posttoday

ใครทำร้ายหมามีโทษถึงตาย ครั้งหนึ่งมีกฎหมายแบบนี้ที่ญี่ปุ่น

06 พฤษภาคม 2563

ในยุคโบราณหลายประเทศในเอเชียมีกฎหมายห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ที่ญี่ปุ่นไปไกลกว่านั้นถึงขั้นประหารผู้ที่ทำร้ายหมา

ในยุคเอโดะของญี่ปุ่นประมวลกฎหมายว่าด้วยความการุณต่อสรรพชีวิต เป็นกฎหมายหลายฉบับที่ออกต่างกรรมต่างวาระกันโดยโชกุนท่านที่ 5 แห่งยุคเอโดะ คือโทะกุงะวะ สึนะโยะชิ (Tokugawa Tsunayoshi) มีเจตนาเพื่อที่จะให้เกิดการปฏิบัติต่อคนและสัตว์ด้วยความเมตตากรุณา

เหตุที่ท่านโชกุนตรากฎหมายฉบับนี้ เพราะเชื่อตามคำพระบอกว่าเหตุที่ไร้ทายาทเพราะเคยฆ่าคนตายมาก่อน จะแก้กรรมได้ก็ด้วยการช่วยชีวิตสรรพสัตว์ทั้งหลาย นี่จึงเป็นที่มาของ "กฎหมายว่าด้วยความการุณย์ต่อสรรพชีวิต" (Shorui Awaremi no Rei) ระบุคำสั่งห้ามจวนเจ้าเมืองต่างๆ ฆ่าปลา ไก่ หมู มาปรุงอาหาร จนถึงที่สุดแล้วมีคำสั่งห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสิ้น เว้นแต่ชาวนาอนุญาตให้ฆ่าศัตรูพืชได้

แต่ประมวลกฎหมายชุดนี้มีที่มาจาก "กฤษฎีกาคุ้มครองสุนัข" เล่ากันว่าเพราะสึนะโยะชิเกิดปีจอ จึงรู้สึกผูกพันธ์กับหมาเป็นพิเศษ จึงมีคำสั่งห้ามทำร้ายหมาทุกชั้นชนไม่ว่าจะเป็นหมาที่เลี้ยงโดยชนชั้นบรรดาศักดิ์หรือหมาข้างถนนที่ไม่มีคนสนใจ

ผู้ละเมิดไม่ใช่แค่ถูกปรับหรือตักเตือนแต่มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต (แต่โทษนี้ก็นับว่าย้อนแย้งอยู่ในตัวเพราะกฎหมายการุณย์ที่สึนะโยะชิตั้งขึ้นมาก็เพื่อยุติการฆ่าฟัน แต่กลับยอมให้มีการฆ่าคนได้หากหมาได้รับอันตราย)

และก็มีผู้รับโทษประหารจริงๆ หลายคนฐานฆ่าหมา และยังมีหนึ่งรายถูกประหารเพียงเพราะทำหมาเจ็บเท่านั้น นอกจากนี้คนที่ฆ่าสัตว์อย่างอื่นก็ถูกประหารด้วย เช่น มีชายคนหนึ่งฆ่านกนางแอ่นไปตัวหนึ่งก็ถูกประหาร ทั้งๆ ที่เขาต้องการนกไปรักษาอาการป่วยของลูก รวมแล้วมีคนถูกประหารเพราะกฏหมายนี้ 13 คน

คนในเมืองหลวงเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) กลัวกันมากถึงขนาดเรียกหมาด้วยความนอบน้อมว่า "อินุ ซามะ" หรือ ท่านหมา

ในปีค.ศ. 1696 มีการประกาศมอบสินบนนำจับผู้ที่แจ้งข่าวการทำร้ายสุนัข และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น มีการตั้งสินบนนำจับเป็นแผ่นทองคำ 30 เรียว (หรือ 30 ตำลึงทอง) คิดเป็นค่าเงินปัจจุบันราว 3.65 ล้านบาท แก่ผู้แจ้งเบาะแสคนฆ่าสุนัข นับว่าเอาจริงเอาจังกันมาก

แต่ปรากฎว่า "กฤษฎีกาคุ้มครองสุนัข" ทำให้ประชากรสุนัขในเมืองหลวงเพิ่มขึ้นครึ่งแสนตัว ทั้งขี้เยี่ยวเหม็นคลุ้งไปทั้งเอโดะ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านชาวช่องกันถ้วนหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น ส่าวนพวกหมาจรจัดก็รับการจัดสรรค์ที่พักพิง มีอาหารการกินดีกว่าคนเสียอีก วันๆ ได้ข้าว ได้ถั่วหมัก ได้ปลาพอเลี้ยงเด็กรุ่นๆ ได้คนหนึ่ง รวมแล้วอาหารที่ใช้เลี้ยงหมาจร 82,000 ตัว จัดพอเลี้ยงคน 100,000 คนใน 1 ปี

เผอิญว่าไม่กี่ปีหลังหลังประกาศกฤษฎีกาคุ้มครองสุนัข ญี่ปุ่นเกิดทุพภิกภัย เก็บเกี่ยวไม่ได้ผล ทำให้คนอดตายเป็นเบือ ยิ่งทำประชาชนขุ่นเคืองกับความการุณย์ 2 มาตรฐานของท่านผู้นำ ไหนท่านโชกุนจะทุ่มเงินหลวงสร้างวัดเอาบุญอีก จนท้องพระคลังร่อยหรอ เรียกว่าสถานการณ์บ้านเมืองคับขันเพราะความใจบุญแท้ๆ

ส่วนเงินที่เอาไปเลี้ยงมหาไม่ได้มาจากไหน เพราะรีดเอาจากประชาชนในนามของ "ภาษีหมา"

เมื่อชาวบ้านทำอะไรหมาไม่ได้ จึงมาลงกับท่านโชกุนแทน ด้วยการมอบฉายาให้ว่า "อินุ คุโบ" หรือ ฯพณฯ ท่านหมาๆ

แต่ประชาชนก็ไม่ได้ลุกฮือต่อต้าน เพราะแท้จริงแล้วนอกจากหมา คนก็ยังได้อานิสงส์จาก "กฎหมายว่าด้วยความการุณต่อสรรพชีวิต" เพราะมันครอบคลุมถึงคนด้วย เช่น เจตนารมณ์อย่างหนึ่งของกฤษฎีกาคุ้มครองสุนัขก็เพื่อจัดระเบียบหมาบรรดาศักดิ์ของพวกซามูไร ที่ชอบเลี้ยงหมาเป็นโขยง เป็นอันตรายต่อชาวบ้านชาวช่อง

แต่ต่อมาพวกหมาบรรดาศักดิ์ถูกขึ้นทะเบียน และสั่งให้เจ้าของต้องดูแลอย่างเข้มงวด อย่าว่าแต่หมาเลยแม้ม้าถ้ามันวิ่งจนเหนื่อยพวกซามูไรก็ต้องหยุดขี่ หาไม่แล้วจะผิดกฎหมายเอา

คนยุคนั้นกับรุ่นต่อๆ มามักมองกฤษฎีกาคุ้มครองสุนัขเป็นเรื่องเหลวไหล คงเพราะการบังคับใช้คลุมเครือ และดูเหมือนเอาใจหมามากกว่าคน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วกฎหมายว่าด้วยความการุณต่อสรรพชีวิต เป็นกฎหมายด้านมนุษยธรรม และสาธารณสุขที่มาก่อนกาล

ส่วนโชกุนโทะกุงะวะ สึนะโยะชิ ถูกมองเป็นตัวตลกไปตามระเบียบ แม้ว่าในความเป็นจริง โชกุนท่านนี้ศรัทธาหลักการุณย์ของพุทธศาสนา และศึกษาหลักมนุษยธรรมของสำนักขงจื๊อ ชอบสนทนาธรรมด้วยความกระตือรือร้น สนับสนุนให้ประชาชนศึกษาธรรมะ และหลักมนุษยธรรม

เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างสังคมที่ดี ซึ่งต่างจากโชกุนท่านอื่นที่ใช้พระเดชควบคุมสังคม

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพประกอบ Courtesan and Attendant Playing with a Dog, (ราวค.ศ. 1716–1736) โดย Nishikawa Sukenobu จาก The Metropolitan Museum of Art.