posttoday

กี่ครั้งแล้วที่เราต้องทนกับพวกอันธพาลระรานโรงพยาบาล

20 กรกฎาคม 2563

ในบางประเทศหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ภาครัฐต้องรีบป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย แต่ในไทยเกิดซ้ำรอยบ่อยเกินไปแล้ว

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับที่ที่กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกันภายในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเมืองสมุทรปู่เจ้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินของทางโรงพยาบาลได้รับความเสียหาย

ย้อนกลับไปปีก่อนและปีก่อนหน้าก็เกิดเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่ปีละครั้ง แต่ปีละหลายครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากลุ่มวัยรุ่นเลือดร้อน

ย้อนกลับไปเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 เกิดเหตุวัยรุ่นทะเลาะวิวาทกันในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอ่างทองเป็นวัยรุ่นทั้งหญิงชายอยู่ในสภาพมึนเมา ยกพวกตีกันเพราะพวกของทั้ง 2 ฝ่ายถูกส่งมาโรงพยาบาลพร้อมกัน แม้จะถูกหามมาส่งโรงพยาบาลก็ยังอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ อันธพาลพวกนี้ต้องต่อยตีจนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของโรงพยาบาล

เดือนตุลาคม 2562 วัยรุ่นยกพวกตีกันหน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ เพราะทะเลาะกันมาตั้งแต่เขม่นกันในแข่งเรือยาวของเทศบาลอำเภอปากคาด จนพวกบาดเจ็บถูกส่งมาโรงพยาบาลก็ยังไม่หยุดระห่ำ

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันบริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นอีกครั้งที่พวกขาโจ๋ยกพวกตีกันเพราะเขม่นกัน

ไม่ใช่แค่วัยรุ่น แต่ยังมีกรณีที่ผู้ใหญ่ทำร้ายกันในโรงพยาบาลเหมือนกัน เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีกรณี อส. ทำร้ายเด็กแว้นในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี เนื่องจากบันดาลโทสะที่เด็กแว้นขับขี่จักรยานยนต์แหกด่านพุ่งชนเพื่อน อส. ด้วยกันได้รับบาดเจ็บสาหัส

ปีนี้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีคนร้ายบุกเข้าไปทำร้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาลพล จังหวัดขอนแก่น ผู้ป่วยรายนี้วัย 21 ปี ถูกส่งมาโรงพยาบาลเพราะถูกทำร้ายระหว่างดื่มสุราที่บ้านเพื่อน พอมาถึงโรงพยาบาลแทนที่จะได้ฟื้นตัว คู่กรณีกลับบุกมาทำร้ายอย่างอุกอาจต่อหน้าแพทย์และพยาบาล

หลายคนบอกว่ากฎหมายไม่แข็ง มีกฎหมายก็เหมือนไม่มี บ้านเมืองเหมือนไม่มีขื่อมีแป แม้แต่แดนสงครามก็พยายามเลี่ยงการทำลายข้าวของในโรงพยาบาล

แต่บางกรณี รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่ยอมอ่อนข้อให้ อย่างกรณีตีกันที่อ่างทอง กระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันจะดำเนินคดี ไม่มีการยอมความกับผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่โรงพยาบาล และศาลจังหวัดอ่างทองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ลงโทษจำคุกผู้ก่อเหตุภายในโรงพยาบาลไปเรียบร้อยแล้วโดยไปนอนคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จนถึง 3 เดือน

แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่กฎหมายจะแข็งกร้าว เช่น กรณีของสระแก้วศาลโทษจำคุกแค่ 2 เดือนปรับ 7,000 บาท แล้วให้รอลงอาญา 1 ปี หลังจากนี้เราต้องมาลุ้นกันว่าคนพวกนี้จะสำนึกหรือไม่ หรือจะมาต่อยตีที่โรงพยาบาลกันอีกจนประชาชนต้องอยู่ไม่สุข

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เมืองไทยที่มีเรื่องพวกนี้ แต่ไทยมี "เอกลักษณ์" ตรงที่ "วีรกรรม วีรเวร" ส่วนใหญ่เป็นฝีมือจากพวกอันธพาลเลือดร้อนหาเรื่องกันเอง

เว้นกรณีที่สำโรง มีทำร้ายบุคลากรการแพทย์ จึงถือเป็น "วีรเวร" แบบใหม่ที่ควรจะรีบตัดตอนเสีย ไม่อย่างนั้นจะเกิดการเลียนแบบขึ้นมาอีก

หลายประเทศมีการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์บ่อยครั้งกว่าไทย เช่นในประเทศจีน ที่มีเหตุทำร้ายหมอและพยาบาลเพราะไม่พอใจที่บุคลากรในโรงพยาบาลทำไม่ได้ดั่งใจ

เช่นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 มีชายคนหนึ่งไม่พอใจแพทย์ที่รักษาแม่ของเขาไม่ได้ดั่งใจ จึงบุกแทงแพทย์ของโรงพยาบาลแห่างหนึ่งในปักกิ่งจนเสียชีวิต ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินประหารชีวิตอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม ปี 2563

ถึงจีนจะลงดาบคนก่อเหตุในโรงพยาบาลอย่างฉับไว แต่เหตุที่จีนเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนมันจะใช้กฎหมายเดิมๆ ไม่ได้ เพราะคนไม่กลัว

ดังนั้นในเดือนมีนาคมปีนี้สภานิติบัญญัติกรุงปักกิ่งจึงพิจารณาที่จะตั้ง "สถานีตำรวจ" ในโรงพยาบาล และนำระบบรักษาความปลอดภัยมาใช้เพื่อตรวจดูว่ามีคนนำวัตถุอันตรายเข้ามาโดยหวังจะก่อเหตุร้ายในโรงพยาบาลหรือไม่

ปฏิกิริยาของจีนเป็นสิ่งที่ไทยควรจะมองไว้ เพราะฉับไวและเด็ดขาด ถึงจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ 100% (เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะมีคนบ้าเลือดก่อเหตุอะไรขึ้นมาอีก) แต่อย่างน้อยทำให้ประชาชนได้อุ่นใจ ไม่ใช่ว่าประชาชนลำบากลำบนเพราะโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังต้องมานั่งระแวงพวกอันธพาลกันอีก

อย่าปล่อยให้ประเทศไทยเป็นเหมือนอินเดีย ซึ่งเกิดกรณีบุกทำร้ายบุคลากรทางแพทย์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 แพทย์ย์อินเดียถูกทำร้ายเป็นว่าเล่นมีรายงานการทำร้ายทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่แพทย์เข้าไปรักษาคนในชุมชน แต่คนในชุมชนถูก "ความหลง" เขาบดบังสติปัญญา คิดว่าแพทย์เป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา เช่น เป็นตัวแพร่ไวรัส

แพทย์ในอินเดียถูกทำร้ายแบบที่เราจินตนาการไม่ออกเลยทีเดียว ทั้งถูกหินขว้างใส่ ถูกด่าทอเสียๆ หายๆ ถูกข่มขู่ ถูกตบหน้าและทุบตี แม้แต่ตำรวจก็ยังทำร้ายหมอโทษฐานทำงานดึกๆ ดื่นๆ จนเลยเคอร์ฟิว นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

กระทรวงมหาดไทยอินเดียแก้ปัญหาด้วยการ "ออกคำแนะนำ" (advisory) ให้คุ้มครองบุคลากรแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่พอ ในเดือนเมษายน สมาคมแพทย์ประจำบ้าน (RDA) จึงมีแถลงการณ์ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ช่วย "บังคับใช้" (implement) มาตรการคุ้มครองบุคลากรทางแพทย์เสียที

แต่จากประวัติการทำร้ายแพทย์ในอินเดียที่ยืดเยื้อมานับสิบปีแล้ว ดูท่าว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ เพราะนอกจากกฎหมายอ่อน ผู้บังคับใช้กฎหมายเองด้วยซ้ำที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ในสถานการณ์ฉุกเฉินตบหน้าแพทย์และใช้กระบองหวดแพทย์ที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนช่วงโควิด-19 ฐานละเมิดเคอร์ฟิว

ที่เห็นกันจะๆ ก็คือเมื่อเดือนมิถุนายนนี่เองยังมีกรณีแพทย์ในโรงพยาบาล Gandhi General Hospital เมืองไฮเดอราบัดถูกญาติคนตายบุกทำร้ายโดยใช้โต๊ะเก้าอี้ของโรงพยาบาลทุบตีแพทย์

แพทย์ในโรงพยาบาลทนไม่ไหว นัดหยุดงานขอให้ทางการช่วยคุ้มครองชีวิตคนทำงานในโรงพยาบาลให้จริงจังกว่านี้ แน่นอนว่า คำขอแค่นี้คงไม่ช่วยหยุดการทำร้ายแพทย์แต่อย่างใดเพราะการเล่นงานหมอมันกลายเป็น New normal ไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น อย่าให้ไทยเหมือนกับอินเดียที่กฎหมายอ่อนแอจนทำให้อันธพาลไปซ่าในโรงพบาบาลไม่หยุดหย่อนจนล่าสุดเหิมเกริมถึงขนาดทำร้ายแพทย์ได้

ถ้าถึงขนาดนี้แล้วยังไม่ลงโทษเด็ดขาด เกรงว่าจะมีพวกเหิมเกริมรายอื่นๆ เลียนแบบแล้วมันจะปราบได้ยาก 

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo: Sarot Meksophawannakul