posttoday

วัคซีนโควิด ใครผลิตได้ก่อนคนนั้นรวยอื้อ

10 พฤศจิกายน 2563

เจ้าไหนแพงเจ้าไหนถูก เปิดราคาวัคซีน Covid-19 ที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาด

วัคซีน Covid-19 ได้รับความสนใจจากชาวโลกอีกครั้งหลังจากบริษัทผลิตยาไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค (Pfizer และ BioNTech) ประกาศว่าวัคซีนที่อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ถึง 90% ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปพุ่งขึ้นรับข่าวดีนี้

นอกจากนี้ วัคซีนของเจ้าอื่นก็มีความเคลื่อนไหวในเวลาใกล้เคียงกัน อาทิ กระทรวงสาธารณสุขรัสเซียแถลงยืนยันว่าวัคซีน Sputnik V มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เช่นเดียวกับของไฟเซอร์ แม้จะยังไม่เริ่มทดลองในระยะที่ 3 ก็ตาม ส่วนแอนติบอดีของ Eli Lilly ก็เพิ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA)

เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาหลายบริษัทเริ่มเปิดเผยราคาวัคซีนซึ่งแตกต่างกันไปดังนี้

โมเดอร์นา (Moderna) ตั้งราคาไว้ที่ 32-37 เหรียญสหรัฐ หรือ 975.36-1,127.76 บาท สำหรับการสั่งซื้อจำนวนน้อย โดย สเตฟาน บองเซล ซีอีโอของโมเดอร์นาระบุว่า ราคาจะต่ำกว่านี้หากซื้อจำนวนมาก

บองเซล ยังกล่าวอีกว่า โมเดอร์นากำหนดการตั้งราคาวัคซีน Covid-19 ไว้ 2 ระยะคือช่วงที่โรคกำลังระบาดทั่วโลก (pandemic) โดยราคาจะต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และช่วงที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) แล้ว ราคาจะเป็นไปตามราคาของวัคซีนเชิงพาณิชย์อื่นๆ ซึ่งหมายความว่าราคาอาจสูงขึ้น

จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ทำสัญญาว่าจะผลิตวัคซีน 100 ล้านโดส มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหลังได้รับอนุมัติจาก FDA ซึ่งเฉลี่ยแล้ววัคซีนของจอห์นสันอยู่ที่ 10 เหรียญสหรัฐ หรือ 304.78 บาทต่อโดส

ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค (Pfizer และ BioNTech) สนนราคาโดสละ 19.50 เหรียญสหรัฐ หรือ 594.20 บาท โดยต้องฉีดคนละ 2 โดส โนวาแว็กซ์ (Novavax) สตาร์ทอัพในรัฐแมริแลนด์ของสหรัฐ ราคา 16 เหรียญสหรัฐ หรือ 487.54 บาทต่อโดส

จนถึงตอนนี้ราคาวัคซีน Covid-19 ที่ถูกที่สุดเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการทดสอบขั้นสุดท้าย สนนราคาอยู่ที่ 4 เหรียญสหรัฐ หรือ 121.84 บาทต่อโดส

ซิโนแวค (Sinovac) ของจีนจำหน่ายในบางเมืองเป็นการฉุกเฉินในราคา 60 เหรียญสหรัฐ หรือ 1,825.53 ลาทต่อ 2 โดส ส่วนวัคซีนของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ของจีนอยู่ที่ 145 เหรียญสหรัฐ หรือ 4,416.19 บาทต่อ 2 โดสซึ่งสูงที่สุดในโลก

จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป สำนักข่าวรอยเตอร์สพบว่าสาเหตุที่ราคาวัคซีนของแอสตราเซเนกาต่ำกว่าเจ้าอื่น เป็นเพราะสัญญาซื้อขายวัคซีนของแอสตราเซเนกากับรัฐบาลยุโรปมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดชอบของบริษัทในกรณีที่ผู้ใช้ได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของวัคซีน ขณะที่เจ้าอื่นไม่มีข้อสัญญาลักษณะนี้จึงต้องตั้งราคาสูงกว่า

ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการทดลองระยะที่ 3 10 ตัว ดังนั้นหลังจากนี้มีแนวโน้มว่าหลังการแถลงข่าวของไฟเซอร์ แต่ละบริษัทจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อให้ได้เป็นเจ้าแรกที่ผลิตวัคซีนออกสู่ท้องตลาด เพราะนั่นหมายถึงเงินรายได้มหาศาล ขณะที่ผู้บริโภคอาจมีวัคซีนใช้กันเร็วขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าเมื่อไฟเซอร์ประกาศผลสำเร็จการทดลองวัคซีน รัฐบาลของสหราชอาณาจักรก็แถลงแทบจะในทันทีว่าจะได้รับวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้หากหน่วยงานกำกับดูแลอนุมัติ และอาจจะได้จำนวนรวมทั้งหมดถึง 40 ล้านโดส

ท่าทีแบบนี้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเท่ากับเป็นการจี้ให้บริษัทอื่นๆ ต้องรีบออกมามีปฏิกิริยาตอบสนองกับความสำเร็จของไฟเซอร์ ปรากฏว่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ รีบออกมาประกาศความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เช่น บริษัทอีไล แอนด์ ลิลลี (Eli Lilly & Co.) ได้รับอนุญาตให้ใช้การรักษาด้วยแอนติบอดี้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา ผลก็คือหุ้นของ Lilly (ซึ่งมีฐานอยู่ในอินเดียแนโพลิส) เพิ่มขึ้นมากถึง 5.2% ในการซื้อขายช่วงดึกของวันจันทร์ จนถึงขณะนี้ราคาหุ้นได้เพิ่มขึ้น 8.3% ในปีนี้

ต่อมาบริษัทไบโอเอ็นเทค "เกทับ" บริษัทอื่นๆ ด้วยการประกาศกำหนดราคาวัคซีนให้ต่ำกว่าราคาตลาดโดยกำลังวางแผนที่จะกำหนดราคาสูตร 2 ช็อตให้ต่ำกว่า "อัตราปกติของตลาด" และจะแยกการกำหนดราคาให้ต่างกันระหว่างประเทศหรือภูมิภาค

ไม่ทันไร บริษัทเมดิคาโก (Medicago) ผู้พัฒนายาจากแคนาดากล่าวว่าการทดลองร่วมกันระหว่างวัคซีนและวัคซีนบูสเตอร์ของบริษัทแกลกโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ทำให้เกิดแอนติบอดีต่อต้านไวรัสในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีทั้งหมดในการศึกษาระยะแรก

ต่อมาอีกไล่เลี่ยกัน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเผยว่าที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับบริษัท Thermo Fisher Scientific เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยในการส่งมอบข้อมูลการทดสอบโควิด-19 ซึ่งความร่วมมือนี้จะช่วยให้ทางมหาวิทยาลัยเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจเชื้อได้มากถึง 50,000 ครั้งต่อวัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันหัวหน้าผู้ทดลองวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ดบอกกับสมาชิกสภาของสหราชอาณาจักรว่าวัคซีนไม่น่าจะพร้อมใช้ในช่วงคริสต์มาสปีนี้

แม้แต่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียยังกล่าวว่าวัคซีนป้องกันโควิด -19 ของรัสเซียทั้งหมดได้ผลและในไม่ช้ารัสเซียจะลงทะเบียนการฉีดไวรัสครั้งที่สาม

ความคืบหน้าเหล่านี้เกิดขึ้นในวันที่ 9 - 10 พฤศจิกายน ในช่วงเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมงหลังการประกาศของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคเราคงเห็นแล้วว่ามันมีผลสะเทือนแค่ไหน

ตอนนี้วัคซีนของไฟเซอร์อยู่ในขั้นตอนของการทดลองระยะที่ 3 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.ค. โดยอาสาสมัครครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน และอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอกเป็นน้ำเกลือ แล้วรอให้มีอาสาสมัครติดเชื้อโคโรนาไวรัส ก่อนจะฟันธงว่าวัคซีนป้องกัน Covid-19 ได้หรือไม่

จนถึงขณะนี้มีอาสาสมัครติดเชื้อแล้ว 94 คนจาก 44,000 คน และการทดลองจะดำเนินต่อไปจนมีผู้ติดเชื้อ 164 คน เมื่อถึงจุดนั้นจะนักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์ผลเป็นอันเสร็จสิ้นการทดลอง

นอกจากไฟเซอร์ วัคซีนอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวคของจีน เนื่องจากผลการทดลองค่อนข้างขัดแย้งกัน โดยรัฐบาลบราซิลสั่งระงับการทดลองวัคซีนโคโรนาแวค (Coronavac) โดยอ้างว่าเกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง ทว่าไม่ได้ระบุรายละเอียด และหันไปเจรจากับไฟเซอร์แทน

ทว่า บริษัท ไบโอฟาร์มา (Bio Farma) รัฐวิสาหกิจผลิตยาของอินโดนีเซียกลับบอกว่าการทดลองวัคซีนของซิโนแวคเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า วัคซีนโคโรนาแวคต้องตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิการเมืองในบราซิลระหว่าง ฌูเอา ดอเรีย ผู้ว่าการเมืองเซาเปาลู ที่สนับสนุนวัคซีนนี้และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาลู ที่มีท่าทีไม่ชอบจีนเมื่อเดือนที่แล้วผู้นำบราซิลเคยเอ่ยปากว่าจะไม่ซื้อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคของจีน และเรียกวีคซีนของจีนว่าวัคซีนจาก “ประเทศอื่น”

ผู้นำบราซิลจึงไม่ใช่พวกที่ "ได้หน้าแล้วลืมหลัง" เพราะเขาไม่ชอบจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเขาสลัดทิ้งวัคซีนจากจีนในเวลาประจวบเหมาะกับบริษัทวัคซีนของสหรัฐประสบความสำเร็จพอดี 

หากท่าทีของผู้นำบราซิลยังไม่ชัด ก็ขอให้ดูท่าทีของผู้นำญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุงะที่หลังจากไฟเซอร์ประกาศความสำเร็จ เขาก็ได้กล่าวย้ำถึงคำมั่นสัญญาของเขาที่จะตุนวัคซีนป้องกันโควิด -19 ให้เพียงพอสำหรับประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่นภายในครึ่งแรกของปีหน้า

ขณะที่อินโดนีเซียยังคงมั่นคงกับซิโนแวค เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ยังเชื่อมั่นกับซิโนแวคของจีน ดูเหมือนว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการปักหมุดขายวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าราคาของมันจะ "แพงโอเวอร์"

ในอนาคตเราอาจเห็นโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายวัคซีนจีน/รัสเซีย กับฝ่ายวัคซีนสหรัฐ/ยุโรป

ยกเว้นประเทศไทยที่พยายามพัฒนาวัคซีนของเราเอง ซึ่งเป็นความท้าทายที่หากทำสำเร็จจะไม่เพียงช่วยให้ไทยมีวัคซีนของเราเองโดยที่ไม่ต้องรอความกรุณาจากใครแล้ว เรายังสามารถแหวกตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ด้วย 

Photo by SILVIO AVILA / AFP