posttoday

เมื่ออำนาจคว่ำบาตรคนดังอยู่ในมือชาวโซเชียล

18 กรกฎาคม 2563

การแบนส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีหลายครั้งที่พลังของชาวโซเชียลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ช่วงไม่กี่ปีมานี้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์กลายเป็นช่องทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ทรงพลังที่สุด และยังเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามที่อยู่ในใจใครหลายคนได้โดยไม่ถูกปิดกั้นและไม่ต้องแสดงตัวตนที่แท้จริง

ความทรงพลังนี้เป็นที่มาของคำว่า Cancel Culture ซึ่งก็คือการแบนหรือคว่ำบาตรคนดัง ศิลปิน องค์กร หรือใครก็ตามแต่ที่แสดงความคิดเห็น สนับสนุน หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงในโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้คนทั่วไปไม่พอใจหรือผิดหวังในตัวคนคนนั้น

พูดง่ายๆ ก็คือการยกเลิกสัญญา ตัดสัมพันธ์อันดีที่เคยมีระหว่างแฟนคลับกับศิลปิน โจนาห์ เองเกิล บรอมวิช จากหนังสือพิมพ์ The New York Times เปรียบเทียบ Cancel Culture ไว้ว่าเหมือนกับการซับสไครบ์คอนเทนต์ต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถยกเลิกได้ง่ายพอๆ กับตอนที่ซับสไครบ์

ที่มาที่ไป

การแบนหรือคว่ำบาตรไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น บทความเรื่อง What is cancel culture? (วัฒนธรรมคว่ำบาตรคืออะไร) ของเว็บไซต์ Vox ระบุว่า มีการใช้คำคำนี้มาตั้งแต่ปี 1991 ในภาพยนตร์เรื่อง New Jack City ต่อมาในปี 2010 ลิล เวย์น แร็พเปอร์ชื่อดังก็ได้นำคำว่า cancel มาใส่ไว้ในเพลง I’m single ด้วย

แต่ Vox คาดว่าคำคำนี้เพิ่งกลายเป็นคำฮิตในยุคโซเชียลเมื่อปรากฏในรายการเรียลลิตี้โชว์ Love and Hip-Hop: New York ที่ตัวละครตัวหนึ่งใช้บอกเลิกสาว หลังจากนั้น cancel ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทวิตเตอร์ จนพัฒนามาเป็นการแบนหรือคว่ำบาตรศิลปินหรือคนดังโดยชาวโซเชียลมีเดีย

ขณะที่เว็บไซต์พจนานุกรม merriam-webster ไอเดียการคว่ำบาตรเกิดขึ้นในช่วงสังคมออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณี #MeToo ที่ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์ทรงอิทธิพลของฮอลลีวูด คุกคามทางเพศคนดังและพนักงานในวงการบันเทิง

คนดังถูกแบน

ผ่านไปเพียงครึ่งปี คนดังในบ้านเราเจอพลังชาวทวิตเตอร์คว่ำบาตรไปแล้วหลายคน อาทิ แก้ม-วิชญาณี เปียกลิ่น หรือปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางสังคมและการเมือง หรือกรณีเมื่อเร็วๆ นี้คือ ฌอน บูรณะหิรัญ กับการระดมเงินบริจาคช่วยไฟป่า และไม่เว้นแม้แต่แฮชแท็กทางการเมืองอย่าง #เว้นเซเว่นทุกWednesday จากกรณีมูลนิธิป่ารอยต่อซึ่งเกี่ยวโยงกับการเมือง

ส่วนกรณีล่าสุดของต่างประเทศคือ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ผู้เขียนนิยายขายดี Harry Potter ที่เพิ่งแสดงความคิดเห็นทำนองไม่ยอมรับสาวข้ามเพศว่าเป็นผู้หญิง สร้างความผิดหวังให้กับแฟนนิยายของเธอจนเสียฐานแฟนคลับไปไม่น้อย

โซเชียลมีเดียทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในมือ

แคโรลีน คิม ศาสตราจารย์ด้านโซเชียลมีเดียจากมหาวิทยาลัยไบโอลาของสหรัฐ มองว่า โซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังสามารถพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าไม่ถูกต้องได้ด้วย

คิมเผยว่า บางครั้งช่องทางโซเชียลมีเดียก็นำมาสู่การเรียกยอดคลิกหรือยอดไลค์ หรือทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะกระโดดเข้าร่วมขบวนไปกับคนอื่นๆ ด้วย เพราะเชื่อว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลก

คิมยังระบุอีกว่า การแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลจึงกลายเป็นจิตวิทยาฝูงชน (mob mentality) เพราะไม่เพียงแต่เป็นช่องทางให้ผู้ใช้ได้ทำในสิ่งที่ชอบหรือสนับสนุนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หรือมองว่าสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องไม่ดี ไม่ถูกต้องด้วย

การคว่ำบาตรหรือแบนรุนแรงเกินไปหรือไม่

คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แอนน์ แชริตี ฮัดลีย์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเผยว่า สังคมกำลังหาขอบเขตว่าอะไรเป็นเรื่องที่ “เกินไป” ในโลกอินเทอร์เน็ต “บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องดีอาจถูกนำไปใช้เป็นอาวุธ ทุกอย่างสามารถดำเนินไปแบบเกินขอบเขตความพอดีได้หมด ไม่เว้นแม้แต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”

เคยมีใครถูกคว่ำบาตรจริงๆ ไหม

คนดังหรือศิลปินส่วนใหญ่ที่ถูกชาวโซเชียลคว่ำบาตรส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรจริงๆ ในทางปฏิบัติ อาทิ โลแกน พอล ยูทูบเบอร์ชื่อดังที่เข้าไปในป่าที่คนญี่ปุ่นนิยมฆ่าตัวตายแล้วบันทึกภาพผู้เสียชีวิตออกมาเผยแพร่ก็ยังทำคลิปอยู่แต่อาจจะน้อยลงกว่าเดิม

หรือกรณีของ จิมมี่ ฟอลลอน พิธีกรรายการ Tonight Show ที่ถูกโซเชียลโจมตีจากภาพเก่าที่เจ้าตัวทาหน้าเป็นสีดำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และนั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกคว่ำบาตร แต่รายการ Tonight Show ก็ยังออกอากาศอยู่

เอพริล อเล็กซานเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดนเวอร์เผยว่า ความสนใจของผู้คนที่เกิดในช่วงสั้นๆ ทำให้หลายคนรอดจากการถูกคว่ำบาตร เนื่องจากพอเกิดเรื่องน่าสนใจใหม่ๆ เกิดขึ้น เรื่องราวใหญ่โตของเมื่อวานก็ถูกลืม การคว่ำบาตรก็ค่อยๆ เลือนหายตามไปด้วย

Cancel Culture สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

การแบนส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีหลายครั้งที่พลังของชาวโซเชียลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ แฮชแท็ก #OscarsSoWhite ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 จากการนำของ เอพริล เรน นักเคลื่อนไหวที่ต้องการเรียกร้องให้งานประกาศรางวัลออสการ์ให้ความสำคัญกับนักแสดงผิวสี กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) และผู้หญิงบ้าง

แฮชแท็กนี้ทำให้ออสการ์กลับไปทบทวนและปรับปรุงเรื่อยมา จนกระทั่งในปีนี้ที่มีการเสนอชื่อนักแสดงที่เป็นกลุ่มคนส่วนน้อยของวงการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปี 2016