posttoday

รับได้มั้ยถ้าราคาตั๋วเครื่องบินจะเพิ่มขึ้น 9 เท่าหลังยุคโควิด  

27 พฤษภาคม 2563

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสพลิกธุรกิจสายการบินและการเดินทางทางอากาศไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากหลายเที่ยวบินทั่วโลกจะต้องหยุดบินชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์จนบางสายการบินแบกรับต้นทุนไม่ไหวต้องยื่นล้มละลายแล้ว ในอนาคตการเดินทางด้วยเครื่องบินก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งในแง่ของผู้โดยสารและสายการบินเอง

นอกจากมาตรการรักษาสุขอนามัย อาทิ การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิที่เข้มงวดขึ้นแล้ว สายการบินยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ด้วยการไม่จำหน่ายตั๋วที่นั่งตรงกลาง และอาจจะต้องปล่อยที่นั่ง 3 แถวสุดท้ายว่างไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินกลางไฟลท์ด้วย

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยว่า มาตรการ social distancing ส่งผลกระทบกับรายได้ของสายการบินโดยตรง เนื่องจากสายการบินต้องลดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวเหลือเพียง 62% ของที่นั่งทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าจุดคุ้มทุนเฉลี่ยที่ต้องขายที่นั่งให้ได้อย่างน้อย 77%

เมื่อขายตั๋วได้น้อยลงราคาต่อที่นั่งย่อมต้องสูงขึ้น

IATA เตือนว่า มาตรการ social distancing จะทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินสูงขึ้น 43-54% เพื่อให้สายการบินมีรายได้คุ้มทุน

ขณะที่ Forbes ระบุว่า ผู้โดยสารต้องควักเงินจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า โดยเที่ยวบินไปกลับจากเมืองแอตแลนตาของสหรัฐไปยังกรุงปารีสของฝรั่งเศสในชั้นประหยัดช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ของสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์สสนนราคาอยู่ที่ 2,126 เหรียญสหรัฐ หรือ 67,798 บาท ส่วนตั๋วชั้นเฟิร์สคลาสเส้นทางเดียวกันอยู่ที่ 7,085 เหรียญสหรัฐ หรือ 225,940 บาท

เดลต้าอาจจะชาร์จราคาสูงกว่าสายการบินอื่นเล็กน้อย เพราะเที่ยวบินไปกลับจากปารีส-ลอสแองเจลิสตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. เป็นต้นไปของสายการบินลุฟท์ฮันซ่าสนนราคาอยู่ที่ 970 เหรียญสหรัฐ หรือ 30,933 บาทสำหรับชั้นประหยัด และ 1,330 เหรียญสหรัฐ หรือ 42,413 บาทสำหรับชั้นประหยัดพรีเมี่ยม

ราคาตั๋วที่แตกต่างกันของสองสายการบินนี้บอกได้เป็นอย่างดีว่าส่วนหนึ่งราคาตั๋วขึ้นอยู่กับสายการบินที่ผู้โดยสารเลือกใช้บริการ

ช่วงเดือน มี.ค.ที่ Covid-19 เริ่มระบาดในยุโรป สายการบินเดลต้ารวมทั้งสายการบินเจ้าอื่นขายตั๋วเพียง 285 เหรียญสหรัฐ หรือ 9,089 บาท แต่ตอนนี้ค่าตั๋วเดลต้าพุ่งขึ้นกว่า 600%

ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้เกิดจากภาระค่าใช้จ่ายที่สายการบินต้องแบกรับจากการปฏิบัติตตามาตรการ social distancing เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงค่าดำเนินการเพิ่มเติมของสนามบินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส

เมื่อสนามบินมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้นทุนเหล่านี้ก็ถูกผลักมายังสายการบิน โดยที่สายการบินก็บวกเพิ่มเอาจากผู้โดยสารตามหลักการค้าขายทั่วไป

ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นสองเท่าอาจจะดูมากแล้ว แต่สายการบินควอนตัสของออสเตรเลียบอกว่าราคาตั๋วเครื่องบินอาจจะต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 9 เท่า เพราะหากทางสายการบินปฏิบัติตามมาตรการ social distancing เครื่องบินที่มีที่นั่ง 128 ที่ จะขายตั๋วโดยสารได้เพียง 22 ที่เท่านั้น

ขณะที่เว็บไซต์ The Indian Express รายนงานว่า กระทรวงการบินพลเรือนอินเดียประกาศว่าจะจำกัดเพดานราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน โดยใช้เกณฑ์ระยะเวลาการบินในการแบ่งกลุ่ม เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าตั๋วเครื่องบินจะราคาสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ราคาตั๋วเครื่องบินจากเดลีไปยังมุมไบอาจสูงถึง 10,000 รูปี หรือ 4,212 บาท จากเดิมอยู่ที่ 5,000 รูปี หรือ 2,106 บาท

แต่หากราคาสูงเกินไปผู้โดยสารอาจจะยังไม่เดินทาง หรือเลือกเดินทางด้วยวิธีอื่นหากเป็นเส้นทางในประเทศ ในขณะที่สายการบินต้องการรายได้จากผู้โดยสารมากที่สุด