posttoday

"รามสูร" ฐานลับทรมานศัตรูอเมริกาในไทย

30 กันยายน 2563

ในนามประชาธิปไตย สหรัฐจึงใช้แผ่นดินไทยเพื่อสอดแนมศัตรูและทรมานศัตรูที่นี่

เหตุการณ์ครั้งสำคัญ 2 เหตุการณ์ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่หนึ่งซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องได้ สถานที่แห่งนั้นไม่ใช่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างที่รู้กัน ไม่ใช่สนามหลวง หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เป็นค่ายทหารที่มีชื่อว่า "ค่ายรามสูร"

ค่ายรามสูรตั้งอยู่ในอ.เมือง จ.อุดรธานีในสมัยสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐได้มาตั้งสถานีเรดาร์เพื่อสอดแนมฝ่ายตรงข้ามคือจีนและเวียดนาม ค่ายแห่งนี้มีเครื่องมือสื่อสารและการข่าวทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกถึงกับคุยกันว่า "ได้ยินกระทั่งเสียงเข็มหล่นลงพื้นในพนมเปญ" แต่มันปิดลับเสียจนเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณฐานลับ

ในช่วงนั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยกระแสความไม่พอใจเผด็จการเป็นทุนเดิมบวกกับกระแสต่อต้านอเมริกันที่มาใช้แผ่นดินไทยเพื่อทำสงคราม ทำให้นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนต่อต้านกองทัพอเมริกันในไทย

ขบวนการนักศึกษาประสบความสำเร็จในที่สุดในการโค่นล้มจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้เกิดบรรยากาศการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายซ้ายในประเทศไทย แต่ค่ายรามสูรก็ยังเป็นหนามยอกอกของขบวนการนักศึกษาประชาชน เพราะมันยังคงถูกสหรัฐใช้เป็นฐานลับต่อไป จนเกิดกระแสเรียกร้องให้พวกอเมริกันออกไปจากค่ายรามสูร

ในปี 2519 รัฐบาลและนักการเมืองยุคนั้นพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะยืนยันกับนักศึกษาว่าค่ายรามสูรไม่มีอุปกรณ์สอดแนมของพวกอเมริกันแล้ว แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็พลิกผัน เมื่อการต่อต้านค่ายรามสูรกลายมูลเหตุหนึ่งให้ฝ่ายชาตินิยมและบางกลุ่มในกองทัพไทยตอบโต้ขบวนการนักศึกษาประชาชนหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยกล่าวหาว่าพวกนักศึกษาเป็น "สมุนเวียดนาม" และ "ไม่รักชาติ" เพราะค่ายรามสูรมีประโยชน์กับไทย

รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากกองทัพที่ยอมอ่อนข้อให้นักศึกษาด้วยการไม่อนุญาตให้สหรัฐใช้ค่ายรามสูร พวกนายพลในกองทัพกดดันให้ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชให้อำนาจกองทัพในการเจรจากับฝ่ายสหรัฐแทนที่จะให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่มีนายพิชัย รัตตกุลเป็นรัฐมนตรี

รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากไล่อเมริกันออกไปจากค่ายรามสูรกองทัพก็จะไม่พอใจ หากไม่ไล่อเมริกันออกไปนักศึกษาและปัญญาชนก็จะโจมตี และการตัดสินใจที่ไม่ถูกยังทำให้ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในการต้านทานพวกคอมมิวนิสต์

หลังจากที่สถานการณ์ตึงเครียดมานานเดือน กรณีค่ายรามสูรก็กลายเป็นหนึ่งในชนวนเหตุให้เกิด "ขวาพิฆาตซ้าย" ในที่สุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รามสูรที่เคยขว้างขวานใส่ "ศัตรู" นอกประเทศไทย ก็กลายเป็นสายฟ้าฟาดลงในไทย เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ฝ่ายตรงข้ามอ้างก็คือ "มีสายลับเวียดนามในธรรมศาสตร์" และเป็น "พวกไม่รักชาติ หนักแผ่นดิน"

จากการตรวจสอบบรรยากาศของการรายงานสถานการณ์ในยุคนั้น ฝ่ายนักศึกษาไม่ไว้ใจค่ายรามสูรในฐานเป็นฐานที่มั่นของอเมริกัน และมีข่าวลือต่างๆ นานาเรื่องการทำสัญญาลับระหว่างกองทัพไทยและอเมริกัน

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ความสนใจในค่ายรามสูรก็หายไปพร้อมๆ กับที่นักศึกษาหนีเข้าป่า กว่าที่ชื่อของค่ายรามสูรจะเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้งก็คือไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการเปิดเผยเอกสารลับของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการควบคุมศัตรูของสหรัฐ

หนึ่งในการเปิดเผยเรื่องนี้คือสารคดีเรื่อง "การทรมานประชาธิปไตย" (Torturing Democracy) เกี่ยวกับการใช้ "เทคนิคการสอบสวนขั้นสูง" ด้วยการทรมานนักโทษโดยรัฐบาลสหรัฐ เพราะนักโทษเหล่านี้ไม่ธรรมดา แต่เป็นศัตรูต่างอุดมการณ์ของสหรัฐและเป็นผู้ก่อการร้ายที่จงใจโจมสหรัฐ

หนึ่งในฐานลับที่ใช้ทรมานนักโทษอยู่ในประเทศไทยของเรานี่เองโดยเรียกว่า "ไซต์ดำ" (Black Site) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบกันแพร่หลายแล้ว (และโพสต์ทูเดย์เคยรายงานไปแล้ว) แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกไม่นายที่ยังไม่ผ่านสายตาคนไทย แม้ว่าเอกสารลับเกี่ยวกับฐานทรมานนักโทษจะถูกเปิดเผยมาถึง 2 ปีแล้วก็ตาม

ในเวลานี้เอกสารลับเหล่านี้จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างกองทัพไทยและสหรัฐ ในช่วงเวลาที่สหรัฐและจีนพยายามแย่งชิงไทยและอาเซียนมาเป็นพวกตัวเองในสงครามเย็นครั้งใหม่

เอกสารเหล่านี้เรียกว่า "โทรเลขฐานลับทรมานซีไอเอของจีนา แฮสเปล" (Gina Haspel CIA Torture Cables) ซึ่งหมายถึงจีนา แฮสเปล ผู้อำนวยการของซีไอเอคนปัจจุบัน นำมาเผยแพร่ 14 ฉบับ เนื้อหาโดยย่อมีดังนี้

เอกสารฉบับที่ 1 เอกสารฉบับนี้มอบอำนาจให้จีนา แฮสเปล ในฐานะหัวหน้าฐานปฏิบัติการที่ไซต์ดำของซีไอเอในประเทศไทย (รหัสฐานว่า GREEN) เพื่อทำการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่ชื่ออัล - นาชิรี เมื่อมาถึงสถานที่ดำประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2002 และทันทีที่มาถึงก็เริ่มถูกทรมาน

เอกสารฉบับที่ 2 - 13 เอกสารกลุ่มนี้แจ้งเรื่องการทรมานอัล - นาชิรี ลักษณะการทรมานและผลของการทรมานในฐานลับในประเทศไทย โดยใช้วิธีวอเตอร์บอร์ดดิ้ง หรือคลุมใบหน้าของเป้าหมายด้วยผ้าแล้วเทน้ำให้ชุ่มเพื่อทพให้เกิดอาการคล้ายสำลักน้ำจนหายใจไม่ออก บีบให้เป้าหมายคายความลับออกมา

เอกสารฉบับที่ 14 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2002 เอกสารฉบับนี้เผยว่าฐานลับในประเทศไทยจะถูกปิดในวันที่ 4 ธันวาคม 2020 เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลไทยซึ่งใเจ้าหน้าที่หลายคนรับรู้เรื่องนี้ และซีไอเอยังค้นพบว่ามีหนังสือพิมพ์รายใหญ่ของสหรัฐส่งนักข่าวไปป้วนเปี้ยนแถวนั้น เอกสารตอนนี้ระบุว่า

" ... (ข้อความถูกปกปิด) ... ยังผลให้ ... (ข้อความถูกปกปิด) ... เปลี่ยนตัว ... (ข้อความถูกปกปิด) ... บุคคลต่างๆ ที่รับผิดชอบในการสนับสนุนค่ายควบคุมตัวของซีไอเอ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ถูกแทนที่โดยเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งซีไอเอเชื่อว่าไม่สนับสนุนค่ายควบคุมตัวของซีไอเอ แม้จะมีความพยายามอย่างพอสมควรจากซีไอเอที่ประจำการในประเทศ ... (ข้อความถูกปกปิด) ... ในการรักษาการสนับสนุนค่ายกักกัน GREEN จาก ... (ข้อความถูกปกปิด) ... หุ้นส่วนคนใหม่ ... (ข้อความถูกปกปิด) ... เรียกร้องให้ปิดค่ายกักกันภายในเวลาสามสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จากการล็อบบี้อย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่สาขา ในที่สุดประเทศ ... (ข้อความถูกปกปิด) ... ก็พลิกการตัดสินใจ อนุญาตให้ค่ายกักกัน GREEN ยังปฏิบัติการต่อไปได้"

เนื่องจากข้อความถูกปกปิดไว้ เราจึงสรุปไม่ได้ว่าชื่อที่ถูกปกปิดหมาย "ผู้ใหญ่" ในรัฐบาลไทยหรือในกองทัพไทยกันแน่ แต่เราสามารถอนุมานได้ว่ามีการโยกย้ายบางอย่างเกิดขึ้นในไทย ทำให้บุคคลที่เข้ามารับผิดชอบเรื่องฐานลับมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้ จะเป็นไปได้ไหมว่าลักษณะเช่นนี้จะคล้ายกับข่าวลือช่วง 6 ตุลาฯ ที่ว่ากองทัพตกลงกับสหรัฐเองเรื่องการใช้ค่ายรามสูรโดยไม่ผ่านรัฐบาล?

ในเดือนเมษายน 2002 พยายามที่จะรวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ในประเทศไทยที่รู้เรื่องการควบคุมตัวที่ฐานลับปรากฎว่ามีจำนวนหลายคน แต่หลังจากนั้นสื่อในสหรัฐก็ระแคะระคายและซักไซ้ซีไอเอในเรื่องนี้ ซึ่งซีไอเอพยายามอธิบายว่าการเปิดเผยอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเจ้าของพื้นที่จนไม่อนุญาตให้กระทำการควบคุมบุคคลใดๆ ก็ตาอีกต่อไป

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีไอเอและแม้แต่รองประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้นคือดิก เชนีย์ยังกดดันไม่ให้สื่อสหรัฐเปิดเผยว่าไทยคือสถานที่ควบคุมตัว

หลังจากที่ซีไอเอยื้อมาระยะหนึ่งก็ต้องปิดฐานในไทยไปในที่สุด จากนั้นนักโทษถูกย้ายจากค่ายรามสูร หรือ GREEN ไปยังฐานทัพที่โปแลนด์ซึ่งมีรหัสว่า BLUE

ในเวลาต่อมาวิดิโอที่บันทึกเหตุการณ์การทรมานถูกทำลายไป แต่บันทึกรายละเอียดของการทรมานยังคงอยู่ และหลักฐานเหล่านี่ที่ถูกเปิดเผยออกมาเพื่อที่จะ "ดิสเครดิต" จีนา แฮสเปลโดยเฉพาะตอนที่เธอถูกเสนอชื่อจากทรัมป์ ปรากฎว่ามันไม่ได้ผล เพราะทรัมป์ดันเธอให้เป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐได้สำเร็จ กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้

ปัจจุบัน กองทัพไทยยืนยันว่าไม่มีฐานทัพของสหรัฐในค่ายรามสูร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายแห่งนี้เป็นหมุดสำคัญที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐ

คำถามก็คือ ในอนาคตหากโลกของเราเกิดสงครามเย็นขึ้นอีกครั้งแล้วไทยตกอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบรัฐบาลยุคก่อน 6 ตุลาฯ ค่ายรามสูรจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญของความมั่นคงในบ้านเมืองเราอีกหรือไม่?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

AFP PHOTO / SAUL LOEB