posttoday

โลกเสี่ยงวุ่นวาย เมื่อมหาอำนาจหันมาสะสมขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

23 ตุลาคม 2563

ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงทำให้เกิดความกังวลว่าอาวุธที่ “ยังไม่มี” ระบบต่อต้านขีปนาวุธใดๆ ในปัจจุบันสกัดกั้นได้ จะถูกนำมาใช้เสริมศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์

อาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไฮเปอร์โซนิกเป็นเทคโนโลยีทางทหารล่าสุดที่บรรดาประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีน รัสเซีย รวมถึงอินเดียให้ความสนใจจนนำมาสู่ความกังวลว่าประเทศเหล่านี้จะเกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธที่ถูกมองว่าเป็นตัวชี้วัดสถานะทางยุทธศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาสำเร็จ

คุณสมบัติที่โดดเด่นของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงคือ มีความเร็วตั้งแต่มัค 5 ขึ้นไป หรือเร็วกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่า หรือเร็วกว่า 1.6 กิโลเมตรต่อวินาที และยังมีทิศทางการบินเป็นเส้นซิกแซก ทำให้คาดเดาทิศทางการโจมตีเป้าหมายได้ยากแม้จะใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับก็ตาม และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีระบบต่อต้านขีปนาวุธใดทำลายขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้เลย

โลกเสี่ยงวุ่นวาย เมื่อมหาอำนาจหันมาสะสมขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

แตกต่างจากทิศทางของขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่แม้จะมีความเร็วเหนือเสียงเช่นกัน แต่การที่เคลื่อนที่ในวิถีพาราโบลา หรือวิถีโค้ง ทำให้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับและคำนวณวิถีได้ก่อนที่ขีปนาวุธจะถึงเป้าหมาย และยังมีเวลาเหลือเฟือให้ฝ่ายตรงข้ามส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธออกมาทำลาย

หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกเป็นการรวมความเร็วของขีปนาวุธข้ามทวีป และความสามารถในการควบคุมทิศทางและระดับบิน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บินเชิดบินดิ่งได้ของขีปนาวุธร่อนเอาไว้ด้วยกัน

ความเร็วและความสามารถในการหลบหลีกของขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกจึงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเชิงกลยุทธ์ในกลุ่มประเทศมหาอำนาจ จึงไม่แปลกที่ทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย หรือแม้แต่อินเดียพากันพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอย่างเร่งด่วน

จีนเป็นประเทศแรกที่โชว์ให้ชาวโลกได้เห็นว่าตัวเองมีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกแล้ว โดยถือโอกาสครบรอบ 70 ปีวันชาติเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ปีที่แล้วเปิดตัวขีปนาวุธตงเฟิง-17 (DF-17) ที่มีความเร็วเหนือเสียงประมาณ 5 เท่า และ DF-41 ที่มีรายงานว่ามีความเร็วถึงมัค 25 หรือราว 8.575 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถถล่มสหรัฐได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที รวมทั้ง DF-100

บทความเรื่อง China New DF-100 Missile : Design to Kill U.S. Navy Aircraft Carriers? (ขีปนาวุธ DF-100 ของจีนถูกออกแบบให้โจมตีเรือรบของสหรัฐ? )โดย เซบาสเตียน โรบิน คาดว่าจีนอาจจะใช้ขีปนาวุธ DF-100 โจมตีเป้าหมายทางทะเลซึ่งก็คือ เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ

ขณะที่สถาบันวิจัยด้านยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียเคยประเมินไว้ว่า ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของจีนมีขีดความสามารถพอที่จะกวาดล้างที่ตั้งทางทหาร หน่วยบัญชาการ หรือเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐภายในภูมิภาคแปซิฟิกได้ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที

ถัดจากจีนไม่นานก็เป็นคิวของรัสเซีย ในยุคของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน รัสเซียคิดค้นและพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงมาประจำการในกองทัพเมื่อปลายปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธ Kinzhal ความเร็วระดับมัค 10  ขีปนาวุธ Zircon และโดยเฉพาะขีปนาวุธ Avangard ที่ติดตั้งอยู่บนภูเขาอูราล ซึ่งมีความเร็วเหนือเสียงถึง 27 เท่า (9.261 กิโลเมตรต่อวินาที)

ขีปนาวุธของรัสเซียมีทั้งความเร็ว ความสามารถในการหลบหลีกระบบตรวจจับขีปนาวุธในระดับที่ “ไม่มีใครทำลายได้” จนทำให้รัสเซียผงาดเป็นผู้นำในด้านขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก และอาจทำให้สหรัฐมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ได้

โลกเสี่ยงวุ่นวาย เมื่อมหาอำนาจหันมาสะสมขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก

ขณะที่สหรัฐเพิ่งกลับมาพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอีกครั้งในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา สั่งยุติไป ทำให้สหรัฐยังตามหลังจีนและรัสเซียที่นำขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกมาประจำการในกองทัพแล้ว แต่ของสหรัฐคาดว่าจะพร้อมประจำการราวปี 2023

ขณะนี้ข้อมูลขีปนาวุธของสหรัฐยังมีไม่มาก เพียงแต่หลุดออกจากปากทรัมป์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าสหรัฐกำลังพัฒนาสุดยอดขีปนาวุธ (Super Duper Missile) ที่มีความเร็วมัค 17 ซึ่งเร็วกว่าขีปนาวุธโทมาฮอว์กที่มีอยู่ในกองทัพสหรัฐราว 10 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีอินเดียที่ร่วมมือกับรัสเซียพัฒนา Brahmos II ซึ่งคืบหน้าช้ากว่าที่คาดไว้ ส่วนออสเตรเลียจับมือกับสหรัฐพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกความเร็วมัค 8 ขณะที่ฝรั่งเศสคาดว่าจะนำขีปนาวุธร่อนไฮเปอร์โซนิกมาใช้ภายในปี 2022 และญี่ปุ่นคาดว่าจะมีจรวดร่อนไฮเปอร์โซนิกในปี 2026 ตามบันทึกของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐประจำเดือน ก.ค. 2019

ในเดือน ก.พ.ปีหน้าข้อตกลงจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (START) ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียกำลังจะหมดอายุลง และขณะนี้แม้ว่าจะมีสัญญาณดีว่าสหรัฐและรัสเซียอาจจับมือกันลงนามขยายสัญญาออกไปอีก 1 ปี แต่จนกว่าจะถึงวันจรดปากกาลงนามชาวโลกก็ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะหากทั้งสองประเทศฉีกสัญญาขึ้นมา โลกจะกลับเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันกันสะสมอาวุธอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังจากยุคสงครามเย็น

เมื่อถึงเวลานั้นขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอาจถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในทางแท็กติกเพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรอง โดยประเทศที่มีแสนยานุภาพมากกว่าย่อมมีอำนาจต่อรองสูง มีแนวโน้มจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว

ทั้งอเล็กซี ราคมานอฟ ประธานบรรษัทผู้ต่อเรือรัสเซีย และคอลลิน โก๊ะ นักวิชาการจากสถาบันยุทธศาสตร์และการป้องกันศึกษาในสิงคโปร์เห็นตรงกันว่า ปูตินจะใช้ความได้เปรียบที่รัสเซียมีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก Avangard เพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาข้อตกลง START กับสหรัฐ

“มันจะส่งผลกับการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ หากถึงวันที่มหาอำนาจทั้งสามประเทศต่างมีอาวุธไฮเปอร์โซนิก นานาชาติอาจเรียกร้องให้ทำสัญญาควบคุมอาวุธฉบับใหม่เพื่อควบคุมการใช้และการพัฒนาเพิ่ม”

ทั้งสหรัฐและรัสเซียต่างต้องการให้จีนร่วมลงนามในข้อตกลงลดอาวุธนี้ด้วย แต่จีนไม่เอาด้วย เนื่องจากอาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของจีนยังเป็นรองทั้งสหรัฐและรัสเซีย โดยรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ 6,375 ลูก ซึ่งรวมถึงส่วนที่ยังไม่ได้ติดตั้งประจำการ สหรัฐมี 5,800 ลูก ในขณะที่จีนมีเพียง 320 ลูก

และหากสหรัฐ หรือจีน หรือรัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ร่วมกับขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกคงยากที่จะมีใครต่อกรได้ ความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจคงทวีความรุนแรงขึ้น ผลสุดท้ายคำว่าสันติภาพอาจถูกลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์