posttoday

เมดิเตอร์เรเนียนระอุ กรีซ-ตุรกีขัดแย้งปมก๊าซธรรมชาติ

27 สิงหาคม 2563

ความตึงเครียดระหว่างกรีซและตุรกีขยับเข้าใกล้การเผชิญหน้าทางทหาร และสุดท้ายอาจร้อนไปทั้งภูมิภาค

ต่อไปนี้เป็นการสรุปความขัดแย้งล่าสุดระหว่างกรีซกับตุรกี

1.การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลใต้ทะเลรอบเกาะครีตและประเทศไซปรัส ทำให้เกิดการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเหนือพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศกรีซกับตุรกีซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกองค์การสิธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่ขัดแย้งกันบ่อยครั้ง

2.ชนวนความขัดแย้งครั้งล่าสุดเริ่มจากการที่ตุรกีส่งเรือสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของไซปรัสเมื่อเดือน พ.ค. 2019 โดยไซปรัสได้คัดค้านว่าตุรกีละเมิดกฎหมาย อีก 2 เดือนต่อมาอียูจึงคว่ำบาตรตุรกี แต่แทนที่ตุรกีจะหยุด กลับเดินหน้าส่งเรือสำรวจปิโตรเลียมไปยังน่านน้ำพิพาทอย่างต่อเนื่อง

3.ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศทวีขึ้นอีกครั้งหลังจากเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ตุรกีส่งเรือรบพร้อมกับเรือสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม Oruc Reis เข้าไปในเขตชายฝั่งทางตอนใต้ของไซปรัสและพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกซึ่งอยู่ระหว่างไซปรัสกับกรีซ และหลังจากนั้นกรีซได้ส่งเรือรบไปประจันหน้าเรือรบของตุรกี

4.ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าตัวเองมีสิทธิ์เหนือน่านน้ำบริเวณดังกล่าวและกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนภูมิภาคมายาวนาน

5.เมื่อ 2 วันก่อน (25 ส.ค.) ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกนาโตเดินทางเยือนทั้งกรีซและตุรกีเพื่อเจรจาให้ทั้งสองประเทศหันหน้าเจรจากันอย่างสันติ

6.หลังพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ฝั่งกรีซเผยว่าจะปกป้องอำนาจอธิปไตยของตัวเองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ แต่พร้อมเจรจา โดยมีข้อแม้ว่าตุรกีต้องหยุดคุกคามกรีซ ส่วนตุรกีพร้อมเจรจาเช่นกัน แต่ต้องไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ และจะเจรจาเฉพาะการแบ่งสรรปันส่วนก๊าซธรรมชาติเท่านั้น

7.เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เยอรมนีเคยเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกรีซกับตุรกีมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยระหว่างเจรจาตุรกีหยุดการสำรวจปิโตรเลียมในน่านน้ำพิพาทชั่วคราว แต่สุดท้ายการเจรจาล้มเหลว โดยฝั่งรัฐบาลตุรกีอ้างว่ากรีซละเมิดสิทธิ์ตุรกีด้วยการลงนามการปักปันเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ขยายจาก 6 ไมล์ทะเลเป็น 12 ไมล์ทะเล (ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ) กับอียิปต์และอิตาลี ตุรกีจึงกลับมาสำรวจปิโตรเลียมต่อ

8.ล่าสุด กองทัพฝรั่งเศสและอิตาลีประกาศส่งเรือและเครื่องบินเข้าร่วมซ้อมรบกับกรีซและไซปรัสในน่านน้ำฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างวันที่ 26-28 นี้ ขณะที่ตุรกีประกาศจะซ้อมรบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซปรัสเช่นกัน

9.กรีซเตรียมประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีเพื่อขอให้ลงโทษตุรกี ทว่าที่ผ่านมาอียูมักจะหลีกเลี่ยงการลงโทษหนักกับตุรกี เนื่องจากตุรกีมีไม้เด็ดอยู่ที่พรมแดน

10.ที่ผ่านมาประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี มักขู่อียูว่าจะเปิดพรมแดนตุรกีให้ผู้อพยพนับล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากซีเรีย ใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งก็ได้ผล