posttoday

เมื่อการซื้อเรือดำน้ำของไทย ได้ความขัดแย้งพ่วงมาด้วย

24 สิงหาคม 2563

ภัยจากเรือดำน้ำจีนกำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลไทย แต่มันยังมีแง่มุมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มากกว่านั้น

เรือดำน้ำจำเป็นหรือไม่? หากคำถามนี้ไปใช้ถามกับประเทศที่มีปัญหากรณีพิพาทเรื่องน่านน้ำ คำตอบจะชัดเจนว่า "จำเป็น" แต่ถ้านำมาถามประเทศที่ไม่มีปัญหาภัยคุกคามทางการชัดเจน คำตอบก็คือ "ไม่จำเป็น"

คำถามต่อมาก็คือประเทศไทยอยู่ในกลุ่มไหน ระหว่างประเทศที่มีภัยคุกคามเรื่องน่านน้ำหรือประเทศที่ปลอดภัยไร้กังวล?

ในการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงกรณีจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือกล่าวว่า "แม้มีคนกล่าวว่าจะไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ในเร็วๆ นี้ แต่ในทะเลจีนใต้ที่ใกล้ไทยนั้น มีหลายชาติประกาศความเป็นเจ้าของ มีการก่อสร้างสถานี และสนามบินเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่อาจทำให้เกิดการปะทะกันได้ หากเกิดการปะทะกัน นี่คือเส้นเลือดใหญ่ของไทยในการค้าและจะมีปัญหาตามมา โดยจะมีปัญหาในเวลาใกล้หรือไกลต้องรอประเมิน"

คำกล่าวนี้เท่ากับบอกว่าไทยเรามีภัยเสี่ยงเหมือนกัน นั่นคือความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

แต่ปัญหาก็คือไทยไม่มีเอี่ยวในความขัดแย้งนั้น อ่าวไทยไกลจากจุดขัดแย้งหลายร้อยไมล์ทะเล ต่อให้เกิดการปะทะกันเรือดำน้ำก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก เพราะการค้าขายจะหยุดชะงัก เราจะต้องเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือคุ้มกันในช่วงสงคราม (Escort Group) ส่วนใหญ่เป็นเรือบนผิวน้ำและทำหน้าที่ปฏิบัติการต่อต้านเรือดำน้ำ (Anti-submarine warfare) และยังมีเครื่องบินรบคอยคุ้มกันด้วยในบางกรณี

จนถึงช่วงสงครามเย็นโลกของเราก็ยังใช้วิธีการคุ้มกันแบบนี้อยู่ และเสริมด้วยระบบโซนาร์เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำ เช่น SOSUS ของสหรัฐซึ่งมีมูลค่ามหาศาลไม่มีทางที่อาเซียนทั้งกลุ่มจะมีเงินพอมาลงขันกันทำได้

แต่ระบบ SOSUS มีไว้เพื่อจัดการกับปลาตัวใหญ่ เช่น สหภาพโซเวียตและตอนนี้สหรัฐปัดฝุ่นมาใช้กับจีน และจีนเองก็เริ่มสร้างระบบแบบเดียวกันเพื่อป้องกันเรือดำน้ำของ "ศัตรู"

ถามว่าเรามีเรือดำน้ำแล้วไม่มีกำแพงโซนาร์แบบ SOSUS จะพอหรือ? หรือว่าเอาเข้าจริงแล้วเรามีแค่ระบบป้องกันแบบ SOSUS ก็พอแล้วไม่ต้องซื้อเรือดำน้ำ?

และเรือดำน้ำก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าเรามีเรือดำน้ำแล้วประเทศอื่นจะเกรงใจเรา ตัวอย่างก็มีให้เห็นในกรณีของเรือดำน้ำของรัสเซียที่เข้ามาในช่องแคบอังกฤษแล้วประชิดชายฝั่งอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งตอนแรกไม่มีเรือของกองทัพอังกฤษหรือฝรั่งเศสเข้ามาประกบแล้วส่งออกไป

ย้อนกลับไปเดือนธันวาคม เรือดำน้ำสอดแนมของรัสเซียมาปฏิบัติการเหมือนจะกำลังซ้อมรบห่างจากชายฝั่งของสหรัฐไม่กี่ร้อยไมล์ และยังมีเรือดำน้ำและเรือสอดแนมของรัสเซียมาปฏิบัติการเฉียดไปเฉียดมาแถวๆ ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ

เรือดำน้ำบางลำของรัสเซียสามารถปฏิบัติการได้โดยส่งเสียงรบกวนที่เบาลงทำให้ตรวจจับได้ยากขึ้น

ลักษณะการณ์แบบนี้ยิ่งทำให้แต่ละประเทศสะสมอาวุธกันมากขึ้น หันกลับมามองที่ไทย หากจู่ๆ พื่อนบ้านเราสั่งเรือดำน้ำเข้ามาอีกเรื่อยๆ เรามิต้องสั่งต่อเรือเข้ามาเสริมอีกเรื่อยๆ หรือ?

ว่ากันตามตรง ถ้าจะคิดเรื่องปกป้องอธิปไตยของชาติในห้วงเวลาที่มีกลิ่นอายของความขัดแย้งระดับโลกเช่นนี้ เรือดำน้ำสองสามลำก็ยังไม่พอ ต้องมีระบบป้องกันเพิ่มเติมอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้ออาวุธเพิ่มเพราะเราไม่มีเงินพอและการรบควรเป็นทางเลือกสุดท้ายของไทย

การรักษาอธิปไตยของชาติยังมีอีกหลายวิธี เช่น การยกระดับให้ไทยเป็นประเทศเป็นกลางที่ชัดเจนหรือการผลักดันตัวเองให้เป็นผู้นำการเจรจาบางอย่างเพื่อทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธในภูมิภาค

ยกตัวอย่างเช่นอนุสัญญามงเทรอซ์ (Montreux Convention) ที่จำกัดการเข้าออกของเรือรบผ่านช่องแคบบอสฟอรัส อาเซียนก็อาจทำสนธิสัญญาจำกัดการเข้าออกของเรือรบในช่องแคบมะละกาในลักษณะเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อาเซียน (และไทย) ตกเป็นเบี้ยในความขัดแย้งของมหาอำนาจ

เอาเข้าจริงมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่าอาเซียนตกเป็นเบี้ยหมากของการชิงอำนาจระหว่างมหาอำนาจแล้ว เช่น กรณีของเมียนมาที่ได้เรือดำน้ำจากอินเดียมาก็เพราะอินเดียต้องการคานอำนาจกับจีนที่เป็นสปอนเซอร์หลักให้กับไทยและบังกลาเทศในการซื้อหาเรือดำน้ำ

ในกรณีของบังกลาเทศชัดเจนมากกว่าจีนเป็นภัยคุกคามทางน้ำต่ออินเดียและเมียนมา เพราะนอกจากจะขายเรือดำน้ำให้บังกลาเทศ 2 ลำในปี 2017 ยังช่วยบังกลาเทศต่อเรือดำน้ำของตัวเองลำแรกที่ท่าเรือค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งประชิดกับเมียนมาและเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ของอ่าวเบงกอล

บังกลาเทศคือช่องโหว่ของอินเดีย เป็นจุดที่อินเดียควบคุมการเข้าออกของเรือจากจีนไม่ได้ และจีนยังต้องการพัฒนาท่าเรือค็อกซ์บาซาร์ที่บังกลาเทศ

อินเดียเดินเกมส์กดดันบังกลาเทศทำให้ต้องระงับสัมปทานให้กับจีนมาพัฒนาท่าเรือที่ค็อกซ์บาซาร์ และอินเดียยังเปิดเกมส์เร็วเข้าหาเมียนมาซึ่งเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้จีนเข้ามาในมหาสมุทรอินเดีย ด้วยการขายอาวุธให้เมียนมาอย่างขนานใหญ่ รวมถึงเรือดำน้ำ (มือสอง)

เมื่อเมียนมาได้เรือดำน้ำมาก็ลำบากไทยเราที่จะต้องมาคอยสอดส่องเพื่อนบ้านแถมยังต้องคอยเหลียวหลังจับตาดูว่าเราถูก "หลอกใช้" จากมหาอำนาจหรือไม่

ว่ากันตามตรงแล้ว เมียนมาและไทยต่างก็พยายามให้หลุดพ้นจากการถูกหลอกใช้และการเป็น "รัฐลูกกระจ๊อก" (client state) ของอินเดียและจีนรวมถึงสหรัฐ สิ่งที่เมียนมาทำคือการพยายามถ่วงดุลระหว่างอินเดียและจีน ในขณะที่เมียนมาซื้ออาวุธจากอินเดียมากขึ้น เมียนมาก็เปิดทางให้จีนเข้ามาพัฒนาท่าเรือเจ๊าก์ผิ่ว (Kyaukpyu) โดยเป็นทางออกทะเลสำหรับจีนเชื่อมกับท่อส่งน้ำมันและเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงมายังอ่าวเบงกอล

ในทำนองเดียวกัน ไทยซึ่งเป็นมหามิตรของสหรัฐมาแต่ไหนแต่ไรก็พยายามถ่วงดุลกับจีนและสหรัฐในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่อย่างมาก ท่ามกลางกระแสข่าวว่าสหรัฐต้องการใช้พื้นที่ไทยตั้งฐานทัพ แต่ไทยกลับไปดีลกับจีนเรื่องเรือดำน้ำและการซื้ออาวุธในระยะหลังไทยก็ซื้อจากจีนมากขึ้น

สาเหตุก็เพราะสหรัฐเมินไทยไปช่วงหนึ่งหลังการรัฐประหารโดย คสช. ทำให้จีนสบช่องเข้าเสียบแทน มาบัดนี้สหรัฐเพิ่งตระหนักว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่ปล่อยไว้ไม่ได้ ไทยจึงกลับมาเนื้อหอมในสายตาสหรัฐอีก

เมื่อพิจารณาดูดีๆ แล้ว จะพบว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนซื้อเรือดำน้ำมาใช้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามเฉพาะหน้าเกือบทั้งสิ้น เช่น เวียดนามซึ่งใช้เรือดำน้ำจากรัสเซียชั้นกิโล (Kilo) มาถึง 6 ลำ จุดประสงค์ของเวียดนามค่อนช้างชัดเจนคือมีเรือดำน้ำไว้ปกป้องอธิปไตยจากกรณีพิพาทกับจีนทั้งหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์

อินโดนีเซียกับมาเลเซียมีจุดประสงค์ใกล้เคียงกับเวียดนาม และสิงคโปร์ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ระดับโลก

ขณะที่ไทยกับเมียนมาไม่ได้เป็นคู่กรณีกับใครเรื่องน่านน้ำ ถูกมองว่าซื้อเรือดำน้ำมาประดับบารมีและแม้จะซื้อมาโดยพิจารณาสเป๊กที่คุ้มค่าที่สุด แต่การซื้อเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของการถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจ 

พูดตรงๆ ก็คือไทยกับเมียนมามีความจำเป็นน้อยที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่จำเป็น

ท่ามกลางกระแสต่อต้านรุนแรง (มาแต่ไหนแต่ไร) ท่ามกลางความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจและความจำเป็นเฉพาะหน้าเรื่องโรคระบาด การซื้อเรือดำน้ำกลายเป็นเรื่องจำเป็นน้อยจนถึงไม่จำเป็นขึ้นมาในทันที

หากจะถามว่าเมื่อไรถึงจะจำเป็น บางทีเราอาจจะต้องรอจนกว่าจะมีเรือดำน้ำของเพื่อนบ้านรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของไทยเสียก่อน ตอนนั้นกองทัพเรือและรัฐบาลคงจะมีความชอบธรรมมากพอในสายตาประชาชนที่จะสั่งซื้อเรือดำน้ำ

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพประกอบ: โมเดลเรือดำน้ำชั้น S26T ภาพโดย Apichart Jinakul/Bangkok Post