posttoday

มันไม่ใช่เศษเงินของใคร แต่เป็นเงินของเราทุกคน

08 เมษายน 2563

รัฐบาลอาจจะเป็นคนแจกเงิน แต่เงินมันมาจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเรา เพื่อที่จะใช้ช่วยชีวิตของเราและประเทศของเรา

รัฐบาลแจกเงินไปทำไม? คำถามนี้โพสต์ทูเดย์เคยตอบไปแล้วในบทความเรื่อง "แจกเงินไปทำไม แจกแล้วได้อะไร แล้วเราจะรอดไหม"

ถ้ายังไม่อยากอ่านอะไรยาวๆ ตอนนี้ ขอตอบว่าไม่ได้แจกแค่กันตาย แต่แจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มันไม่ใช่นโยบายขายผ้าเอาหน้ารอด แต่เป็นนโยบาย "เบสิก" ที่จะช่วยคนไม่ให้อดตายและช่วยเศรษฐกิจไม่ให้อยู่ในภาวะล้มเหลว

เมื่อประชาชนที่ตกงานได้รับแจกเงินแล้วพึงนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นเพื่อเอาตัวรอด และเงินที่จ่ายไปนั้นจะไปสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ให้อยู่รอดต่อไป เมื่อธุรกิจอยู่รอดก็จ้างงานต่อไปได้ คนก็ไม่ต้องตกงาน นี่คือวงจรง่ายๆ ของนโยบายแจกเงิน

และไม่ใช่แค่ไทยทำ แต่ทำกันทั่วโลกแล้วในตอนนี้

บางคนอาจจะคิดลึกถึงขนาดที่ว่าเงินที่แจกจะไปตกอยู่กับพวกนายทุนจนหมด นี่คือความกลัวจนเกินเหตุเพราะในสังคมทุนนิยมมันมีทั้งนายทุนใหญ่และนายทุนน้อย นายทุนมืออาชีพและนายทุนขาจร

ตั้งแต่เจ้าของกิจการหมื่นล้านไปจนถึงเจ้าของร้านส้มตำไก่ย่าง

ถ้าว่ากันตาม "เศรษฐศาสตร์อนุรักษ์นิยม" ต้องบอกว่าขอให้มีทุนเข้ามาเถอะระบบมันจะขับเคลื่อนไปได้เอง

รัฐบาลทั่วโลกตอนนี้เน้นช่วยอยู่ 2 อย่าง

1. ช่วยธุรกิจใหญ่ เช่น ภาคการเงินการธนาคาร เพราะถ้ามันล่มหมายถึงวิกฤตหนี้สินและสภาพคล่องที่จะโดนกันถ้วนหน้า แบบนี้ต่อให้ถูกด่าว่าช่วยนายทุนก็ต้อง "จำใจให้บางคนด่า" เพราะถ้านายทุนใหญ่ล้ม ปลาเล็กๆ อย่างเราก็ตายแหงแก๋ไปด้วย

2. ช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลตั้งแต่สหรัฐจนถึงญี่ปุ่นเน้นเรื่องนี้มาก เพราะถึงมันจะเล็กและย่อมแต่มันเป็นแหล่งรายได้ของคนที่มีธุรกิจเป็นของตัวเองไม่ได้ทำงานในระบบใหญ่เหมือนในข้อ 1 ถ้าจุดนี้ล่มมันจะแก้ให้คืนดีได้ยาก

นึกภาพเจ้าของร้านอาหารที่ไม่มีคนเข้าแค่สัปดาห์เดียวก็เจ๊งแล้ว ไม่เหมือนอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ที่สายป่านยาว ต่อให้คนไม่เข้าก็ยังพอประคองต่อไปได้

ปัญหาของเมืองไทยคือ ธุรกิจย่อมๆ เช่น ร้านอาหารริมทาง รถเข็น มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่นอกระบบเกือบทั้งหมด

รัฐถึงต้องใส่ใจกับกลุ่มนี้มากด้วยการแจกเงินพยุงเอาไว้

ดังนั้นเพื่อช่วยชาติ ช่วยเศรษฐกิจ และเพื่อช่วยตัวเอง จงใช้เงินอย่างฉลาดด้วยการนำไปจับจ่ายในสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดหลายทอด อย่าให้มันแค่ต่อลมหายใจไปเดือนๆ แต่ให้ต่อชีวิตเศรษฐกิจให้ตลอดรอดฝั่ง

เพราะเงินที่รัฐบาลแจกไม่ใช่เงินของรัฐบาล มันเป็นเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายไป

และเงินภาษีไม่ใช่แค่รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ทุกคนต้องเสียอยู่แล้วเวลาบริโภค แต่ยังมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ รวมถึงรายได้อื่นๆ ของรัฐบาล

ดังนั้น เงินภาษีที่นำไปแจกมันมาจากรายได้ของประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือด้วย เพราะคนเหล่านี้ "ยังพอถูๆ ไถๆ จ่ายภาษีได้"

ในสหรัฐที่มีแนวคิดแจกเงินเช่นกัน มีผู้เสนอว่าทำไมไม่ใช้วิธีลดหย่อนภาษีไปเลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและกำลังคนในการแจกเงิน?

วิธีการนี้ใช้ในสหรัฐได้ แต่ใช้ในไทยไม่ได้เพราะไม่ใช่คนไทยทุกคนที่เสียภาษีที่ไม่ใช่ VAT

แต่สถานการณ์แบบนี้เราไม่รู้ว่าคนที่ยังพอมีงานมีเงินจ่ายภาษีจะมีโอกาสแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจโลกมันกำลังคืบคลานเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเลวร้าย

สมมติว่าคนตกงานกันครึ่งค่อนประเทศ รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ที่มากเป็นอันดับ 3 หรือ 3) จะหายไปแบบน่าใจหาย

ดังนั้น เราต้องใช้เงินที่ได้รับแจกอย่างฉุกคิดเพื่อไม่ให้ระบบมันขาดน้ำหล่อเลี้ยง ถ้าหมดน้ำหล่อเลี้ยง ธุรกิจจะล่มสลาย คนจะตกงานกันมาก ถึงวันนี้รัฐบาลจะไม่มีเงินมาแจกให้อีก

ถ้าประชาชนคิดไม่ออกรัฐบาลก็ควรจะช่วยบอกว่าควรไปซื้ออะไรที่ไหนเพื่อพยุงกลไกเศรษฐกิจให้รอบด้านที่สุด

ไม่ใช่แจกเงินแล้วก็แล้วกัน

เหมือนญี่ปุ่นเคยแจกเงินแบบนี้แต่ประชาชนติดนิสัยออมเงิน เมื่อได้มาก็ไม่ได้ใช้ เศรษฐกิจยิ่งวอดวายจากภาวะถดถอยเข้าไปอีก บางประเทศ ประชาชนเอาเงินที่ได้ไปใช้แบบ "ไม่ฉลาด" สุรุ่ยสุร่ายในทางไม่จำเป็นก็ทำให้การแจกเงินสูญเปล่าได้เหมือนกัน

ดังนั้นบางประเทศจึงเจาะจงไปว่าเงินที่ได้มาจะเอาไปใช้ที่ไหนบ้าง ซื้ออะไรได้บ้าง และจะให้ดีควรบอกด้วยว่าใช้จ่ายด้วยวิธีนี้แล้วจะช่วยบ้านเมืองได้อย่างไร

เป็นการสร้างนิสัยการเงินที่ดีให้ประชาชนอย่างแยบคาย

ส่วนประชาชนเองก็ไม่ใช่ว่าได้รับแจกเงินแล้วอวดเป็นเศรษฐีในพลัน

แถมตอนนี้ยังมีข่าวว่าแจกไปถึงคนที่มีเงินมีทองใช้เป็นฟ่อนๆ รวดร่ำอวดรวย ทั้งๆ ที่คนทำงานในระบบ จ่ายภาษีถูกต้อง ต้องอดมื้อกินมื้อ ไม่ได้ความช่วยเหลือเป็นชิ้นเป็นอันกับเขา

นี่คือปัญหาของเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งประเทศ เราไม่มีทางรู้ได้หมดว่าคนที่อยู่นอกระบบกำลังลำบากจริงหรือไม่ หรือว่ามีเงินถุงเงินถังแต่เพราะทำงานนอกระบบก็เลยได้เงินกับเขาไปด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่จะแก้กันง่ายๆ แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำระดับที่ปรึกษาประธานาธิบดี เช่น Gregory Mankiw ยังบอกว่า ไม่มีทางรู้ได้ชัวร์ๆ เลยว่าใครจำเป็นต้องใช้เงิน ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐควรจะแจกเงินถ้วนหน้าให้หมดทุกคน

นี่ขนาดสหรัฐยังตรวจสอบไม่ได้ ประสาอะไรกับประเทศไทย ไม่แปลกที่จะมีคนประเภทที่โพสต์ในโลกโซเชียลว่านี่เป็นแค่ "เศษเงิน"

คนที่ควรได้ขุ่นเคืองใจ คนที่ช่วยเฉือนเนื้อมาช่วยเหลือก็น้อยใจ

ดังนั้น รัฐบาลโปรดถี่ถ้วนสักนิดอย่ามัวแต่มั่นใจกับระบบคัดกรองโดย AI เพราะถ้าชะล่าใจหรือคิดสั้นเกินไปเพราะมันจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ถ้าตำเล่นๆ คนที่จะควรได้กินก็ไม่ได้กิน คนที่พอจะเหลือกินเอามาช่วยแจกก็จะพานอดตายไปด้วย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

AFP PHOTO / Ye Aung THU