posttoday

ตอบทุกข้อสงสัย ลาวได้อะไรจากทางรถไฟจีน-ลาว?

14 ตุลาคม 2563

“ทางรถไฟจีน-ลาว” หนี่งโอกาสของประเทศไร้ทางออกสู่ทะเลหรือกับดักหนี้ที่จะทำให้ต้องเป็นเบี้ยล่างจีน?

ทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น หรือ ทางรถไฟสายจีน-ลาว เป็นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างด่านบ่อหาน เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา ประเทศจีน กับประเทศลาวที่บ่อเต็น ผ่านเมืองหลวงพระบางและสิ้นสุดที่เวียงจันทน์ ซึ่งจะเป็นทางรถไฟสายแรกในประเทศลาวที่จะเชื่อมลาวมีหนทางออกสู่ทะเล

รัฐบาลลาวหวังว่าเมื่อโครงการรถไฟจีน-ลาวเสร็จสมบูรณ์จะช่วยทำให้ประเทศลาวเป็นประเทศที่ทรงพลังมากขึ้น ช่วยพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และนำความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมาสู่ลาวได้

โดยทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนลาวจากแผ่นดินไร้ทางออกเป็นแผ่นดินเชื่อมแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออกสู่ตลาดระหว่างประเทศ

หากลาวมีพรมแดนติดกับจีน ไทย เวียดนาม ตระเตรียมความพร้อมและบริการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถตักตวงผลประโยชน์จากทางรถไฟได้ดียิ่งขึ้น

ดร.สุพัน แก้วมีไซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนงานและการลงทุนแห่ง สปป. ลาวกล่าวว่าการส่งออกของลาวมีความสามารถทางการแข่งขันน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากต้นทุนการขนส่งอยู่ในระดับสูง ส่วนต้นทุนการผลิตเทียบเท่าสินค้าไทยที่ส่งขายในจีนแล้ว

ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ลาวพากับขบคิดว่าลาวควรจะผลิตสินค้าอะไร และจะดำเนินบทบาทตัวกลางกระจายสินค้าในภูมิภาคอย่างไรเมื่อทางรถไฟเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการ

ลาวต้องวางแผนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะเอื้อต่อการหลั่งไหลของสินค้าและผู้มาเยือน ต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าและบริการขนส่งให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกลุ่มบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนาโครงการการท่องเที่ยว และกระตุ้นกลุ่มผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุนภาคเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก

ประชาชนลาวส่วนหนึ่งมองว่ารถไฟความเร็วสูงสายแรก อุโมงค์ที่ใหญ่และยาวที่สุดของประเทศกำลังสร้างความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศลาวและจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น

แม้จะดูเหมือนว่าทางรถไฟสายนี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศลาว แต่ในทางกลับกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่าลาวจะต้องเผชิญกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมหาศาล อีกทั้งยังต้องมีการชดเชยที่เพียงพอให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

Asia Times รายงานว่าลาวกำลังเป็นเหยื่อของกับดักหนี้สินของจีนรายล่าสุด โดยการสร้างรถไฟมิตรภาพจีน-ลาว มูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐทำให้ลาวตกเป็นเหยื่อของกับดักหนี้ในยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน

โดยลาวได้กู้ยืมเงินจำนวนมากจากจีนเพื่อลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งค่ารถไฟราว 60% ได้รับการสนับสนุนจากเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน ส่วนที่เหลืออีก 40% มาจากบริษัทที่ร่วมลงทุน ประกอบด้วยบริษัทจีนสามแห่ง ซึ่งถือหุ้น 70% ในขณะที่รัฐวิสาหกิจของลาวมีสัดส่วนที่เหลือ 30%

ทั้งนี้รัฐบาลลาวได้จัดสรรงบประมาณของประเทศจำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ และกูเพิ่มอีก 480 ล้านเหรียญสหรัฐจากประเทศจีน โดยกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาวลดลงต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งน้อยกว่าเงินที่จะใช้ชำระหนี้ประจำปีของประเทศ

ส่งผลให้กระทรวงการคลังของลาวต้องขอให้จีนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งประเทศต่างๆ ถูกกดดันให้ทำสัมปทานและถูกริดรอนอธิปไตยหากผิดนัดชำระหนี้กับจีน

นอกจากนี้รอยเตอร์สยังรายงานว่ารัฐบาลลาวพร้อมที่จะยกระดับการควบคุมส่วนใหญ่ของโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติให้แก่บริษัท ไชน่า เซาเทิร์น พาวเวอร์ กริด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกวางโจว

ทั้งนี้การที่จีนเข้าครอบครองภาคไฟฟ้าของลาวแทนการชำระหนี้ได้แสดงให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเห็นถึงความเสี่ยงจากกับดักหนี้ BRI เมื่อต้องต้านทานแรงกดดันของจีนและปกป้องเอกราชทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่าประชาชนส่วนหนึ่งจะเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวในขณะเดียวกันก็ยังมีชาวลาวอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยโดยมีความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจและขอบเขตเศรษฐกิจที่กำลังถูกครอบงำโดยจีน

โดยมองว่าประชาชนลาวส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟดังกล่าวซึ่งจะทำให้ลาวเสียเปรียบในขณะที่จีนอาจได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้มากกว่า

นอกจากนี้ในการดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์และสร้างทางรถไฟในประเทศลาวยังต้องสร้างถนนตัดผ่านป่าไม้และขุดอุโมงค์ทะลุภูเขาหลายลูกอีกด้วย ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักต่อประเทศที่ "เขียว" ที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย