posttoday

การเมืองที่คนรุ่นใหม่โหยหาอดีต

21 กันยายน 2563

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ขบวนการทางการเมืองทั่วโลกกำลังโหยหาอดีต แต่สาเหตุของมันคืออะไร?

1. การชุมนุมประท้วงที่นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การฝังหมุดคณะราษฎรหมุดใหม่ที่บริเวณท้องสนามหลวง นัยว่าเพื่อแทนที่หมุดเดิมซึ่งหายไปจากลานพระบรมรูปทรงม้า (อันเป็นเขตพระราชฐาน) แต่การฝังหมุดใหม่ไม่ได้ยั่งยืนเช่นกัน เพราะมันหายไปในช่วงเวลาเพียงหนึ่งวัน

2. ดูเหมือนว่าแกนนำการชุมนุมและคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย หลงไหลกับคณะราษฎร นอกจากจะฝังหมุดแล้วยังมีกลุ่มคนที่เรียกว่า "คณะราษฎรใหม่" แม้แต่ชื่อของ "คณะก้าวหน้า" ซึ่งเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมของพรรคอนาคตใหม่ก็ตั้งชื่อกลุ่มโดยสะท้อนชื่อของคณะราษฎร เพราะคำว่า "คณะ" ในคำว่าคณะราษฎรนั้นไม่ได้แปลว่า Movement แต่แปลว่า Party หรือพรรคการเมืองในความเข้าใจของคนยุคปัจจุบัน

3. ชื่อธีมของการชุมนุมที่เพิ่งจะจบไป คือ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ก็สะท้อนความโหยหาอดีตยุคคณะราษฎรอีกด้วย ในยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คำว่า "ประชาชน" ไม่เป็นที่นิยมหรือแม้แต่ไม่รู้จักกัน คำที่แทนคำว่าประชาชนในยุคนั้นคือคำว่า "ราษฎร" ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้กันแล้วยกเว้นในข่าวในพระราชสำนัก

4. ดังนั้นคำว่า "ราษฎร" อาจจะให้ความรู้สึกโหยหาอดีตยุคคณะราษฎรก็จริง แต่มันก็มีความยอกย้อนในตัวมันเองอยู่ด้วย เพราะมันเป็นคำที่หมดสมัยและยังถูกใช้เป็นหลักในข่าวในพระราชสำนักโดยไม่มีนัยทางการเมืองอะไร

5. อาจฟังดูแปลกๆ ที่คนรุ่นใหม่รู้สึกหวนหาอดีต ทั้งๆ ที่บางกลุ่มใช้คำว่า "อนาคต" เป็นชื่อขบวนการและคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมีปฏิกริยาต่อค่านิยมแบบเก่า (แม้แต่การตั้งคำถามกับความกตัญญู) ภาษายุคเก่า พิธีกรรมโบราณ ความเชื่อทางศาสนา และรวมถึงโครงสร้างอำนาจแบบดั้งเดิม

6. ถึงแม้ว่าขบวนการจะเป็นของคนรุ่นใหม่ แต่พวกเขาโหยหาวิถีแบบเก่าหรืออย่างน้อยมองว่าคนในอดีตบางกลุ่มคือแบบอย่างของพวกเขา ที่เห็นคือขบวนการปลดแอกต่างๆ ในตอนนี้ต่างเชิดชูคณะราษฎรอย่างออกหน้าออกตา แม้แต่อดีตเผด็จการ "ตัวพ่อ" อย่างจอมพลป. พิบูลสงครามก็ถูกยกขึ้นมาชื่นชม

7. อาการแบบนี้คือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเรียกว่า politics of nostalgia หรือ "การเมืองของการโหยหาอดีต" มันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐยุคทรัมป์ อินเดียยุคของโมที จีนยุคของสีจินผิง และญี่ปุ่นในยุคอาเบะโนมิกส์

8. คำว่า nostalgia เป็นภาษาอังกฤษที่เกิดขึ้นจากภาษากรีกสองคำคือ nostos (บ้านเรา) algos (หวนกลับ) เมื่อรวมคำสองคำเป็นคำเดียวจะได้ความหมายว่า "ความรู้สึกอยากจะกลับบ้าน" ในช่วงแรกมันถูกใช้อธิบายความรู้สึกคิดถึงบ้านที่อยู่ห่างไกลจนเป็นอาการป่วยทางจิตแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันมันหมายถึงความรู้คิดถึงอดีตแบบ "เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี"

9. คำถามก็คือทำไมคนในยุคเราจึงต้องงัดเรื่องในอดีตมาเป็นธงการเมือง? คำตอบก็คือเพราะอนาคตไม่ชัดเจน คนจึงต้องมองย้อนกลับไปในยุคที่ประเทศเคยยิ่งใหญ่แล้วนำมันมาเป็นแบบอย่างในการสร้างอนาคตใหม่ๆ ซึ่งที่จริงแล้วหลายกรณีมันไม่ใช่อนาคตใหม่ๆ แต่มันสร้างการเมืองที่อันตรายขึ้นมา

10. ยกตัวอย่าง เช่น แคมเปญ Make America Great Again ของโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งบอกกับประชาชนว่าเขาต้องการ "ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง" การที่เขาบอกว่า "อีกครั้ง" หมายถึงการทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่เหมือนในอดีต แต่ไม่ได้บอกว่าอดีตตอนไหน แต่ท่าทีของทรัมป์ที่ต่อต้านคนต่างชาติและเหยียดเชื้อชาติ ผลก็คือสังคมอเมริกันตอนนี้ทำให้ประเทศคล้ายกับยุคเหยียดเชื้่อชาติและสีผิว ซึ่งเป็นยุคที่คนผิวขาวยิ่งใหญ่ แต่คนผิวอื่นเป็นทาสและถูกทารุณ

11. ในจีน สีจิ้นผิงถูกวิจารณ์ว่ามีท่าทีหลายอย่างเหมือนกับเหมาเจ๋อตง ทั้งการกระตุกให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และคนในชาติหันมาให้ความสำคัญกับลัทธิมาร์กซ์อีกครั้ง หรือการกระตุ้นชาตินิยมและการควบคุมสังคมที่หนักมือขึ้น จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่าเขาอาจจะปัดฝุ่นเอาตำแหน่ง "ประธาน" ของประเทศกลับมาใช้อีกซึ่งเหมาเจ๋อตงเคยใช้มา

12. และยังมีอีกหลายปรากฎการณ์ของการทำให้ประเทศกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แม้แต่ในอังกฤษเองการถอนตัวจากสหภาพยุโรปก็มีประเด็นซ่อนเร้นเรื่องชาตินิยมและการทำให้อังกฤษกลับมาเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ดังนั้น อาการโหยหาอดีตในทางการเมืองจึงโยงกับเรื่องชาตินิยมและประชานิยม (populism) ที่กระตุ้นให้ประชาชนหลงไหลในคารมนักการเมืองแนวนี้

13. แต่ในเมืองไทยดูเหมือนจะตรงกันข้าม ขบวนการยุวชนและประชาชนปลดเแอกทั้งหลายหวนหาอดีตเมื่อครั้งคณะราษฎรยังเป็นใหญ่ก็เพราะมีนัยในทางการเมืองที่ต้องการเล็งเป้าหมายไปที่คู่ตรงข้ามเดิมของคณะราษฎร หรืออาจจะเห็นว่าการเมืองไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เป็นยุคที่พวกเขาปรารถนา

14. แต่ในทางประวัติศาสตร์แล้วยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงต้นพุทธศักราชที่ 2500 เป็นยุคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง คณะราษฎรเองหลายคนกลายเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ เต็มไปด้วยอิทธิพลนอกระบบ การลอบสังหาร และการใส่ร้ายป้ายสี จนกระทั่งจอมพลป. พิบูลสงครามกุมอำนาจโดยสิ้นเชิง

15. จอมพลป. พิบูลสงครามนั้นเป็นเผด็จการแบบฟาสซิสต์ชัดเจนแม้แต่ในยุคนั้นก็ทราบดี หากเป็นบางประเทศที่ศิวิไลซ์การยกย่องผู้นำฟาสซิสต์อาจเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและอาจเป็นอาชญากรรมด้วยซ้ำ แต่จอมพลป. พิบูลสงครามไม่ใช่เผด็จการที่ฆ่าคนมากมายจนเป็นอาชญากรของมนุษยชาติ (และเกือบอาชญากรสงคราม) แต่เป็น "เผด็จการแบบไทยๆ" ที่อ่อนนอกแข็งในหรือในทางกลับกัน

16. กระนั้นก็ตาม การที่คนรุ่นใหม่ชื่นชมเผด็จการแบบฟาสซิสไปด้วยและเรียกร้องประชาธิปไตยไปด้วย ดูเป็นอาการที่ประดักประเดิดไปสักหน่อย เช่น กรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ที่ยกย่องจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นฮีโร่ และยังสนใจในพิธีกรรมโบร่ำโบราณด้วยการอัญเชิญดวงวิญญาณของ นายปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป.พิบูลสงคราม และสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสักขีพยานการปักหมุดคณะราษฎรอันใหม่ ยังไม่นับการที่เขายังติดวิธีคิดแบบ "ยุคศักดินา" ด้วยการบอกว่าสาปคนที่ถอนหมุดเอาไว้แล้ว

17. หากจะเหมาเอาว่าขบวนการปลดแอกทั้งหลายในไทยได้รับอิทธิพลจากฝ่ายซ้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (แม้แต่ศัพท์แสงก็ยืมจากฝ่ายซ้ายและการตีความประวัติศาสตร์แบบฝ่ายซ้าย) การคิดถึงอดีตแบบนี้จึงสวนทางกับวาทะของเจ้าลัทธิฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน ยังไม่ต้องพูดถึงการเชิดชูเผด็จการฟาสชิสต์ในอดีตเพียงแค่เขาผู้นั้นเป็นสมาชิกคณะราษฎร

18. เพราะคาร์ล มาร์กซ์ เคยกล่าววิวาทะหนึ่งที่โด่งดังมาก คือ "ให้คนตายฝังคนตายเถิด" (Let the Dead Bury their Dead ซึ่งมาร์กซ์ยืมประโยคนี้มาจากคัมภีร์ไบเบิล) ซึ่งหมายความว่าให้อดีตมันกลายเป็นอดีตไปและพึงเป็นฝ่ายก้าวหน้า เพราะอดีตนั้นหมายถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็นศัตรูกับฝ่ายซ้ายโดยตรง

19. แต่คำพูดนี้ไม่มีน้ำหนักในยุคปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะอุดมการณ์ไหนต่างก็ใช้อารมณ์หวนหาอดีต ความคิดถึงยุคบ้านเมืองยังดี และความโหยหาวีรบุรุษจากสมัยอื่นเพื่อมาทำพิธีตัดไม้ข่มนามกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่พยายามสลัดตัวกับเรื่องเก่าๆ มาโดยตลอด ก็ยังไม่พ้นจากอดีตเสียที

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Vivek PRAKASH / AFP