนอเป็นฐานปล่อยจรวด SpaceX

15 ธันวาคม 2563

อินโดนีเซียส่งคำเชิญ อีลอน มัสก์ สร้างฐานปล่อยจรวดในประเทศ ชี้ข้อดีใกล้เส้นศูนย์สูตร

เอเอฟพี รายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. โจดี มาฮาร์ดี โฆษกกระทรวงการประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนอินโดนีเซียเผยว่า อินโดนีเซียกำลังเชื้อเชิญให้ อีลอน มัสก์ ประธานบริหารเทสลามาสร้างสถานที่ปล่อยจรวดสเปซเอ็กซ์ในอินโดนีเซีย

มาฮาร์ดี ยังกล่าวว่าอินโดนีเซียมีพื้นที่หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเหมาะกับการใช้เป็นฐานปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศเพื่อให้จรวดเดินทางเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายกว่าการปล่อยจรวดในพื้นที่อื่น รวมถึงการลดต้นทุนเชื้อเพลิงจรวดซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการปล่อยจรวดต่ำลง 

โดยกระทรวงระบุว่า "อีลอน มัสก์ ได้ตอบรับคำเชิญของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด โดยวางแผนที่จะส่งทีมของเขาไปยังอินโดนีเซียในเดือนมกราคม 2021 เพื่อสำรวจโอกาสสำหรับความร่วมมือในทุกด้าน"

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ได้ส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการไปยังอิลอน มัสก์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สถาบันอากาศและอวกาศแห่งชาติของอินโดนีเซีย (LAPAN) ได้ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่ามีแผนที่จะสร้างศูนย์อวกาศแห่งแรกของอินโดนีเซียบนเกาะเบียก ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางเหนือของเกาะนิวกินี โดยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ

โดยศูนย์อวกาศดังกล่าวจะพัฒนาจรวดและฐานปล่อยจรวดขึ้นสู่วงโคจรโลก ซึ่งมีกำหนดที่จะทดสอบจรวดครั้งแรกในปี 2024

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2007 อินโดนีเซียได้ทดสอบปล่อยจรวดขนาดเล็ก RX-250 ซึ่งสามารถทะยานขึ้นไปที่ระดับความสูง 53 กิโลเมตร ทั้งนี้ ระดับความสูงที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพรมแดนอวกาศ (Karman Line) อยู่ที่ 100 กิโลเมตร

ขณะที่ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มุ่งหน้าพัฒนาด้านอวกาศเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเปิดเผยว่า "รัฐบาลไทยเตรียมประกาศสร้างยานอวกาศไปดวงจันทร์ ในช่วงมกราคมปีหน้า โดยจะส่งยานอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชีย"