posttoday

สื่อนอกจับตา ไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

15 ตุลาคม 2563

สื่อต่างประเทศเกาะติดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงสลายการชุมนุมในประเทศไทย

สำนักข่าวเอเอฟพี และรอยเตอร์ส รายงานว่าความตึงเครียดปะทุขึ้นเมื่อวาน (14 ตุลาคม) เนื่องจากการชุมนุมประท้วงในระหว่างขบวนเสด็จซึ่งเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลไม่มีท่าทีอ่อนโยนและกล่าวว่าพวกเขาต้องเผชิญกับกระบวนการทางกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงห้ามเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ด้านเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงโดยรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงต้องการขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผู้ชุมนุมวัย 54 ปีคนหนึ่งที่คร่ำหวอดในการประท้วงมานับสิบปีให้สัมภาษณ์ว่า "เรายังไม่สามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ แต่จะต่อสู้ต่อไปแม้ว่าเราจะเสี่ยงชีวิตก็ตาม"

สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นเอ็นเอชเค รายงานว่าเจ้าหน้าที่ 900 นายเคลื่อนพลในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีเพื่อกวาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมที่ปักหลักนอนค้างเมื่อคืนวานให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้าเนื่องจากมีการประกาศในขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับ ตำรวจวิ่งเข้ามาขวางและบอกให้พวกเขาเดินหรือนั่งลงขณะที่มีผู้ชุมนุมบางคนเห็นว่ามีแก๊สน้ำตา

ซีเอ็นเอ็น รายงานว่าประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในกรุงเทพมหาครในวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 4.00 น. โดยรัฐบาลกล่าวว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยดังนั้นการชุมนุมในครั้งนี้ไม่นับว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งแต่งกายสีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์ โดยผู้ให้สัมภาษณ์วัย 65 ปีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่มเยาวชนผู้ชุมนุมประท้วงควรกลับบ้านและตั้งใจเรียน เขาควรรู้ว่าประเทศไทยมี 3 เสาหลักคือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ขณะที่กลุ่มเยาวชนกล่าวว่ามีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงานรวมตัวกันอย่างสงบและไม่ได้เริ่มความรุนแรงใดๆ แต่รัฐบาลกำลังพยายามกำจัดผู้ที่เรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าพวกเขา อนาคตที่มีความเสมอภาคและไม่มีความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป 

บีบีซี รายงานว่าเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีตำรวจจับกุมนักเคลื่อนไหวหลายคนรวมทั้งแกนนำประท้วง และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านโทรทัศน์ของรัฐบาล ทั้งนี้มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหาร แต่การประท้วงระลอกใหม่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หลังศาลสั่งยุบพรรคฝ่ายค้านเพื่อประชาธิปไตย

สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่าไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีเพื่อหยุดการประท้วง ขณะจับกุมผู้นำการประท้วงก่อกวนเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการประท้วงดังกล่าวผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อความพยายามในการยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาทำให้จำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน"ขั้นรุนแรง"ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น

ส่วนสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงวางแผนการชุมนุมใหม่หลังนายกรัฐมนตรีประการสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครเพื่อสลายการชุมนุม โดยการประท้วงไทยได้รับแรงผลักดันท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจส่งผลกระทบต่อแผนการของรัฐบาลที่กำลังจะเปิดการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนนี้

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และดัชนีหุ้น SET Index ปรับตัวลง 1.1% ส่งผลให้ผลขาดทุนในปีนี้เป็น 21%

Mingze Wu ผู้ค้าสกุลเงินที่ StoneX Group ในสิงคโปร์ เผยว่าสถานการณ์ไม่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการประท้วงบานปลาย ผู้ลงทุนอาจย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างแน่นอน