posttoday

ถึงคราวสหรัฐโดนบ้าง ยูเอ็นสอบสวนฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน

15 มิถุนายน 2563

หลังจากที่สหรัฐเป็นผู้นำในการเผยแพร่หลักการสิทธิมนุษยชนมานาน ตอนนี้กลับถูกสหประชาชาติสอบสวนเข้าให้แล้วฐานละเมิดเสียเอง

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) จะจัดให้มีการอภิปรายอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่อสหรัฐเรื่องการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ, เรื่องความโหดร้ายของตำรวจ และการใช้ความรุนแรงต่อการประท้วงอย่างสันติ โดยการอภิปรายจะจัดขึ้นในวันวันพุธที่ 17 มิถุนายนนี้

การตัดสินใจของ UNHRC เพื่อหาจัดเวทีอภิปรายเรื่องนี้เป็นตามคำร้องขอเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของประเทศเบอร์กินาฟาโซ ในนามของประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา

“น่าเสียดายที่การตายของจอร์จ ฟลอยด์นั้นไม่ใช่เหตุการณ์เดียว” แถลงการณ์ระบุโดยสะท้อนว่าการเหยียดผิวจนทำให้ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐ

แม้แต่ระหว่างการประท้วงต่อต้านความรุนแรงกับคนผิวดำหลังการตายของจอร์จ ฟลอยด์ก็ยังเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมคนผิวดำในสหรัฐ ล่าสุดคือการฆ่าชายผิวดำที่ชื่อริชาร์ด บรูคส์ ในเมืองแอตแลนตาจนทำให้เกิดจลาจลรุนแรงในเมืองนี้

ทั้งนี้ การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ (systemic racism) หมายถึงการมีอคติต่อเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งโดยใช้ วิธีอำพรางอย่างแนบเนียน เช่น การอ้างกฎหมายเพื่อจับกุมทั้งๆ ที่เป็นความผิดสถานเบาแต่ถูกลงโทษสถานหนัก การปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ จนทำให้เป็นคนด้อยโอกาสในสังคม การถูกเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายเพ่งเล็งเพื่อเอาผิดมากกว่าคนสีผิวหรือเชื้อชาติอื่นๆ เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นปกติในสหรัฐ

การเหยียดเชื้อชาติถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 1963 โดยมาตรา 1 ประกาศว่าการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติสีผิวหรือชาติพันธุ์เป็น "การกระทำผิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" และเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง

UNHRC มีสมาชิก 47 ประเทศ ซึ่งสมาชิกของสภาจะคัดเลือกจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมีตำแหน่งหมุน เวียนวาระละ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่ได้เป็นสมาชิกเพราะเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2018 ไมค์ พอมพีโอ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐและนิกกี้ ฮาร์ลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ UNHRC ประกาศว่า สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะถอนตัวออกจาก UNHRC โดยกล่าวหาว่าสภาเป็น "มือถือสากปากถือศีล และรับใช้ผลประโยชน์ตัวเอง" สาเหตุก็เพราะ UNHRC มีท่าทีเป็นเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอล อันเป็นมหามิตรของสหรัฐ

หลังจากที่สหรัฐถอนตัวไปจาก UNHRC จีนก็เข้าเป็นสมาชิกใวันที่ 1 เมษายน 2020

David Ryder/AFP