posttoday

"ข้อกล่าวหา" กรณีรัชกาลที่ 7 ขู่จะขายพระแก้วมรกต

30 พฤศจิกายน 2563

อธิบายความเข้าใจผิดของรายงานข่าวจากอดีตที่ส่งผลสะเทือนมาถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย

จากกรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่า "ในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อพระองค์สละราชสมบัติไปก็พยายามจะเอาพระแก้วมรกต (ซึ่งเป็นสมบัติชาติ) ไปขาย และถ้าเราไม่แก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์นี้ก็อาจจะเกิดขึ้นถ้ารัชกาลที่ 10 สละราชสมบัติ"

โพสต์ดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง นำไปสู่การด่าทอและตอบโต้อย่างรุนแรง บ้างถึงกับตราหน้าว่าเป็น Fake news แต่ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มนำแหล่งข้อมูลที่อ้างว่าเป็นเบื้องหลังโพสต์ "โจมตีรัชกาลที่ 7" ของเพนกวินออกมาเผยแพร่เพื่อชี้ว่ามันคือ "ความจริง"

ข้อมูลที่เพนกวินอ้างนั้นมาจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1935 (ตรงกับ พ.ศ. 2477) หน้าที่ 21 พาดหัวข่าวว่า KING OF SIAM MAKES THREAT TO SELL OUT (กษัตริย์สยามขู่จะขายทั้งหมด) และโปรยข่าวระบุว่า "ตรัสบอกว่าทรงจะขายทรัพย์สินมากมาย เป็นการรุกคืบครั้งใหม่เพื่อรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

เนื้อหาของข่าวนี้มาจากสำนักข่าว Associated Press (AP) ระบุว่ารายงานมาจากบางกอก ประเทศสยาม วันเดียวกับที่ตีพิมพ์ข่าวนั้น เนื้อหามีดังนี้

ย่อหน้าแรกของข่าวระบุว่า "กษัตริย์ประชาธิปกขู่ที่จะขายทรัพย์สินมากมายของพระองค์ในสยามในนาทีสุดท้าย เพื่อกดดันรัฐบาลในประเทศ อ้างรายงานจากแหล่งข่าวต่างๆ ที่มักจะเชื่อถือได้" - จบย่อหน้าแรก

โปรดสังเกตว่ารายงานข่าวนี้ใช้คำว่าอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ "มักจะเชื่อถือได้" ซึ่งยังไม่ใช่ข่าวที่ยืนยันอย่างเป็นทางการ และยังเป็นแหล่งข่าวที่มักจะเชื่อถือได้ (Usually reliable) ดังนั้นมันไม่ได้หมายความว่าจะยืนยันได้ร้อยเปอร์เซนต์จนกว่าจะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ

การประเมินข้อมูลในทำนองนี้สามารถใช้หลักการประเมินข่าวกรองของกองทัพสหรัฐที่ปรากฎในคู่มือปฏิบัติภารกิจงานภาคสนาม (FM 2-22.3) ที่จัดแหล่งข้อมูลไว้ 6 ระดับ ระดับสูงสุดคือ Reliable และต่ำสุดคือ Reliability unknown ส่วน Usually reliable เป็นระดับที่เชื่อถือได้มากเป็นอันดับที่สองโดยมีความน่ากังขาเล็กน้อย มีประวัติว่าให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกือบทั้งหมด

นี่เป็นประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณานั่นคือสถานะของข่าวที่นำมารายงาน

ย่อหน้าที่สองของข่าวระบุว่า "มีรายงานอ้างว่าพระองค์ได้ตรัสว่า จะทรงเสด็จจากประเทศไปตลอดกาล หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทรงยื่นคำขาดที่ให้คืนพระราชอำนาจในการตัดสินโทษประหารชีวิต"

ในย่อหน้านี้ทำให้เราทราบว่าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อไปนี้จะขานพระนามว่าพระปกเกล้าฯ) ทรงขู่เพราะทรงขัดแย้งกับรัฐบาลเรื่องที่สถาบันพระมหากษัตริย์มิได้มีพระราชอำนาจในการตัดสินโทษประหารชีวิตอีกต่อไป ดังนั้นโปรยข่าวของ AP จึงใช้คำว่า "การรุกคืบครั้งใหม่เพื่อรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ด้วยเข้าใจว่าการที่พระปกเกล้าฯ ทรงเรียกร้องพระราชอำนาจนี้ก็เพราะการชี้ขาดชีวิตคนให้อยู่หรือตายเป็นอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของกษัตริย์

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความตีขลุมของผู้เขียนข่าวเอง พระปกเกล้าฯ มิได้ทรงหวงพระราชอำนาจที่จะชี้เป็นชี้ตาย แต่ทรงขัดแย้งกับรัฐบาลมาหลายครั้งแล้วและการริบอำนาจของพระมหากษัตริย์ก็เป็นหนึ่งในความขัดแย้งนั้น

ก่อนอื่นต้องอธิบายเท้าความก่อนว่าในปี 2477 เกิดกรณีที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอากรมรดก ขณะนั้นพระปกเกล้าฯ กำลังเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรป เมื่อได้ร่างพระราชบัญญัติมาก็ทรงมิได้ลงพระปรมาภิไธยอีกด้วยทรงเข้าพระทัยว่ารัฐบาลประสงค์จะเก็บภาษีอากรพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางรัฐบาลจึงต้องส่งผู้แทนไปเข้าเฝ้าฯ และกราบทูลว่าจะแก้ไขให้ยกเว้นพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์จากภาษีมรดก

แต่กรณีภาษีก็ยังไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย เพียงแต่มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวของ AP เรื่องการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ในเดือนธันวาคม 2477 เมื่อผู้แทนรัฐบาลไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าที่อังกฤษนั้น นอกจากทรงจะยอมรับภาษีมรดกฉบับแก้ไขแล้ว ยังทรงร้องขอต่อรัฐบาลอีหลายเรื่องเรื่องการปรับปรุงการปกครองของประเทศ เพราะในขณะนั้นคณะราษฎรยังกุมอำนาจเสียมาก (แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อคณะราษฎรแล้วก็ตาม) มิได้กระจายอำนาจให้ประชาชนทั่วไปได้ช่วยกันบริหารบ้านเมืองและลดการใช้อำนาจจับกุม "ผู้เห็นต่างทางการเมือง" ของรัฐบาลคณะราษฎร

พระปกเกล้าฯ ยังทรงเห็นควรมีการให้อภัยโทษแก่นักโทษการเมืองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในระยะยาว แต่ระหว่างที่เจรจาเรื่องนี้รัฐบาลก็กลับไปพิจารณาแก้ไขร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาชญา ซึ่งลดพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ โดยกำหนดว่าคำถวายฎีกาต้องผ่านการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและหากไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยตกลงมาภายใน 2 เดือน ก็ให้ถือว่าเรื่องราวนั้นตกไป

กรณีนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงตรัสว่า “ยอมรับไม่ได้เลยทีเดียวเพราะเป็นการตัดสิทธิ์ซึ่งราษฎรมีอยู่ก่อนยิ่งขึ้นไปอีกมิใช่หรือ” รัฐบาลตอบว่า “รัฐบาลมองไม่เห็นว่าจะเสียหลักยุติธรรมอย่างใด”

นี่คือกรณีที่ AP ระบุว่าเป็น "การรุกคืบครั้งใหม่เพื่อรักษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์" โดยคิดเอาว่าการที่พระปกเกล้าฯ ทรงคัดค้านกฎหมายที่ตัดทอนพระราชอำนาจนั้นเป็นการหวงแหนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งๆ ที่เป็นพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ (Royal prerogative of mercy) ที่ไม่ได้มีแค่พระมหากษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษด้วย

และไม่เฉพาะแต่ระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ระบอบสาธารณรัฐยังให้อำนาจประธานาธิบดีในการอภัยโทษ (Pardon) เช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นความเข้าใจผิดของสื่อต่างประเทศว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงยื้ออำนาจ แต่ความจริงทรงพยายามรักษาพระราชอำนาจขององค์พระประมุขตามระบอบการปกครองของอารยประเทศเท่านั้น

มาถึงประเด็นปัญหาสำคัญของข่าวนี้ที่ถูกพูดถึงกันมากคือข้อความที่กล่าวว่า "มีรายงานอ้างว่าผู้รักษาผลประโยชน์ของบริเตนแสดงความจำนงที่จะซื้อทรัพย์สินของพระปกเกล้า ซึ่งรวมถึงไม่เฉพาะแค่พระราชวังนานา วัดวาอารามนานาอันงดงามอย่างบูรพประเทศ แต่ยังรวมถึง 'พระแก้วมรกต' อัญมณีอันมีชื่อเสียงนี้ถูกมองว่าเป็นประหนึ่งตัวแทนความภาคภูมิและเกียรติยศของชาติสยาม เป็นหินมณีใหญ่อันเปล่งประกายติดไว้ที่หน้าผากของพระพุทธรูปและเป็นสมบัติของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์"

แค่ข้อความนี้ย่อหน้าเดียวก็มีปัญหามากมายในเรื่องความน่าเชื่อถือแล้ว มิพักจะเอ่ยถึงคำประกาศที่เป็นปัญหายิ่งกว่าว่า "พระปกเกล้าฯ ขู่จะขายพระแก้ว"

ประการแรกย้อนกลับไปที่ย่อหน้าแรกที่ข่าวระบุว่า "กษัตริย์ประชาธิปกขู่ที่จะขายทรัพย์สินของพระองค์ในนาทีสุดท้าย เพื่อกดดันรัฐบาลในประเทศ" ข้อความนี้ไม่ได้ระบุว่าจะทรงขายทรัพย์สินอะไร และเราต้องเข้าใจก่อนว่าทรัพย์สินในที่นี่มี 2 ส่วนคือ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอย่างหลังนี้แม้จะพระองค์จะทรงเป็นเจ้าของแต่ก็ถือกันว่าเป็น "สมบัติแผ่นดิน" ไม่อาจจะนำออกขายทอดตลาดได้ "ตามพระทัยชอบ"

ประการที่สองข่าวระบุว่า "ผู้รักษาผลประโยชน์ของบริเตน" (British interests) อาจหมายถึงสถานกงสุลหรือสถานเอกอัครราชทูตหรือเจ้าหน้าใดๆ ก็ตามของบริเตน (ประเทศสหราชอาณาจักร) ที่หมายตาว่าจะซื้อ ไม่ได้หมายความว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงเสนอขายให้กับฝรั่งต่างชาติเหล่านี้

แต่ข้อความที่ทำให้ข่าวนี้เสียความน่าเชื่อถือไปอย่างมากก็คือการบรรยายพระแก้วมรกตที่ผิดไปจากความเป็นจริงอย่างมากโดยไม่ได้บรรยายถึงพระแก้วมรกตอย่างที่เราเข้าใจแต่ไพล่ไปเล่าถึงอัญมณีอะไรสักอย่างที่ติดไว้บนหน้าผากพระพุทธรูปซึ่งคาดว่าน่าจะหมายถึงพระอุณาโลมที่เป็นเพชร

มาถึงตอนนี้เราสามารถสรุปได้ว่า พระปกเกล้าฯ มิได้ทรงจะขายพระแก้วมรกตรวมถึงวังหลวง หากจะมีพระประสงค์ใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ (อย่างที่ข่าวอ้างแหล่งที่มักจะเชื่อถือได้) ก็จะทรงขายได้แต่พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เท่านั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่คาบเกี่ยวกับที่เป็นของแผ่นดินมาแต่โบราณ

ฟังดูแล้วชวนให้งุนงงระหว่างทรัพย์ส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรื่องนี้จะไม่เพียงทำให้ประชาชนทั่วไปงุนงงจนจับต้นชนปลายไม่ถูกเท่านั้น แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เองก็ทรงประสบปัญหาในภายหลังด้วย

ก่อนจะไปถึงปัญหานั้น เมื่อพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษถูกรัฐบาลริบไป พระปกเกล้าฯ จึงทรงขู่ที่จะสละราชสมบัติ หลังจากนั้นรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ส่งผู้แทนไปกราบทูลเพื่อหารือกับพระองค์ ซึ่งทรงเสนอว่าหากจะให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปจะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้สภามีเสียงเกินสองในสามเพื่อที่จะวีโต้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ

แน่นอนว่ายากที่รัฐบาลจะยอมรับได้ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478

แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น ในปี 2478 นั้นเอง รัฐบาลได้เสนอกฎหมายพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลแจกแจงทรัพย์สินที่เคยอยู่ในครอบครองของสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งออกเป็นส่วนๆ คือ "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน", "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์"

อธิบายว่า "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" คือของส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์หรือทรงได้รับมาจากบุคคลอื่นๆ ที่มิได้เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ถือเป็นของส่วนพระองค์ทรงมีสิทธิตัดสินพระทัยทำอะไรกับมันก็ได้โดยอิสระ ส่วน "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" คือพระราชวังเป็นต้น

และ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" คือทรัพย์ที่สืบทอดมาในพระราชวงศ์ จะทรงดำเนินใดๆ ได้ก็เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เดิมนั้นอยู่ในการดูแลของกรมพระคลังข้างที่ หลังออกพระราชบัญญัตินี้แล้วกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล

ปัญหามันมีอยู่ว่าตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหมาดๆ แล้ว (คือก่อนออก พ.ร.บ. นี้) ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงโอนเงินของพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามายังบัญชีส่วนพระองค์ 4.19 ล้านบาท

เมื่อออก พ.ร.บ. นี้แล้วในปี 2479 รัฐบาลไปสอบสวนย้อนหลังพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงโอนทรัพย์สินที่ควรจะเป็นของส่วนกลางของสถาบันฯ มาเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ รัฐบาลจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตในหลวงรัชกาลที่ 7

เรื่องยืดเยื้อมาหลายปี จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 7 สวรรคต ศาลก็มีคำตัดสินให้กระทรวงการคลังชนะคดีและทำการยึดทรัพย์พระองค์ไปขายทอดตลาด หนึ่งในนั้นคือวังสุโขทัยอันเป็นวังส่วนพระองค์ที่ประทับมาก่อนจะขึ้นครองราชย์

ที่ต้องยกกรณีฟ้องร้องพระปกเกล้าฯ ขึ้นมาก็เพื่อจะชี้ว่า พ.ร.บ. ออกมามีผลย้อนหลังการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ข้อหนึ่ง ในเมื่อมีผลย้อนหลัง กฎหมายนี้จึงย้ำถึงหลักการอันหนึ่งก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ หลักการนั้นก็ก็คือพระเจ้าแผ่นดินไม่อาจจะทรงละเมิดทรัพย์ของสถาบันเป็นทรัพย์ส่วนพระองค์ได้

หลักการนี้ย่อมใช้หักล้างข่าวของต่างประเทศที่อ้างมาได้

ไม่เท่านั้น ข่าวต่างประเทศที่อ้างเรื่องอังกฤษอยากจะซื้อวังกับพระแก้วมรกตนั้นยังเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้จะชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์แต่ก็มีความเป็นทรัพย์แผ่นดินด้วย

สมัยก่อนนั้นพระราชทรัพย์ของแผ่นดินกับพระเจ้าแผ่นดินไม่แยกกันต่างหาก จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงแยกทรัพย์แผ่นดินตั้งเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติทำหน้าที่เป็นกระทรวงการคลัง (ส่วนของแผ่นดิน) และตั้งกรมพระคลังข้างที่ดูแลทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงมีเอง ทำเอง รับมาเอง (ทรัพย์ส่วนพระองค์)

กรมพระคลังข้างที่นั้นออกเงินดูแลพระราชวังมาแต่ก่อน หมายความว่าในหลวงทรงใช้เงินส่วนพระองค์ดูแล "บ้านของพระองค์เอง" แต่ในทางปฏิบัติแล้วย่อมจะทรงทราบว่าพระบรมมหาราชวังและพระแก้วมรกตนั้นเป็นทรัพย์ของแผ่นดินด้วย

ดังในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาถวายยอดเพชรประดับอุณาโลมพระแก้วมรกต (รายงานข่าวของ AP ที่อธิบายคลุมเครือคงหมายถึงเพชรเม็ดนี้) ทรงใช้เงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปซื้อหามาเองจะเป็นการ "ข่มเหงราษฎรก็หามิได้ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนนอกจากจํานวนเงินพระคลังซึ่งจะใช้แจกเบี้ยหวัดใช้ ราชการแผ่นดิน"

จะเห็นว่าตังแต่รัชกาลที่ 4 แล้วที่พระเจ้าแผ่นดินทรงแยกแยะของส่วนตัวจากส่วนรวมแม้จะทรงมีอำนาจล้นฟ้าแต่ก็มิได้ทำตามใจชอบ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นเล่า เมื่อพระคลังข้างที่ขัดสน คือเงินส่วนพระองค์เหลือน้อยก็ทรงคิดที่จะกู้เงินจากพระคลังมหาสมบัติด้วยซ้ำ และยังทรงมีพระราชปรารภที่จะเสียภาษีเหมือนอย่างราษฎรทั่วไปอีก นี่เป็นยุคสมบูรณาสิทธิราชย์แท้ๆ แต่ก็ทรงมีวินัยทางการคลังไม่ใช่ทำตามอำเภอใจและทรงปรารถนาที่จะปฏิบัติอย่างทัดเทียมราษฎร ดังที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาเจ้าพระยายมราชว่า 

"บัดนี้ฉันมาไตร่ตรองดูเห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย"

อีกทั้งในรัชกาลที่ 7 ในการสมโภชพระนครอายุครบ 150 ปี ในปี 2475 ได้ทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิสังขรณ์วัดพระแก้ว เงินที่ใช้บูรณะนั้นคณะกรรมการตั้งไว้ 600,000 บาท พระปกเกล้าฯ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท ได้เงินมาจากรัฐบาล (กระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ) 200,000 บาท ที่เหลือโปรดเกล้าฯ ให้ราษฏรช่วยกันทำบุญตามศรัทธา

ลองคำนวณด้วยอัตราเงินเฟ้อของปี 2475 กับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เงิน 600,000 บาทจะเท่ากับ 10 ล้านบาทในทุกวันนี้

จากเงินบูรณะวัดพระแก้วนี้เราจะเห็นว่า เงินบูรณะ 3 ส่วนคือเงินในหลวงหนึ่ง เงินแผ่นดินหนึ่ง และเงินของประชาชนหนึ่ง เห็นสัดส่วนเงินแล้วแสดงถึงความเป็นเนื้อเดียวของสถาบัน รัฐบาล และประชาชน มีหรือที่รัชกาลที่ 7 จะทรงพระทัยแข็งประกาศขายพระแก้วได้

พระราชวังกับพระแก้วมรกตก็เข้าทำนอง the sovereign's public estate ตามคติการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อังกฤษ คือ ไม่ใช่ทั้งของรัฐบาลและไม่ใช่ทั้งทรัพย์ส่วนพระองค์ของกษัตริย์ แต่คนไทยทั้งปวงรู้กันว่าเป็นของใคร

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน