posttoday

สิ้นตำนานแห่งซัมซุง บอสใหญ่ผู้พลิกโฉมเกาหลีใต้

25 ตุลาคม 2563

เขาคือผู้ปั้นดินให้เป็นดาว ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเทคโนโลยีชั้นนำของโลก

อี ก็อน-ฮี นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ประธานกลุ่มซัมซุงกรุ๊ปได้เสียชีวิตลงแล้วในวัย 78 ปี เขาเป็นผู้สืบทอดบริษัทจากบิดาคือ อี บย็อง-ชอล และเปลี่ยนบริษัทซัมซุงที่แต่ก่อนเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกในเกาหลีใต้ให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก

เกาหลีใต้เคยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย จนกระทั่งต้องซวนเซแทบล้มจากวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 ซึ่งทำให้ "เสือ" หลายๆ ตัว กลายเป็นแมวในพริบตา ทว่า ผ่านไปไม่ถึง 10 ปีให้หลัง เกาหลีใต้กลับมาผงาดอีกครั้ง แล้วก้าวสู่ฐานะประเทศพัฒนาแล้วอย่างเต็มตัว

ความสำเร็จของเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งมาจากความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดมหึมาที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกสาขาและทุกมิติชีวิตผู้บริโภค กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เรียกว่า "แชบอล" (Chaebol) นับเป็นเสาหลักของประเทศพอๆ กับที่รัฐบาลเป็นเสาหลักทางการเมือง

หนึ่งมหาอำนาจในกลุ่ม ""แชบอล" คือกลุ่มบริษัทซัมซุง ที่บริหารโดยคน "ตระกูลอี" มาสามรุ่นแล้ว และปัจจุบันกุมบังเหียนโดย อี แจ-ยอง ลูกชายของ อี ค็อน-ฮี ซึ่งเป็นลูกชายคนที่สามของอี บย็อง-ชอล ผู้ก่อตั้ง ซึ่งในวันนี้ (25 ตุลาคม 2020) อี ค็อน-ฮี ได้เสียชีวิตลงแล้ว

ชื่อของอี ค็อน-ฮี เคยติดอันดับหนึ่งมหาเศรษฐีของเกาหลีใต้หลายปีติดต่อกัน มีเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นที่หลุดจากอันดับคนรวยที่สุดในประเทศเพราะกรณีอื้อฉาว แต่ก็สามารถกลับมาผงาดสู่อันดับ 1 อีกครั้งอย่างเหลือเชื่อ ราวกับนกฟีนิกซ์ที่ดับสูญและถือกำเนิดใหม่อยู่ตลอดกาล

ทรัพย์สินคร่าวๆ ในความครอบครองของอี ค็อน-ฮีและลูกชายของเขา สูงถึง 40,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่นับทรัพย์สินของคนในครอบครัวและญาติมิตรที่ควบคุมตำแหน่งสำคัญๆ ในเครือบริษัทซัมซุง รวมแล้วช่วยให้ตระกูลอีแห่งซัมซุง เป็นตระกูลที่รวยที่สุดในเกาหลีและเป็นตระกูลที่รวยที่สุดตระกูลหนึ่งในโลกจากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes

รวยไม่รวย พิจารณาได้จากเครือญาติที่ล้วนแต่กุมกิจการใหญ่ของประเทศเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นลูกชายของพี่คนโตเป็นผู้บริหารของ CJ Group ธุรกิจอาหารและบันเทิงชั้นนำของประเทศ ลูกชายคนที่สองของพี่ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ Saehan Media เป็นธุรกิจสื่อชั้นนำเช่นกัน ส่วนพี่สาวคนรองคุมบริษัท Hansol Group ผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และยังมีเครือญาติอีกมากที่กุมหัวใจของเกาหลีใต้เอาไว้

อี ค็อน-ฮี เกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 1942 เป็นลูกชายคนที่ 3 ของอี บย็อง-ชอล ผู้ก่อตั้งเครือบริษัทซัมซุง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ของสหรัฐ แต่ไม่สำเร็จการศึกษา ทว่า สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งยังมีทักษะการบริหารที่เยี่ยมยอด

แม้รากฐานความสำเร็จของอี ค็อน-ฮีวางไว้โดยบิดาผู้ก่อตั้งเครือบริษัทซัมซุง แต่ความสำเร็จของบริษัทและความต่อเนื่องในการสืบทอดธุรกิจล้วนเกิดขึ้นจากความสามารถและวิสัยทัศน์ของเขาเอง

เมื่อช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ซัมซุงยังเป็นเพียงบริษัทที่เน้นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมในเชิงปริมาณแต่คุณภาพไม่สู้ดีนัก ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีใครคาดคิดว่าในอนาคต จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเชิงปริมาณ และไม่มีใครคาดหวังว่าเกาหลีใต้และเครือบริษัทกลุ่มแชบอลจะต้องสูญเสียตำแหน่งดังกล่าวให้กับจีน

แต่อี ค็อน-ฮีการณ์ไกล ประกาศปรับเปลี่ยนทิศทางการประกอบธุรกิจของซัมซุงแบบถอนรากถอนโคน จากอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณแต่คุณภาพต่ำ มุ่งสู่บริษัทที่เน้นนวัตกรรมล้ำยุค ก้าวสู่ธุรกิจที่ก้าวหน้าทัดเทียมกับโลกตะวันตก จนวันนี้ ซัมซุงกลายเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมล้ำหน้า และมีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง

จนกระทั่งในปี 2007 นิตยสาร Fortune ได้จัดอันดับให้ซัมซุงก็ทำสำเร็จเมื่อกลายเป็นหนึ่งใน 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอี ค็อน-ฮีและของซัมซุงต้องสะดุดลง เมื่อถูกฟ้องร้องในคดีติดสินบนเจ้าพนักงานและหนีภาษี ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ กับทั้งถูกปรับเป็นเงินถึง 109 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังต้องลาออกจากการเป็นผู้บริหารของซัมซุงไปอย่างน่าเสียดาย นับเป็นจุดตกต่ำที่สุดของผู้บริหารและบริษัทที่กำลังมีอนาคตไกล

แต่คล้อยหลังเพียงปีเดียว รัฐบาลเกาหลีใต้กลับประกาศให้อภัยโทษอี ค็อน-ฮีเป็นกรณีพิเศษ โดยให้เหตุผลว่าต้องการความสามารถและความกระตือรือร้นของเขาในการผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 เพราะที่ผ่านมา อี ค็อน-ฮีเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้มาโดยตลอด

แม้ว่าทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) จะสั่งห้ามไม่ให้ลี ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฯ ยุ่งเยี่ยวกับทาง IOC เป็นเวลา 5 ปี แต่อี ค็อน-ฮีและรัฐบาลเกาหลีใต้ยังเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

จนกระทั่งเมื่อปี 2012 อี ค็อน-ฮีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารของซัมซุงอีกครั้ง ทำให้บริษัทเริ่มเข้าที่เข้าทางจนกระทั่งออกนวัตกรรมใหม่ๆ รวดเร็วเหมือนติดจรวด ไม่เพียงเท่านั้น ในปีนี้ความพยายามของลีและเกาหลีใต้ก็สัมฤทธิผล เมื่อเมืองพยองชางได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018

แต่เขาประสบกับอาการหัวใจวายในปี 2014 จนต้องรามือจากตำแหน่งแล้วยกให้ลูกชายคืออี แจ-ยองรับตำแหน่งแทน ในเวลานั้นซัมซุงเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของโลกไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังเป็นมหาอำนาจระดับโลกในด้านเซมิคอนดักเตอร์และจอ LCD ในปัจจุบัน ถือเป็นความสำเร็จที่ได้มาจากวิสัยทัศน์ของอี ค็อน-ฮี

อี ค็อน-ฮีเป็นคนโลว์โปรไฟล์ มักเก็บตัวพื้นที่ส่วนตัวของเขาในใจกลางกรุงโซล ไม่แม้แต่จะเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของบริษัท และยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับอาการของเขาหลังจากล้มป่วย ทำให้เขาได้รับฉายาว่า "ราชาฤาษี"

ปัจจุบัน ผู้บริหารซัมซุงยังพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวเหมือนรุ่นพ่อ โดย อี แจ-ยอง ลีถูกจำคุกเป็นเวลาห้าปีในปี 2017 หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาติดสินบนและความผิดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับอดีตประธานาธิบดีพักกึนเฮก่อนที่จะอุทธรณ์จนพ้นข้อหาหลักและได้รับการปล่อยตัวในอีกหนึ่งปีต่อมา แต่ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาใหม่

ความสำเร็จของอี ค็อน-ฮี ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการก่อตั้งซัมซุงโดยพ่อของเขา และอาจกล่าวได้ว่ามันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการสืบทอดกิจการที่สร้างจากรุ่นพ่อให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นแบรนด์ดังติดอันดับโลก

เป็นคำยืนยันว่า แม้การ "สร้างกิจการ" นั้นง่ายกว่าการ "รักษา" แต่การรักษากิจการนั้นยังง่ายกว่าการผลักดันให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ลีคอนฮีทำสำเร็จทุกอย่างที่กล่าวมา

Photo by Jung Yeon-je / AFP