posttoday

ทำไมหนี้ครัวเรือนสวิตเซอร์แลนด์สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่าแต่ยังไร้ปัญหา

03 ตุลาคม 2563

สวิตเซอร์แลนด์มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในโลกที่ 133.60% ต่อจีดีพี ขณะที่ของไทยอยู่ที่ 83.8%

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่าหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งแตะ 83.8% ต่อจีดีพี ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี สวนทางกับเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19

และเมื่อเทียบสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนแล้วก็น่าตกใจไม่แพ้กัน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือน 21,870,960 ครัวเรือน มีรายเฉลี่ยได้ครัวเรือนละ 26,371 บาทต่อเดือน หรือปีละ 316,452 บาท และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 มีสินเชื่อในระบบที่ปล่อยให้กับครัวเรือนจำนวน 13,479,196 ล้านบาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 616,306 บาท

เมื่อคำนวณแล้วสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนของไทยจึงเท่ากับ 195% ซึ่งนับว่าสูงมากและอาจสูงกว่านี้หากรวมหนี้นอกระบบด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในหลายปีที่ผ่านมา กว่าหนึ่งในสามของคนไทยมีภาระหนี้สูง และส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีหนี้นานตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ และมีหนี้จนแก่ และ 84% ของครัวเรือนก็ยังพึ่งพาหนี้จากสถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบเป็นสัดส่วนสูง

ภาระหนี้ที่สูงได้กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน และทำให้ครัวเรือนไทยขาดภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ วิกฤต Covid-19 ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางดังกล่าว

ในระดับโลกประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมักจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โดยสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในโลก

จากข้อมูลของ Trading Economics พบว่า หนี้ครัวเรือนของสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นจาก 132% ต่อจีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 133.60% ต่อจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเห็นตัวเลขสูงกว่าของไทยเกือบ 2 เท่าหลายคนอาจคิดว่าเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์กำลังมีปัญหาใหญ่อันเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงลิบ เพราะรายงานของธนาคารโลกระบุว่า หากหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 77% จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงในระยะยาว

แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม

ข้อมูลจากประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ และประเทศพัฒนาแล้วชี้ชัดว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงไม่ได้เกิดจากความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือการขาดวินัยทางการเงินอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย และที่สำคัญคือ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 100% ของจีดีพีไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแต่อย่างใด

อย่างกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะพุ่งสูงกว่า 100% ต่อจีดีพีมาตั้งแต่ปี 2000 และขยับขึ้นมาจนถึง 133.60% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังไม่พัง ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาหนี้เสีย เศรษฐกิจยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ทว่า ความแตกต่างของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้คืน และความแตกต่างของรายได้ต่อหัวของประชากร

ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้ต่อหัวสูง คนสวิสมีรายได้ต่อหัวที่ 79,406.70 เหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้ต่อหัวของไทยอยู่ที่ 6,502.60 เหรียญสหรัฐ มีเทียบสัดส่วนแล้ว รายได้ต่อปีของคนไทยคิดเป็นเพียง 8.19% ของรายได้ต่อปีของคนสวิสเท่านั้น

ดังนั้น สวิตเซอร์แลนด์จึงมีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเกิน 100% โดยที่ยังไม่เดือดร้อนกับระบบเศรษฐกิจ เพราะประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้คืน ขณะที่ไทย เมื่อหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเริ่มแตะ 80% ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อแตะเบรกการปล่อยเงินกู้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อไม่ให้คนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้น

แล้วทำไมสวิตเซอร์แลนด์จึงมีหนี้ครัวเรือนสูง

ปัญหานี้เกิดจากการที่ธนาคารแห่งชาติสวิสดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐเมื่อปี 2008  ทำให้ดอกเบี้ยของสวิตเซอร์แลนด์ลดลงต่อเนื่อง จนติดลบในช่วงปลายปี 2014 กระทั่งถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลดลงไปอยู่ที่ลบ 0.75%

อัตราดอกเบี้ยลบ 0.75% หมายความว่า ธนาคารกลางจะคิดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินฝากหรือเงินสำรองส่วนเกินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดังกล่าวไปปล่อยเป็นสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน เช่น หากธนาคารพาณิชย์นำเงินไปฝากกับธนาคารกลาง 1 ล้านฟรังก์สวิส เมื่อครบปีธนาคารพาณิชย์จะได้เงินคืน 992,500 เนื่องจากต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารกลาง 0.75%

เมื่อรวมกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับต่ำ และระบบภาษีที่สามารถนำดอกเบี้ยที่เกิดจากการจำนองและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอสังหาริมทรัพย์มาหักลดหย่อนได้ ก็ทำให้ครัวเรือนของสวิตเซอร์แลนด์กู้เงินซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยหนี้ส่วนนี้อยู่ที่ราว 75-97% ของหนี้ทั้งหมด จนตอนนี้หนี้สินครัวเรือนของสวิตเซอร์แลนด์มีอัตราสูงที่สุดในโลก

ทว่าอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลของสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจาก สินทรัพย์ทางการเงินของครัวเรือนสวิสยังมีมูลค่ามากกว่าหนี้ อัตราการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยยังค่อนข้างต่ำ (ราว 35%) และอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ยังคงมาตรฐานในการพิจารณาสินเชื่อค่อนข้างเข้มงวด