posttoday

ถ้า "แขกวีไอพี" ยังคุมไม่ได้ ก็ไม่ควรเปิดประเทศ

13 กรกฎาคม 2563

ถึงจะมีอภิสิทธิ์ทางการทูต แต่ไม่ควรมีอภิสิทธิ์ในการกักโรค

เชื่อว่าคนไทยครึ่งค่อนประเทศคงรู้สึกผิดหวังและหวั่นใจเมื่อได้รู้ข่าวว่าเราพบผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวกในทหารอียิปต์ที่เข้าพักโรงแรมในเมืองระยอง และยังพบเด็กหญิงในครอบครัวคณะทูตซูดานวัย 9 ขวบติดเชื้อเช่นกันโดยรายนี้พักที่คอนโดฯ แห่งหนึ่งในย่านสุขุมวิท

เรื่องรายละเอียดของทั้ง 2 กรณีก็ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันในหมู่คนไทย เพราะศูนย์บริหารสถานการณ์สถานการณ์โควิด -19 หรือ (ศบค.) ไม่บอกว่าทหารนายนี้พักโรงแรมไหน ไปเที่ยวที่ไหนบ้าง และคอนโดแห่งหนึ่งในย่านสุขุมวิทคือสถานที่ใด?

รู้แล้วจะได้รู้ตัวว่ามีใครไปแถวนั้นบ้างหรือไม่

แต่เราต้องเข้าใจว่าทางศบค. ไม่อยากให้เกิดความรังเกียจบุคคลหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อล่าสุด และที่ผ่านมา ศบค. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการติดตามการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ (Contact tracing) ได้ดีอยู่แล้ว

ที่บอกว่าดีอยู่แล้วไม่ใช่หลับหูหลับตาชม หากมีคนสงสัยเรื่องนี้ให้ย้อนกลับไปดูหลายๆ กรณีในหลายเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งไทยเราตรวจตามผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจนควบคุมได้เป็นผลสำเร็จ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดทำให้คนไทยลืมผลงานที่ผ่านมา และบางคนในโซเชียลเน็ตเวิร์กแสดงความผิดหวังจนถึงขั้นเกรี้ยวกราด

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. พยายามใช้น้ำเย็นเข้าลูบโดยกล่าวว่า "กรณีที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และต้องปรับปรุงต่อไป ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นโฆษก ศบค. ยอมรับว่าไม่สบายใจกับเคสที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดละเลย แต่เป็นจุดอ่อนที่ต้องเรียนรู้และต้องปิดจุดอ่อนต่อไป"

โฆษกศบค. บอกว่า "เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด" และ "เป็นจุดอ่อนที่ต้องเรียนรู้และต้องปิดจุดอ่อนต่อไป"

แต่จนกว่าจะมีการสืบสวนจนทราบชัดว่าผู้รับผิดชอบปล่อยให้บุคคลภายนอกประเทศเหล่านี้เดินทางไปไหนต่อไหนตามใจชอบได้ ก็ยังไม่ควรรีบบอกว่าไม่ใช่ความผิดพลาด

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่ต้องเรียนรู้ บทเรียนที่ได้จะนำมาใช้เตรียมรับมือกับแผนการที่ใหญ่กว่านี้ เช่น Travel bubble

แต่ถ้าแค่ผู้แทนการทูตพลเรือน-เจ้าหน้าที่ทหารยังเอาไม่อยู่ ก็ไม่รู้ว่า Travel bubble จะไปไหวหรือไม่?

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือความเชื่อมั่นของประชาชนดิ่งวูบในทันที รัฐบาลจะต้องฟื้นคืนเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพราะมันจะสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล แต่เพราะมันจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อถืออีกเวลารัฐบาลขอร้องอะไร

เราได้ยินหลายคนพูดว่า ประชาชนยอมเสียสละต่างๆ นานาเพื่อควบคุมโรค แต่รัฐบาลปล่อยให้คนนอกเข้ามาทำลายทุกอย่างเสียอย่างนั้น

คำพูดแบบนี้เกิดจากความผิดหวังโดยแท้ และแน่นอนไม่ใช่ผิดหวังเพราะเชียร์รัฐบาล

แต่ผิดหวังที่รัฐบาลขอให้ทำอะไร ประชาชนก็ยอมทำให้ แต่กับคนต่างชาติรัฐบาลไม่เข้มงวดพอ

เราพอจะเข้าใจได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องติดต่อกับรัฐบาลอื่นเพื่อความร่วมมือด้านต่างๆ แต่กรณีของทหารอียิปต์นั้นเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ความจำเป็นเลยที่จะต้องปล่อยให้เตร็ดเตร่ออกไปจากสถานที่รับรอง

แม้แต่เด็กในคณะทูตที่เดินทางจากซูดาน กระทรวงที่เกี่ยวข้องก็ควรจัดหาบ้านเดี่ยวรับรองไว้ให้อยู่เป็นที่ไว้ก่อนหากเจ้าหน้าที่ทูตไม่มีที่พักเป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่ปล่อยให้ไปอยู่ในอาคารที่พักรวมอย่างคอนโด

นี่คือความบกพร่องที่เห็นชัดๆ

เรายังเห็นถึงช่องโหว่เรื่องการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศกับคณะทูตต่างชาติจากคำพูดของนพ.ทวีศิลป์เองซึ่งกล่าวว่า "เราต้องกำหนดมาตรการโดยละเอียดให้ครอบคลุมมากกว่านี้ และขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศทุกแห่งถึงเรื่องดังกล่าว"

รัฐบาลและกองทัพทำได้น่าพอใจในกรณีผบ.ทบ. สหรัฐ ที่ทำให้คนไทยพอจะคลายใจได้ว่าไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ในฐานะแขกของกองทัพและรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ต้องตรวจหรือกักตัว ทำให้คนไทยรู้สึกว่าสหรัฐไม่ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และผู้ใหญ่ในบ้านเราไม่ได้ยอมอ่อนน้อมตามความต้องการของอีกฝ่าย

แต่เราต้องไม่ลืมว่าที่กองทัพไทยและผบ.ทบ. สหรัฐยอมโอนอ่อนก็เพราะแรงกดดันจากสาธารณชนต่างหาก โชคดีที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ทำให้จับสายตาได้ง่าย

แต่ประเทศเล็กๆ เราดันมาตกม้าตายเสียนี่

อย่าเรียกว่าสอนหนังสือสังฆราชเลย แต่อยากให้รัฐบาลแยก 2 เรื่องนี้ให้ชัดๆ ระหว่าง Diplomatic immunity (ภูมิคุ้มกันหรืออภิสิทธิ์ทางการทูต) กับ Biological immunity (ภูมิคุ้มกันของร่างกาย) ทั้ง 2 เรื่องไม่ควรจะเอามาปนกัน

ไม่ว่าจะผู้แทนต่างประเทศหรือคนทั่วไปต่างก็ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 และอภิสิทธิ์ทางการทูตนอกจากจะไม่ช่วยป้องกันโรคแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกอ้างเพื่อขอใช้สิทธิ์ที่เหนือกว่าคนท้องถิ่นอีกด้วย

แม้จะอยู่ในช่วงกักกันโรค แต่เพราะคุ้นเคยกับการเกรงใจทูตและแขกเมือง อาจทำให้เจ้าบ้านการ์ดตกอย่างไม่น่าเชื่อ

โลกหลังโควิด-19 แม้แต่มารยาททางการทูตก็ต้องเปลี่ยนไป จะมาเกรงอกเกรงใจเพราะเคยตัวกับความเกรงใจอภิสิทธิ์ทางการทูตไม่ได้

ให้ดูตัวอย่างเมื่อตอนที่ หัวชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนตือนไว้ตอนที่เกิดการระบาดในจีนว่า “นักการทูตมีภูมิคุ้มกันทางการทูต แต่กับไวรัสแล้ว พวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกัน”

กระทรววงการต่างประเทศจีนเตือนถึงขนาดนี้แล้วยังมีทูตบางประเทศ "ดื้อ" เช่นเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของสหรัฐประจำประเทศจีน (Frank Whitaker) ที่บอกว่าสถานทูตสหรัฐแนะให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายจีน

แต่เขายังเตือนจีนด้วยว่า "อย่างไรก็ตาม เราคาดหวังว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะปฏิบัติตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ที่กำหนดแนวทางปกป้องและพิทักษ์เจ้าหน้าที่ทูตของเราขณะปฏิบัติราชการในประเทศนี้"

พูดง่ายๆ ก็คือสหรัฐทำตามกฎหมายจีนก็ได้ แต่จีนก็อย่าล้ำเส้นมารยาททางการทูตแล้วกัน ประเด็นก็คือมารยาททางการทูตมันขัดกับมาตรการควบคุมโรคได้เหมือนกัน

ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาอนุญาตให้นักการทูตมีอิสระในการเคลื่อนที่ การเดินทาง และการคุ้มครองจากการถูกคุมขัง ดังนั้นบางประเทศรวมถึงไทยให้อิสระกับทูตไม่ต้องกักตัวตามศูนย์ แต่ให้กักเองในสถานทูตหรือบ้านพัก

แต่บางคนหวงสิทธิ์ของตัวเองอย่างไม่สนใจเจ้าบ้าน ถึงขั้นอ้างอนุสัญญากรุงเวียนนาเพื่อที่จะท้าทายมาตรการกักกันโรค

เราจะเห็นได้ว่าการทำงานกับทูตมันยาก เพราะบางคน "หัวหมอ" ในเรื่องที่ไม่ควรหัวหมอ แต่เราต้องยืนยันเสียงแข็ง เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องต่อรองได้เนื่องจากเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนในชาติ

New normal ไม่ใช่แค่การเรียกร้องประชาชนในประเทศให้ทำตัวให้ชินกับบรรทัดฐานใหม่ในชีวิต แต่ต้องทำให้แขกเมืองชินกับมาตรฐานใหม่ของเราด้วย

หากประชาคมโลกยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรจะให้เกียรติแขกเมือง/ทูตในระดับไหนดี รัฐบาลไทยก็ควรจะกำหนดให้ชัดเองเลยว่านี่คือ New normal ของมารยาททางการทูต ดีไม่ดีจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นได้ปฏิบัติตามบ้าง

เชื่อว่าบางประเทศเข้มงวดกับทูตและแขกของรัฐบาลมากขึ้นแล้ว เพราะมีกรณีมาก่อนไทย เช่น ออสเตรเลียที่พบทูตของประเทศหนึ่งถูกปล่อยตัวกลับไปยังบ้านพักในเมืองแคนเบอร์ราโดยไม่ต้องกักตัวที่โรงแรม แต่ปรากฎว่าในภายหลังทูตรายนี้ติดเชื้อ

เหตุที่ปล่อยไปก็เพราะออสเตรเลียต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเวียนนาที่ให้เสรีภาพอันมากมายกับทูตนี่เอง!

ดังนั้น แอนดรูว์ บาร์ มุขมนตรีประจำกรุงแคนเบอร์ราจึงกล่าวว่า "ภูมิคุ้มกันทางการทูตเป็นภูมิคุ้มกันที่ป้องกันบางเรื่องได้ แต่ไม่ใช่กับโควิด-19"

จะเห็นได้ว่าคนในรัฐบาลออสเตรเลียกับจีนพูดเหมือนกันเด๊ะ

เกรก ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลียยังทิ้งคำคมไว้อย่างที่เราควรทำตามว่า "จะเป็นคนออสเตรเลียนหรือไม่ใช่ก็ตาม หากเหยียบเท้าลงบนแผ่นดินออสเตรเลีย ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเหมือนกัน"

อยากจะฝากศบค. ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเป็นการเรียนรู้กันด้วยสถานการณ์จริง แต่ควรซ้อมกันเองก่อนที่จะเปิดรับคนนอกเข้ามา อย่างที่บอกไปว่าแม้แต่แขกขาจร (ทหารอียิปต์) และแขกเมืองถาวร (ครอบครัวทูตซูดาน) ยังควบคุมไม่ได้ อย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขนาดเปิดประเทศให้มากกว่านี้

เบื้องต้น แค่เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมาก่อน แล้วค่อยคุยกันเรื่องใหญ่กว่านี้

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / ROYAL THAI ARMY / AFP