posttoday

เศรษฐกิจไทยเลวร้ายที่สุดในโลกหรือยัง?

17 สิงหาคม 2563

ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว และไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแบบไม่เคยพบกันมาก่อนในรอบหลายสิบปี

การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดผลสะเทือนด้านเศรษฐกิจตามมา ประเทศล่าสุดที่สะเทือนจากไวรัสคือเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี หรือเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

แต่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ติดลบเลขสองหลักหรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง

ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจจีนติดลบครั้งแรกในรอบ 50 ปี โดยไตรมาสแรกลดลง 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงประกาศว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลจีนจะไม่ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 และจีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้

คู่กรณีของจีนคือสหรัฐก็ไม่รอด ไตรมาสแรกของปีนี้ดิ่งเหวถึง 32.9% สื่อบางแห่งตรวจสถิติแล้วยืนยันว่าเศรษฐกิจดิ่งเลวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัว 7.8% เป็นการหดตัวลงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ไตรมาสแรกของออสเตรเลียหดตัว 0.3% ทำให้พบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกในรอบ 29 ปี 

ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยมีภาวะหดตัวหนักที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเช่นกัน ฟิลิปปินส์นั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ 2 โดยหดตัว 16.5%

อินโดนีเซียนั้นประธานาธิบดีโจโก วิโดโดถึงกับยอมรับว่า "วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนี้เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์" หมายความว่าแย่กว่ายุคต้มยำกุ้งซึ่งอินโดนีเซียแทบจะล้มละลายเหมือนไทย

แต่ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนที่หนักกว่าไทยก็เห็นจะมีก็แต่สิงคโปร์ ที่ไตรมาสสองหดตัวลง 13.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วลดลงถึง 42.9%

มาถึงคำถามว่าเศรษฐกิจไทยเลวร้ายที่สุดในโลกหรือไม่?

แม้ว่าไตรมาสสองของไทยจะหดตัว 12.2% แต่ก็ยังถือว่า "ไม่เลว" เพราะจากการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดยสำนักข่าว Bloomberg คาดว่าไทยจะหดตัว 13%

แต่ Bloomberg ให้ความเห็นว่า "แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดในเอเชีย เนื่องจากการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองอย่างได้รับผลกระทบอย่างหนักท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด -19 ความเจ็บปวดดังกล่าวยังซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่า 6% ในไตรมาสสองระหว่างดือนเมษายน - มิถุนายน ทำให้เป็นสกุลเงินที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดอันดับสองในเอเชีย"

จะเห็นได้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่ใช่คุณแต่เป็นโทษ และสื่อต่างประเทศจับคู่มันกับปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยแย่

ดังนั้นหากไม่ได้เงินจากการส่งออกและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็จะซบเซาอยู่อย่างนี้ และจากการคาดการของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะต้องใช้เวลานานอีกหลายปีกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าก่อนวิกฤตโควิด-19

จากสถิติของ World Bank พบว่าประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวในจีดีพีมากถึง 9.82%

แต่ไทยก็ยังไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวมากที่สุดคือมัลดีฟส์ถึง 38.92% ตามด้วยหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน 32.96% และมาเก๊า 28.05%

ดูเผินๆ เหมือนกับว่าไทยเราพึ่งพาท่องเที่ยวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ยังมีอีกถึง 20 ประเทศที่ต้องทุกลักทุเลกว่าเราเพราะไม่มีคนเข้ามาเที่ยวสร้างรายได้

แต่เมื่อไล่ดูทีละประเทศแล้วจะพบว่าประเทศที่พึ่งการท่องเที่ยวแบบสุดลิ่มทิ่มประตูล้วนแต่เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีโอกาสเป็นประเทศพัฒนาได้น้อย เช่น อารูบา (ที่ 4) เซย์เชลส์ (ที่ 5) บาฮามาส (ที่ 6) วานูอาตู (ที่ 7) กาบูเวร์ดี (ที่ 8) เซนต์ลูเซีย (ที่ 9) เบลิซ (ที่ 10) ฟิจิ (ที่ 11) มัลตา (ที่ 12) กัมพูชา (ที่ 13) บาร์เบดอส (ที่ 14 ) แอนติกวาแอนด์บาร์บิวดา (ที่ 15) โดมินิกา (ที่ 16) เมนอตเนโกร (ที่ 17) โครเอเชีย (ที่ 18 ) เซาโทเม แอนด์ พรินซิเป (ที่ 19 ) เจเมกา (20)

จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีศักยภาพการพัฒนาต่ำ เว้นแต่โครเอเชียและมอนเตเนโกรที่อยู่ในยุโรปแต่ก็ไม่ได้มัศักยภาพที่จะพัฒนาได้สูง

เมื่อเห็นแบบนี้แล้วไทยยังอยากจะเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเหมือนประเทศไร้ศักยภาพ หรืออยากจะเป็นแบบปรเะทศพัฒนาแล้วที่พึ่งการผลิตและการบริการ สร้างการบริโถภคภายในให้แข็งแกร่งดี?

แน่นอนว่า การท่องเที่ยวทำเงินให้ประเทศมากมาย แต่ทำให้ไทยอยู่ในสภาพ "นั่งกินนอนกิน" เวลาเจอกับวิกฤตเหมือนตอนนี้จึงหมือนคนทำอะไรไม่ถูก ได้แต่รอให้เปิดประเทศไปวันๆ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ในช่วงปีสองปีนี้

แต่โชคดีที่เราไม่มีแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว เรายังมีภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคเกษตร ฯลฯ ไม่ใช่เกาะเล็กๆ ที่มีแต่ชายหาด แต่มีศักยภาพมากมายมหาศาล ดังนั้นแม้ว่าไทยจะสะเทือนอย่างมากจากการล็อคดาวน์ทั่วโลก แต่เรามีส่วนอื่นช่วยพยุงไว้

ดังนั้นไทยอาจจะแย่ที่สุดในเอเชีย (อย่างที่บางสำนักข่าวบอก) แต่ยังไม่ถือว่าแย่ที่สุดในโลก

แล้วประเทศไหนที่แย่กว่าไทย?

เมื่อเดือนกรกฎาคม บริษัทวิจัยด้านการตลาดในลอนดอน IHS Markit เผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของอินเดียติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ และตัวเลขเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจลดลงอย่างหนักถึง -30% ในเดือนมิถุนายนซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

สถานการณ์ของอินเดียคล้ายๆ กับจีนคือคาดเดาอะไรแทบไม่ได้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนระบุว่าแนวโน้มไม่แน่นอน ผิดปกติและไม่แน่ใจว่าจะพัฒนาธุรกิจไปอย่างไรในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ IHS Markit ถึงกับบอกว่า “แนวโน้มของอินเดียนั้นแย่ที่สุดในโลก” เมื่อเทียบกับระดับความเชื่อมั่นของทุกประเทศที่ตรวจสอบโดย IHS และบอกว่าอินเดียมีความหวังแค่ริบหรี่เท่านั้น

ยังมีอีกหลายประเทศที่เลวร้ายกว่า ไทย เช่นทวีปอเมริกาใต้ทั้งทวีป รัฐบาลบราซิลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะทรุดลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 1900 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะหดตัวถึง -10.5% แต่ยังน้อยกว่าเวเนซุเอลลาที่มีปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้วคาดว่าจะอยู่ที่ -26% เปรูคาดว่าจะอยู่ที่ -13% และอาร์เจนตินา -9.2%

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของประเทศที่จะติดลบตัวเลขสองหลัก ประเทศที่เหลือในละติอเมริกาจะติดลบทุกประเทศแต่อยู่ในระดับเลขหลักเดียว เช่น เม็กซิโก -9% หรือปารากวัยที่ติดลบน้อยที่สุด ที่ -2.3%

ภาวะถดถอยที่เกิดจากโควิด-19 คาดว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของละตินอเมริกา และจะทำให้ภูมิภาคนี้ตกอยู่ในภาพ "ทศวรรษที่สาบสูญ" หรือ lost decade ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่เติบโต ผู้คนไม่จับจ่าย และตกงานเป็นจำนวนมากกินเวลายืดเยื้อนับสิบปี

เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้ายที่สุดในโลก และไม่น่าจะถึงขั้นอยู่ใน lost decade แต่มีเงื่อนไขให้คนไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของพวกเขา

เมื่อบวกกับความคุกรุ่นทางการเมืองเข้าด้วยแล้ว ทำให้อดกลัวไม่ได้ว่าเราไม่ได้เจอ lost decade เวอร์ชั่นเศรษฐกิจ แต่อาจจะเจอกับเวอร์ชั่นทางการเมืองมากกว่า

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP