posttoday

ส่องดรามาเครื่องแบบนักเรียนต่างประเทศ

01 ธันวาคม 2563

กฎระเบียบเครื่องแบบนักเรียนเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

โรงเรียนเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่นกำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบ รวมถึงกำหนดประเภทกระเป๋านักเรียนและทรงผม รวมถึงบางแห่งยังกำหนดให้นักเรียนหญิงต้องสวมเสื้อชั้นในสีขาวล้วน

ส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโรงเรียนมัธยมของญี่ปุ่นวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตรวจสีเสื้อชั้นในของนักเรียน โดยกล่าวว่า "แม้จะเป็นการตรวจสอบโคยครูผู้หญิง แต่การขอดูเสื้อชั้นในของผู้อื่นนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

โดยสภาทนายความจังหวัดได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการศึกษาประจำจังหวัดซางะและสมาคมผู้ปกครองและครูในท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎของโรงเรียน

รวมถึงยังมีการร้องเรียนถึงกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลอื่นๆ เช่น ห้ามนักเรียนชายตัดผมทรงทูบล็อก, ห้ามนักเรียนหญิงสวมกางเกงรัดรูป, ห้ามสวมผ้าพันคอเมื่ออยู่ในเครื่องแบบนักเรียน และกฎการแต่งกายและทรงผมที่แตกต่างกันตามเพศสภาพของนักเรียน

โดยสภาทนายความจังหวัดเรียกร้องให้โรงเรียนต่างๆ พิจารณาว่ากฎของโรงเรียนส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียนจริงหรือไม่โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน และนำข้อมูลจากนักเรียนมาพิจารณาเพื่อดำเนินการแก้ไขให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ในการประชุมสภามหานครโตเกียวในเดือนมีนาคม ยูอิชิ ไอกิกาวะ ตัวแทนเขตมาจิดะกล่าวว่า "ผมได้ยินจากนักเรียนหลายคนว่า เมื่อพวกเขาถามว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้ไว้ผมทรงทูบล็อก เขามักจะได้คำตอบว่า "เพราะนั่นคือกฎ" หรือ "เพราะนั่นคือข้อบังคับของโรงเรียน" แล้วทำไมถึงต้องบังคับ"

นอกจากนี้ในปี 2017 มีการถกเถียงกันถึงกฎของโรงเรียนในญี่ปุ่นที่ห้ามนักเรียนย้อมผมและนักเรียนจะต้องมีผมสีดำ โดยมีนักเรียนหญิงคนหนึ่งในโอซกาซึ่งมีผมสีน้ำตาลธรรมชาติถูกบังคับให้ย้อมผมสีดำ จึงมีการฟ้องร้องโรงเรียน 2.2 ล้านเยน แต่ภายหลังในปี 2019 มีรายงานว่าโรงเรียนรัฐบาลในโตเกียวจะหยุดบังคับให้นักเรียนต้องมีผมสีดำ

รวมถึงโรงเรียนในหลายเมืองของญี่ปุ่นอนุญาตให้นักเรียนสามารถเลือกใส่เสื้อเบลเซอร์, กางเกง, กระโปรง หรือเนคไทได้ เพื่อให้ความสำคัญต่อนักเรียนเพศทางเลือก

เช่นเดียวกับโรงเรียนในเกาหลีใต้ซึ่งกำหนดให้นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบ แต่โรงเรียนหลายแห่งอนุญาตให้นักเรียนหญิงสามารถเลือกได้ว่าจะสวมกางเกงหรือกระโปรง

นอกจากนี้สำนักงานการศึกษาของกรุงโซลกล่าวเมื่อปี 2018 ว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้นักเรียนสามารถย้อมสีผมหรือดัดผมได้

โช ฮียอน ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาของกรุงโซลกล่าวว่า "สิทธิในการย้อมหรือดัดผมเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐาน เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่มีความรู้สึกอิสระและมีคุณค่าของประชาธิปไตย"

อี มินจิน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเยาวชนกล่าวว่า "ไม่เคยมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลว่าทำไมทรงผมของนักเรียนจะต้องถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจ เรามักได้ยินว่านักเรียนควรมีลักษณะเหมือนนักเรียน นักเรียนต้องมีลักษณะที่เหมาะสมกับวัย เราคิดว่านี่เป็นวิธีที่รัฐบาลพยายามควบคุมเยาวชน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงที่ลึกซึ้งมานานหลายปีแล้ว"

เช่นเดียวกับ คิม โดยอน นักเรียนมัธยมปลายในกรุงโซลกล่าวว่าเธอดีใจกับการตัดสินใจของสำนักงานการศึกษา ในขณะเดียวกันยังมีอีกหลายประเด็นที่เธอรู้สึกว่าเป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียน "ฉันรู้สึกว่าชุดนักเรียนมันอึดอัดและไม่ยุติธรรมเลยที่เราได้รับอนุญาตให้ใส่ชุดนี้ไปโรงเรียนเท่านั้น รูปลักษณ์ของเรา การแต่งตัวของเรา ควรเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา"