posttoday

เปิดผลงานหายนะจากน้ำมือคอมมิวนิสต์ หมดไปกี่ล้านชีวิต

09 ธันวาคม 2563

ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่บางคนขุดขึ้นส่งเสริมกันอีกครั้ง มีผลงานที่น่าสยดสยองมากมายทิ้งไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

บางคนในยุคสมัยนี้บอกว่าเราถูกทำให้กลัวคอมมิวนิสต์เกินเหตุ ประชาชนถูกกรอกหูให้เชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้าย ทำให้คอมมิวนิสต์เหมือนผีสาง บางคนในยุคสมัยนี้กำลังละเลยข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่าถ้าระบอบคอมมิ้วนิสต์ดีจริง มันคงไม่ล้มสลายกันเป็นระนาวเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และประเทศคอมมิวนิสต์ที่เหลืออยู่ยังกลายพันธุ์เป็นทุนนิยมอีกต่างหาก

บางคนที่บอกว่ารัฐทำให้คนกลัว "ผีคอมมิวนิสต์" พวกเขาพยายาทำให้คนกลับมามองคอมมิวนิสต์ด้วยความเอ็นดู ทั้งๆ ที่มันมีเรื่องให้น่าเห็นใจไม่มาก และอาจยิ่งชิงชังมันหากได้รู้ว่าบรรดาผู้นำและประเทศที่เคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์นั้นเลวร้ายแค่ไหน และมีกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยไปเพราะความคลั่งอุดมการณ์ทางการเมืองของคนบางคน

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ช่วยรวบรวมผลงานการทำลายล้างของพลพรรคคอมมิวนิสต์ไว้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน คือหนังสือที่ชื่อ The Black Book of Communism: Crimes, Terror, Repression (หนังสือปกดำแห่งคอมมิวนิสม์ ว่าด้วยอาชญากรรม การเขย่าขวัญ และการกดทับข่มเหง) เป็นหนังสือเมื่อปี 1997 เขียนโดยนักวิชาการในยุโรปอีกหลายคนและแรกเริ่มเดิมทีตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส

หนังสือเล่มนี้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่ทางการเมืองโดยรัฐคอมมิวนิสต์รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, การประหารชีวิตโดยวิสามัญฆาตกรรม, การเนรเทศ การฆ่าประชากรในค่ายแรงงาน และความอดอยากที่สร้างขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์

บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้คือ สเตฟาน กูร์ตัวส์ถึงกับระบุว่า ระบอบคอมมิวนิสต์เปลี่ยนอาชญากรรมจำนวนมากให้กลายเป็นระบบการปกครองที่เต็มไปด้วยพลัง และมีส่วนรับผิดชอบต่อจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าการลงมือของลัทธินาซีหรือระบบการเมืองอื่นๆ ซึ่งข้อความนี้สร้างปัญหาอย่างมากเพราะเป็นการบอกว่าคอมมิวนิสต์อาจจะชั่วร้ายกว่านาซีเสียอีก ซึ่งการเอ่ยถึงในทำนองนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในยุโรปซึ่งการทำให้นาซีดู "ซอฟต์" ลงเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยาก

แต่ภาพลักษณ์ของนาซีไม่ได้อ่อนลง เพียงแต่มันยังเทียบไม่ได้กับการทำล้ายล้างของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่างๆ โดยในคำนำของหนังสือระบุจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์มีจำนวนมากกว่า 94 ล้านคน จากสาเหตุต่างๆ ที่เกริ่นไว้ข้างต้น เมื่อนำตัวเลข 94 ล้านคนแตกออกเป็นผลงานของรัฐบางประเทศต่างๆ จะมียอดดังนี้

ในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีคนตายเพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์รวม 65 ล้านคน, ในสหภาพโซเวียต 20 ล้านคน, ในกัมพูชา 2 ล้านคน, ในเกาหลีเหนือ 2 ล้านคน, ในเอธิโอเปีย 1.7 ล้านคน, ในอัฟกานิสถาน 1.5 ล้านคน, ในยุโรปตะวันออก 1 ล้านคน, ในเวียดนาม 1 ล้านคน, ในละตินอเมริกา 150,000 คน และอีก 10,000 คนจากน้ำมือของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ยังไม่มีอำนาจ

ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีคนล้มตายเพราะระบอบคอมมิวนิสต์มากที่สุด แต่กลับมีบทเดียวที่อุทิศให้กับหายนะในจีน (บทที่ 21. China: A Long March into Night โดย Jean-Louis Margolin) เท่ากับการสำรวจหายนะของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเกาหลีเหนือ, เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เน้นไปที่การทำลายล้างที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตมากกว่าถึง 15 บทจากทั้งหมด 27 บท

สหภาพโซเวียตโดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ภายใต้การกุมอำนาจของสตาลิน เป็นยุคสมัยที่ที่มีความย้อนแยงกันในตัว ขณะที่โซเวียตผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยการกวาดล้าง จัดระเบียบ ข่มขู่ ขับไล่ การสังหารหมู่ แค่เล็งเห็นคนๆ หนึ่งอาจกระด้างกระเดื่องหรืออาจเป็นเสี้ยนหนามคนๆ นั้นก็อาจถึงแก่ชีวิตหรืออย่างน้อยๆ ถูกส่งไปค่ายกักกันซึ่งโอกาสรอดก็มีน้อยอยู่ดี

ไม่เฉพาะการกดขี่ปัจเจกชน สตาลินยังก้าวไปอีกขั้นด้วยการกวาดล้างชนชาติทั้งชนชาติ โดยทำการอพยพชนชาติหนึ่งๆ จากถิ่นกำเนิดของพวกเขาไปยังอีกถิ่นหนึ่งที่ห่างไกลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตัวอย่างเช่น การอพยพชาวเกาหลีจากภาคตะวันออกไกลแถวๆ เกาหลีเหนือย้ายไปยังเอเชียกลางแถบคาซักสถาน-อุซเบกิสถาน เป็นการ "อพยพย้ายถิ่นทั้งชนชาติ" ที่โหดร้ายทารุณมาก เพราะสตาลินระแวงว่าเกาหลีเหล่านี้อาจเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นศัตรูของโซเวียตในเวลานั้น

สตาลินยังสั่งอพยพชาวเยอรมันในแถบโวลก้า, ชาวไครเมียตาตาร์ ชาวดอนคอสแซค และชาวเชนเชนและอินกุช ทั้งหมดถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง เรียกว่า "มาตรการย้ายถิ่นฐานเชิงป้องกัน" เพราะถูกมองว่าเป็น "ศัตรูของประชาชน" บางกรณีเป็น "มาตรการย้ายถิ่นเชิงลงโทษ" โทษฐานร่วมมือกับชาติศัตรู ผู้คนหลายล้านต้องพลัดบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ที่ห่างไกลที่ไม่เคยคิดแม้แต่จะเหยียบย่างไป

โซเวียตยังดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ตามแนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์จะมีการยึดทกุอย่างเป็นของรัฐ ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล ดังนั้นที่ดินการทำเกษตรจึงเป็นที่ดิน "นารวม" ทุกคนร่วมแรงกันทำงานในที่ดินของรัฐ ผลผลิตได้มาเป็นของรัฐ ประชาชนได้สิทธิส่วนที่รัฐแบ่งเท่านั้น ไม่ได้วัดกันว่าใครทำได้มากได้มาก

การทำแบบนี้บางครั้งทำให้เกิดภาวะอดอยากรุนแรง เช่น ภาวะอดอยากระหว่างปี 1921–22 มีคนตาย 5 ล้านคนบางคนถึงกับต้องกินเนื้อคนด้วยกันองเพื่อเอาชีวิตรอด สาเหตุมาจากหลายปัจจัยตั้งแต่ความวุ่นวายหลังการปฏิวัติรัสเซีย จากสงครามกลางเมือง

ถึงแม้ว่าจะมีสาเหตมาจากความวุ่นวาย แต่ผู้นำโซเวียต (ในขณะนั้นคือเลนิน) ใช้โอกาสที่เกิดภัยอดอยากเป็นข้ออ้างในการยึดทรัพย์สินของศาสนจักร เนื่องจากศาสนจักรถือครองที่ดินและใช้แรงงานเกษตรเป็นแรงงานไพร่ติดที่ดินแบบยุคกลาง

ในปี 1932 - 1933 เกิดภัยอดอยากครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "อภิมมหาทุพภิกขภัย" ในยูเครนมีคนตายประมาณ 3.5 ล้านคน แต่บางแห่งก็ว่าตายถึง 12 ล้านคน เหตุการณ์นี้ถือเป็นผลงานโดยตรงของสตาลิน เนื่องจากการทำนารวมและยึดผลผลิตเป็นของรัฐทำให้ประชาชนที่ทำนาไม่ได้ผลของการลงแรงโดยตรง แต่ต้องรับการปันส่วนจากรัฐ

ปรากฎว่าผลผลิตปี 1932 ต่ำมากเกือบครึ่งหนึ่งจากปีก่อน ทำให้รัฐปันส่วนผลผลิตให้ประชาชนน้อยลง โดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่งไม่ได้ทำการเพาะปลูกถูกตัดปันส่วนฮวบฮาบและลดลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาวะอดอยาก ในขณะเดียวกันรัฐก็พยายามโยนความผิดให้เกษตรกรในชนบทโดยฉายภาพยนต์สารคดีจอมปลอมที่ใส่ร้ายเกษตรกรว่าเก็บผลผลิตไว้กินเองโดยไม่ให้คนงานในเมืองได้กินกัน

นี่คือผลจากวิธีคิดของลัทธิมาร์กซ์ที่มองว่าแรงงานในเมืองในภาคอุตสาหกรรมคือแรงขับเคลื่อนทางการเมือง แต่เกษตรกรไม่ใช่พลังที่จะหลัก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลจะป้ายสีให้ประชาชน 2 กลุ่มแตกคอกันหรือเพื่อให้ประชาชนที่เป็นแรงงานไม่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล

นอกจากนี้ยังเป็นการปราบรามเกษตรกรที่ทำการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ยึดผลผลิตไปและบังคับให้พวกเขาทำนารวม ในปี 1930 นั้นรัฐบาลยังยึดผลผลิตอย่างเข้มงวดขึ้นเพื่อเร่งส่งออกข้าวสาลีทั้งๆ ที่อาจจะกระทบต่อปากท้องประชาชน และคาดโทษเกษตรกรว่าหากกักตุนอาหารจะมีโทษถึงประหารชีวิต

อีกสาเหตุหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากคือพื้นที่ประสบภัยคือประเทศยูเครน โซเวียตต้องการจะกำราบไม่ให้คนยูเครนกู้ชาติตัวเองจึงใช้วิธีนี้บ่อนทำลาย ไม่เพียงแต่ยึดผลผลิตชาวนายูเครน แต่ยังยึดทรัพย์สิน และสั่งอพยพไปอยู่ไซบีเรีย ส่วนคนที่ยังอยู่ที่บ้านเกิดก็ห้ามหนีตายจากภัยอดอยาก ใครที่หนีได้รับคำสั่งให้ยิงทิ้งได้ทันที

ดังนั้น บางประเทศจึงระบุว่าภัยครั้งนี้คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเป็นน้ำมือของสตาลิน ผู้นำสูงสุดของโซเวียต

ผลงานที่ขึ้นชื่อลือชาที่สุดของพลพรรคโซเวียตคือการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า Great Purge หรือการกวาดล้างครั้งใหญ่ระหว่างปี 1936 - 1938 ซึ่งรวมถึงการกวาสดล้างชาวนามีเงิน การฆ่าล้าเงผ่าพันธุ์เชื้อชาติต่างๆ การขับไล่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง แม้แต่ระดับบัญชาการของกองทัพแดง มีทั้งการปลดจากตำแหน่ง ดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม หรือประหารชีวิตโดยปราศจากหลักฐานชัดเจน คาดว่ามีคนตายเพราะนโยบายนี้ของสตาลินถึง 950,000 - 1.2 ล้านคน

เหตุกาณรณ์ที่เป็นไฮไลท์ในช่วงนี้คือการตั้งศาลแห่งมอสโก (Moscow Trials) ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีต่อสาธารณเพื่อสร้างความหวาดกลัวและทำให้เสียชื่อเสียงต่อจำเลย ผู้ที่ขึ้นศาลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเองโดยเฉาะกลุ่มที่ร่วมทำการปฏิวัติมาตั้งแต่แรก โดยสตาลินป้ายสีคนเหล่านี้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติหรือเป็นฝ่ายขวาหรืออ้างว่าสมคบกับชาติตะวันตกเพื่อจะลอบสังหารสตาลิน

แต่สตาลินมองว่าคนเหล่านี้อาจเป็นภัยคุกคามต่อเขาโดยอาจกลายเป็นผู้นำการลุกฮือต้านเขาที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเกษตรที่สร้างความทุกข์ยากให้ประชาชน

นี่เป็นเพียงส่วนน้อยของความน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์ในช่วงที่เกิดภาวะ "ซ้ายจัด" การผงาดขึ้นมาของสตาลินยังตอกย้ำว่าลัทธิคอมมิวนิสต์แปรสภาพเป็นเผด็จการที่โหดเหี้ยมได้ง่ายมาก

เนื่องจากลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช้โดยวิธีการค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นรัฐบาลปฏิวัติจึงต้องทำการฆ่าล้างชนชั้น (Classicide) โดยเฉพาะชนชั้นในสังคมที่มั่งมีมากกว่า มีอิทธิพลมากกว่า หรือบางทีไม่มีอะไรมากไปกว่า "อาจจะเป็นภัยคุกคาม" ต่อตัวผู้นำเองไม่ใช่ต่อลัทธิคอมมมิวนิสต์หรือประเทศชาติเลย

เราจะเห็นได้จากกรณีของโซเวียตมีการปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระบรมวงศ์อย่างเหี้ยมโหดรวมถึงจับกุมและสังหารสมาชิกราชวงศ์ มีการกวาดล้างชนชั้นนายทุนนักธุรกิจ ตามด้วยทำลายศาสนา จับกุมและฆ่าบาทหลวง แม้แต่ชาวนาที่มีอันจะกินก็ไม่รอด ถูกยึดทรัพย์แล้วส่งไปอยู่ในดินแดนไกลโพ้น

ในจีนมีการตั้งศาลประชาชนพิจารณาโทษของผู้ที่มีที่ดินมาก หรือที่เรียกว่า "เจ้าที่ดิน" และทำการประหารคนเหล่านี้ไปถึง 2 - 3 ล้านคน ในช่วงที่มีการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่เพื่อแจกจ่ายที่ดินให้ประชาชนได้ทั่วถึง ในเวียดนามการปฏิรูปที่ดินทำให้มีการประหารเจ้าที่ดินไปถึง 200,000 คน

นี่คือราคาที่ต้องจ่ายไปด้วยชีวิตของการสร้างสังคมที่คนทุกคนเท่ากัน แต่จริงๆ แล้วในประเทศคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีใครเท่ากัน และสังคมคนเท่ากันที่พวกเขาอยากจะสร้างขึ้นมายังพังทลายไม่เป็นท่าในเวลาไม่กี่สิบปีอีกด้วย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by VYACHESLAV OSELEDKO / AFP