posttoday

เอเชียผนึกกำลังเซ็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

15 พฤศจิกายน 2563

การเจรจาเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมอาเซียนที่ประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 จนลงนามสำเร็จในปีนี้

ประเทศและเขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก 15 แห่งได้จัดตั้งกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน นั่นคือ "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" (RCEP) โดยมีการลงนามในการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคในฮานอย

ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ผู้นำของประเทศ RCEP ต่างพากันยืนอยู่ข้างหลังรัฐมนตรีพาณิชย์ของตนเองซึ่งรับหน้าที่ลงนามในสำเนาข้อตกลงทีละคน จากนั้นก็แสดงสำเนาการลงนามให้กับกล้องให้ทุกคนได้เห็น

"RCEP จะได้รับการให้สัตยาบันโดยประเทศที่ลงนามในไม่ช้าและมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด" เหงียนซวนฟุกนายกรัฐมนตรีเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าภาพในพิธีในฐานะประธานอาเซียนกล่าว

รัฐบาลเวียดนามกล่าวว่า ขนาดเศรษฐกิจของ RCEP จะคิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก 30% ของประชากรทั่วโลกและเข้าถึงผู้บริโภค 2,200 ล้านคน (สมาชิกประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย พม่า นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ด้านกระทรวงการคลังของจีนกล่าวว่าคำมั่นสัญญาของกลุ่มใหม่นี้รวมถึงการยกเลิกภาษีบางส่วนภายในกลุ่มโดยบางส่วนจะยกเลิกในทันทีและกรณีอื่นๆ จะทยอยยกเลิกในช่วง 10 ปี (ทั้งนี้ ยังไม่มีรายละเอียดว่าผลิตภัณฑ์ใดและประเทศใดบ้างที่จะได้รับการลดภาษีทันที)

กระทรวงการคลังของจีนยังประกาศด้วยว่า "เป็นครั้งแรกที่จีนและญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงการลดภาษีทวิภาคีซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์"

แต่ไม่เพียงแค่นั้น ข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่คู่กรณีต่างๆ ในเอเชียตะวันออก คือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พร้อมใจกันมาอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีฉบับเดียวกัน

ด้าน เหลื่อง ห่วง ไถ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการค้าพหุภาคีของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามกล่าวว่า RCEP "จะช่วยลดหรือยกเลิกภาษีสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรและกำหนดกฎเกณฑ์ในการส่งดาต้า"

รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินโดนีเซียกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศที่เข้าร่วมจะให้สัตยาบันข้อตกลงภายภายในสองปีข้างหน้าในจำนวนที่เพียงพอที่จะมีผลบังคับใช้ได้

สำหรับจีนแล้ว การผลักดัน RCEP ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เพราะสมาชิกของ RCEP หลายประเทศยังรวมถึงพันธมิตรของสหรัฐ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังถอนสหรัฐออกจาก "ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" (TPP) ทำให้จีนได้โอกาสในการฟอร์มข้อตกลงใหม่

ส่วนอินเดียถอนตัวจากการเจรจา RCEP เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ผู้นำอาเซียนกล่าวว่ายังพร้อมต้อนรับอินเดียมาเข้าร่วมเสมอ

Photo by Handout / VIETNAM HOST BROADCASTER / AFP