posttoday

ตูนิเซีย โค่นล้มเผด็จการได้แต่การปฏิวัติของประชาชนยังไม่จบ

14 ธันวาคม 2563

ตูนิเซียโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองมายาวนานถึง 23 ปี โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน แต่เป้าหมายของการปฏิรูปนั้นยังคงอีกยาวไกล

แม้ว่าชาวตูนิเซียจะโค่นล้มอำนาจของผู้นำเผด็จการ "ซีน อัล อาบิดีน เบน อาลี" ไปได้ราวสิบปีแล้ว ซึ่งเป็นการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่ปกครองมายาวนานถึง 23 ปี โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน แต่เพราะตำรวจและทหารที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ทำให้หนทางสู่เป้าหมายของการปฏิรูปยังคงอีกยาวไกล

เบน อาลี ออกจากประเทศตูนิเซียไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2011 โดยมีสมาชิกในครอบครัวและผู้ช่วยคนสนิทเพียงไม่กี่คนออกไปกับเขาด้วย แต่บรรดาตำรวจซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "กระดูกสันหลัง" ของการปกครองรูปแบบเผด็จการของเบน อาลียังคงอยู่

สำนักข่าว AFP รายงานว่า "อูลา เบน เนชมา" ผู้นำการสอบสวนแห่งคณะกรรมการความจริงและศักดิ์ศรีของตูนิเซีย (Truth and Dignity Commission-IVD) กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเพียง 54 คนเท่านั้นที่ถูกไล่ออกในปี 2011 โดยพวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาคดีหรือถูกลงโทษแต่อย่างใด

"ซีเฮม เบยเซดดรีน" อดีตหัวหน้า IVD กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2014 ของตูนิเซียได้กำหนดบทบาทของตำรวจใหม่ในระบอบประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นไม่นาน "ปีศาจในอดีตก็หวนกลับมา"

โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิภายใต้การปกครองของเบน อาลี และฮะบีบ บูรกีบะฮ์ ประธานาธิบดีคนแรกหลังประกาศเอกราชของตูนิเซีย แต่หลังจากนั้นสหภาพตำรวจได้ใช้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อปกป้องตนเอง และในบางครั้งยังบุกเข้าไปในสำนักงานของผู้พิพากษาที่สอบสวนคดีละเมิดดังกล่าว

ยกตัวอย่างการเปิดตัวศาลพิเศษในปี 2018 เพื่อตัดสินผู้ต้องหา 1,400 คนในข้อหาฆ่าข่มขืนและทรมาน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดที่ถูกหมายเรียกปฏิเสธที่จะปรากฏตัว

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน IVD มีคำสั่งให้สร้างหน่วยงานเฝ้าระวังของตำรวจที่เป็นอิสระและหน่วยข่าวกรองที่สามารถตอบสนองต่อรัฐสภาได้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ดำเนินการสร้าง

ตุลาการถูกกดดันอย่างหนักภายใต้การปกครองของเบน อาลี โดยผู้พิพากษาที่เปิดเผยต่อสาธารณชนมากที่สุดในยุคของเขาส่วนใหญ่ถูกไล่ออก ขณะที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อผู้พิพากษาที่ทุจริต

ในรายงานฉบับสุดท้ายเมื่อปีที่แล้วของ IVD ได้เรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อเสริมสร้างความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและศาลปกครอง และให้ความสำคัญอย่างมากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019

"นาบิล คาโรวี" เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองชาวตูนิเซียถูกจำคุกเนื่องจากการรณรงค์ในข้อหาฟอกเงินและเลี่ยงภาษี ช่วงเวลาแห่งการจับกุมทำให้เกิดข้อกล่าวหาว่าใช้กระบวนการยุติธรรมในทางที่ผิด

ทั้งนี้ แม้ว่าตูนิเซียจะได้รับชัยชนะจากการเปลี่ยนแปลงมาเป็นประชาธิปไตย แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจของตูนิเซียและการลดความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นใหญ่

โดยมีการถกเถียงกันมากขึ้นเกี่ยวกับ "ทุนนิยมพวกพ้อง" ที่กลุ่มบริษัทใหญ่มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปของตลาด

ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการผูกขาด เช่น รถยนต์แต่ละยี่ห้อที่นำเข้ามาในประเทศตูนิเซีนสามารถนำเข้าได้โดยตัวแทนรายเดียวเท่านั้น หรือสตาร์ทอัพที่เปิดตัวระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือล้มเหลวเนื่องจากมีเงินไม่ถึง 5 ล้านดีนาร์ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ มาก

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าการล่มสลายของระบอบเผด็จการของเบน อาลี ไม่ได้ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดไปคือการที่ชาวตูนิเซียกล่าวว่าคอร์รัปชันเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2010-2017 ส่งผลให้ประเทศตูนิเซียตกอยู่ในอันดับที่ 15 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์นี้และความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้ประชาชนหวนกลับไปคิดถึงการปกครองระบอบเก่า

อย่างไรก็ตาม ราดูอาน เอร์เกซ ที่ปรึกษาของ Think Tank Joussour เตือนว่าความรู้สึกโหยหาระบอบเผด็จการจะเป็นอันตายต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย และทำให้เกิดคำถามถึงความสำเร็จทางการเมืองของประเทศ