posttoday

การกดขี่คนผิวดำในประเทศที่ความเท่าเทียมกันไม่มีอยู่จริง

03 มิถุนายน 2563

สหรัฐอาจจะรับประกันว่าประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแล้วชีวิตของคนสีผิวอื่นที่ไม่ใช่ผิวขาวยังถูกเอาเปรียบและกีดกันอย่างเป็นระบบ

1. ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสหรัฐมีจลาจลทางเชื้อชาติถึง 9 ครั้ง หรือเกือบ 2 ปีครั้ง แต่ละครั้งไม่ใช่แค่การประจันหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจแบบพอหอมปากหอมคอแล้วก็เลิกกันไป แต่เป็นความรุนแรงที่กระจายไปทั่วประเทศมีความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

2. สหรัฐเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจลาจลทางเชื้อชาติมากที่สุด และด้วยความที่สหรัฐมักจะโฆษณาว่าตัวเองเป็นประเทศแห่งเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน สหรัฐจึงมักถูกประเทศคู่กรณีเย้ยหยันว่ามือถือสากปากถือศีล เพราะไม่สามารถรับประกันเสรีภาพให้กับคนทุกคนอย่างแท้จริง

3. ในยุคสงครามเย็นที่สหรัฐเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต โซเวียตก็มักจะโจมตีสหรัฐเรื่องนี้จนมีคำขวัญว่า "แล้วคุณก็กำลังแขวนคอคนผิวดำ" (And you are hanging blacks) เพื่อชี้ให้ถึงความบกพร่องของประเทศที่ส่งออกประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่กลับละเมิดสิทธิพลเมืองผิวสีที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่

4. เวลานี้สงครามเย็นครั้งใหญ่กำลังก่อตัวขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ และเป็นอีกครั้งที่จีนหยิบยกเอา "วาทกรรม" นี้มาโจมตีสหรัฐเหมือนโซเวียตเพื่อชี้ให้เห็นว่าขณะที่สหรัฐโจมตีประเทศอื่นว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน (เช่นข้อกล่าวหาว่าจีนปราบผู้ประท้วงที่ฮ่องกงอย่างรุนแรง) สหรัฐกลับทำร้ายประชาชนตัวเอง

5. แต่ทั้งจีนกับสหภาพโซเวียต (รวมถึงรัสเซียในตอนนี้ด้วย) ต่างก็อาจเข้าข่ายว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองเช่นกัน กระนั้นก็ตาม จีนและโซเวียตไม่ได้มีกฎหมายเหยียดเชื้อชาติและสีผิว ส่วนสหรัฐเคยมีกฎหมายนี้และใช้กันมานานนับร้อยปี ทั้งยังมีการฆ่าต่างสีผิวบ่อยครั้งไม่เกินจากที่ถูกกล่าวหาว่า "แล้วคุณก็กำลังแขวนคอคนผิวดำ"

6. อย่างที่ทราบกันดีว่าสหรัฐนำคนผิวดำมาเป็นทาส โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งมีการปลูกฝ้ายเป็นหลักเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาล แรงงานทาสจึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ แต่คนผิวดำมากมายต้องล้มตายและถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์

7. รัฐบาลสหรัฐในยุคประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นจึงประกาศเลิกทาส แต่ภาคใต้ไม่ยอมปฏิบัติตามจึงกลายเป็นสงครามกลางเมือง จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายภาคใต้ นับแต่นั้นทาสจึงไม่มีอีกต่อไปในสหรัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเหยียดคนให้ต่ำกว่าคนจะหมดไปด้วย

8. หลังจากแพ้สงครามกลางเมืองที่บังคับให้เลิกจับคนผิวดำมาลงเป็นทาส ฝ่ายใต้ยังเลิกนิสัยเดิมไม่ได้ ใช้ช่องโหว่ในรัฐธรรมนูญออกกฏหมาย เพื่อแยกคนขาวออกจากคนผิวดำในทุกและวิถีชีวิตไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาใช้ชีวิตปะปนกัน เรียกว่านโยบายแยกเชื้อชาติ (racial segregation)

9. รัฐธรรมนูญสหรัฐไม่ได้สมบูรณ์แบบหรือเป็นคัมภีร์ของลัทธิเสรีนิยม แต่เดิมมันรักษาสิทธิแค่ "ผู้ชายผิวขาว" จนกระทั่งมาแก้ไขครั้งที่ 13 ให้เลิกทาส และไขครั้งที่ 15 ให้สิทธิทุกเชื้อชาติ แต่ถึงจะแก้ไขแล้วศาลสูงก็ยังวินิจฉัยในปี 1896 ว่าการแบ่งแยกนั้นทำได้บนหลักการ "กีดกันแต่เท่าเทียม" (separate but equal)

10. การกีดกันห้ามคนผิวดำเรียนโรงเรียนเดียวกับคนผิวขาว เวลานั่งรถบัสต้องไปนั่งในที่ที่จัดไว้ให้ห้ามปะปนกับคนผิวขาว ร้านอาหารก็ต้องแยกกัน โรงหนัง โรงพยาบาล ห้องสมุด ห้องน้ำ ตู้โทรศัพท์ และอีกมากมาย รวมถึงกองทัพก็แยกเป็นหน่วยผิวดำ นักกีฬาก็ไม่ปะปนกัน และที่ห้ามเด็ดขาดคือห้ามแต่งงานข้ามสีผิว

11. การกีดกันนี้ไม่ได้ใช้กับคนผิวดำเท่านั้น แต่คนเอเชียก็ห้ามมาปะปนกับคนผิวขาว และในทางปฏิบัติหลักการ "กีดกันแต่เท่าเทียม" ไม่มีอยู่จริง เพราะความจริงก็คือชีวิตของคนผิวสีอื่นแย่กว่าคนผิวขาวไปทุกอย่าง เช่น เงินเดือนครูคนผิวดำต่ำกว่าคนผิวขาวถึงครึ่งหนึ่ง

12. กฎหมายที่คุ้มครองการกีดกันนี้เรียกว่า Jim Crow laws ตั้งชื่อตาม Jim Crow เป็นการ์ตูนที่ถูกวาดขึ้นเพื่อแทนตัวตลกผิวดำเพื่อเยาะเย้ยคนผิวดำให้ดูต้อยต่ำ กฎหมายนี้เริ่มตั้งแต่หลังสงครามกลางเมือง มาสิ้นสุดในยุคที่คนผิวดำเริ่มลุกขึ้นสู้จนกลายเป็นขบวนการสิทธิพลเมืองในทศวรรษที่ 60

13. แต่ในทางปฏิบัติคนผิวดำยังถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมอยู่ดี เรื่องนี้เห็นชัดเจนในเขตภาคเหนือของสหรัฐที่แม้จะไม่มีกฎหมายกีดกันแบบ Jim Crow laws แต่ในวิถีชีวิตปกติ คนผิวขาวและคนผิวดำนั้นแยกกันอยู่ และแยกโรงเรียนกันในทางปฏิบัติแม้จะมีกฎหมายห้ามก็ตาม

14. ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้ บางชุมชนในภาคเหนือจะขึ้นป้ายว่าขอให้คนผิวขาวเข้ามาอยู่อาศัยเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้คนผิวดำเข้ามาอยู่ วิธีการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ราคาบ้านและที่ดินตกลง เพราะเมื่อคนผิวดำเข้ามาอยู่จะทำให้คนผิวขาวย้ายหนีออกไป ราคาบ้านก็จะตกลง สุดท้ายแล้วสถานที่นั้จะกลายเป็นย่านคนผิวดำ

15. นายหน้าอสังหาริมทรัพย์รู้แกวจึงใช้วิธีที่เรียกว่า Blockbusting ด้วยการเป่าหูเจ้าของบ้านผิวขาวว่าจะมีคนผิวดำย้ายเข้ามาอยู่ให้รีบขายบ้านในราคาถูกเสีย เมื่อได้บ้านมาแล้วเอเย่นต์ก็จะขายบ้านในราคาแพงกว่าเดิมให้คนผิวดำที่มีรายได้สูงและต้องการจะหนีชีวิตในสลัมมาอยู่ในบ้านดีๆ

16. เมื่อคนผิวดำได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันและการกีดกันตามกฎหมายจบสิ้นลง คนผิวขาวก็เริ่มอพยพจากเขตเมืองหรือดาวทาวน์ไปอยู่ชานเมืองหรือซับเบิร์บ ปล่อยให้คนผิวดำอยู่กันอย่างแออัดในสลัมเขตเมือง หรือเกตโต้ การอพยพของคนผิวขาวไปอยู่บ้านเดี่ยวชานเมืองเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 50 - 60 เป็นช่วงเดียวกับที่คนผิวดำได้รับสิทธิพลเมืองเต็มที่ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า คนขาวอพยพ (White flight)

17. ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขาวเผ่นหนีคือรับไม่ได้ที่จะต้องมาอยู่ปะปนกับคนผิวดำหลังจากสิ้นสุดยุคแห่งการกีดกันสีผิว (desegregation) เช่น ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ซึ่งเป็นเขตเหนือที่ค่อนข้างจะเข้ากับคนผิวดำได้มากกว่าภาคใต้ ในปี 1957 ที่โรงเรียนมัธยม Clifton Park มีนักเขียนผิวขาว 2,023 คนผิวดำ 34 คน อีก ปีต่อมามีผิวดำ 2,037 คนผิวขาว 12 คน

18. การเผ่นหนีของคนผิวขาวทำให้เขตเมืองเต็มไปด้วยคนผิวดำและเชื้อชาติอื่นๆ และด้วยสถานะทางเศรษฐกิจที่แย่กว่าทำให้เขตเมืองมีอาชญากรรมสูง ส่วนคนผิวขาวเมื่อเผ่นหนีมาอยู่ชานเมืองมีการสร้างแนวรั้วและประตูป้องกันจาก "อาชญากรรมจากข้างนอก" ส่วนคนผิวดำก็อยู่กระจุกตัวด้วยกันเอง การทำเช่นนี้ทำให้การกีดกันเชื้อชาติ (segregation) หวนกลับมาอีกทางปฏิบัติ

19. กอปรกับเมื่อคนผิวขาวหนีออกไปทำให้เมืองขายรายได้จากภาษีจึงมีสภาพทรุดโทรมลง นำไปสู่ความล่มสลายของเมือง (Urban decay) ในเวลาต่อมาจึงมีการสร้างภาพว่าเขตเมืองที่เสื่อมโทรมกับอาชญากรรมที่เกิดจากย่านคนยากจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนผิวดำ

20. ดังนั้นการใช้กำลังกับตำรวจต่อคนผิวดำจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะภาพลักษณ์ของคนผิวดำที่ถูกโยงเข้ากับแหล่งเสื่อมโทรมในเขตเมือง แก๊งอาชญากร และคนรายได้ต่ำ ตำรวจอเมริกันจึงมักปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างมีอคติ นำไปสู่การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เช่น การวิสามัญฆาตกรรมโดยไม่สมเหตุผล หรือการใช้กำลังอย่างป่าเถื่อน เช่น กรณีของจอร์จ ฟลอยด์ และตามมาด้วยการประท้วงและจลาจลสีผิวครั้งแล้วครั้งเล่า

21. แต่คนผิวดำไม่สามารถจะถีบตัวเองจากความยากจนได้ง่ายๆ เพราะธนาคารมักจะกีดกันไม่เข้าถึงสินเชื่อ (Mortgage discrimination) ดังนั้นคนผิวดำจำนวนมากจึงต้องจมปลักในย่านเสื่อมโทรมของเมือง การกีดกั้นแบบนี้ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้แม้จะมีกฎหมายป้องกันตั้งแต่ปี 1975 เช่นเดียวกับการเผ่นหนีของคนขาวและความพยายามไม่มาปะปนกันของคน 2 ผิวสี

22. คนผิวดำจำนวนมากสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นคนมีรายได้สูงก็พยายามหนีออกมาจากเมืองมาอยู่ซับเบิร์บเหมือนคนผิวขาวเรียกว่าปรากฏการณ์ คนผิวดำอพยพ (Black flight) แต่แม้คนผิวดำจะมีรายได้มาก ธนาคารก็ยังไม่ยอมปล่อยเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ระดับไพร์ม) ให้ แต่ธนาคากลับปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูง (ระดับซับไพร์ม) ให้ สินเชื่อซับไพร์มจะปล่อยให้คนมีประวัติหนี้เสียและมีโอกาสเบี้ยวสูง ดอกเบี้ยจึงแพงระยับ

23. การปล่อยซับไพร์มให้คนผิวดำแสดงว่าธนาคารยังกีดกันและใช้จุดนี้ตักตวงจนคนผิวดำที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ เป็นการสูบเลือดสูบเนื้อพวกเขาไปพร้อมๆ กับเหยียดผิวอย่างถูกกฎหมาย ตัวอย่างชัดๆ คือในปี 2006 คนผิวดำที่มีรายได้ 200,000 เหรียญสหรัฐต่อปีโอกาสถูกยัดเยียดเงินกู้ซับไพร์มมากกว่าคนผิวขาวที่รายได้ต่ำกว่าคือ 30,000 ต่อปี

24. เมื่อวิกฤตซับไพร์มกลายเป็นฟองสบู่ในปี 2007 คนที่เจ็บหนักคือคนผิวดำ พวกเขาต้องสูญเสียเงินเก็บ เสียบ้าน (คนผิวดำจำนวนถึง 240,000 คนที่เสียบ้านไป หรือมีโอกาสเสียบ้านมากกว่าคนผิวขาวถึง 70%) หากโชคดีก็กลับไปอยู่ในสลัมเขตเมืองเหมือนเดิม หากโชคร้ายก็กลายเป็นคนไร้บ้าน นี่คือความอยุติธรรมในสังคมอเมริกันที่คนส่วนในโลกคาดคิดไม่ถึง

25. ดังนั้นเวลาเราจะตัดสินว่าสังคมไหนมีเสรีภาพและความเท่าเทียมกันหรือไม่ เราจะดูคำพูดสวยหรูในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ได้ ยังมีเงื่อนไขปัจจัยอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้คนกดขี่คนด้วยกันอย่างไม่ผิดกฎหมาย

แน่นอนว่าสหรัฐอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ว่าส่วนอื่นๆ ของโลกจะปลอดจากการเหยียดแบบร้อยเปอร์เซนต์เหมือนกัน

บทความโดยกรกิจ ดิษฐาน

Photo by CHANDAN KHANNA / AFP