posttoday

ฮีโร่ก็มีบาดแผล เบื้องหลังวีรบุรุษปัญญาชนแห่งยุคโควิด

07 เมษายน 2563

พวกเขาเคยถูกมองว่าเป็นนักวิชาการที่เก่งแต่เรื่องเรียน แต่วันนี้ "เด็กเนิร์ด" กลายมาเป็นผู้กอบกู้โลก (ตอนที่ 2)

ต่อจากเรื่อง เมื่อปัญญาชนของชาติกลายเป็นฮีโร่ผู้กอบกู้โลก

ดร. คริสเตียน ดรอสเทน (Christian Drosten) กลายเป็นเสาหลักแห่งเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ในประเทศเยอรมนี ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสอย่างหนักแม้จะมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ ดร. ดรอสเทน เป็นที่เคารพกันมานานในฐานะผู้ความรู้ลึกซึ้งและเต็มใจที่จะแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงาน เขาไม่เคยคิดที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง จนเพื่อนร่วมงานบอกว่าเขาเป็นวีรบุรุษโดยบังเอิญ

เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ ดร. ดรอสเทนหัวหน้านักไวรัสวิทยาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Charité ในกรุงเบอร์ลิน ได้กลายเป็นแขกคนหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในรายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์และเป็นดาวเด่นของรายการพอดคาสต์รายวัน ในรายการเขาจะประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงที่ประเทศกำลังประสบอยู่โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไวรัสซาร์สซึ่งเขาได้ศึกษามานานหลายปี

นายกรัฐมนตรีอัลเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) และ เยนส์ สพาห์น (Jens Spahn) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้ ดร. ดรอสเทนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการเมืองเพื่อรับมือต่อวิกฤตการณ์ แต่เขารีบบอกกับสื่อว่า “ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์”

“ผมยินดีที่จะอธิบายสิ่งที่ผมรู้” เขากล่าว “ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จะต้องสื่อสารกับทุกคนอย่างโปร่งใสเพื่อให้เราทุกคนสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ แต่ผมก็ซื่อตรงในสิ่งที่ผมไม่รู้ด้วย”

ฮีโร่ก็มีบาดแผล เบื้องหลังวีรบุรุษปัญญาชนแห่งยุคโควิด

ในบางประเทศนักวิทยาศาสตร์บางคนกบายเป็นวีรชนและกลายเป็นตัวร้ายในเวลาเดียวกัน ในสหรัฐ ดร. แอนโทนี่ เอส. เฟาชี (Dr. Anthony S. Fauci) นักวิทยาภูมิคุ้มกันผู้มีชื่อเสียงซึ่งเป็นหัวหน้าของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ตอนนี้สถานะของเขากลายเป็นเซเลบริตี้ไปแล้ว

แต่ ดร. เฟาชีซึ่งเป็นทีมงานของทรัมป์ที่ผลักดันมาตรการเว้นระยะห่างในสังคมอย่างหนักหน่วงที่สุดกลับถูกโจมตีจากกลุ่มขวาจัด โดยกล่าวหาว่าเขาพยายามที่จะบ่อนทำลายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาถูกขู่เอาชีวิตจนกระทั่งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับดร. เฟาชี

เช่นเดียวกับฮีโร่จากสาขาอาชีพอื่นๆ ที่ถูกดึงตัวมากอบกู้สังคมในช่วงวิกฤตจนต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆ นักวิทยาศาสตร์บางคนก็มีความเสี่ยงเช่นกันจากการล้มป่วยขณะปฏิบัติหน้าที่

ฮีโร่ก็มีบาดแผล เบื้องหลังวีรบุรุษปัญญาชนแห่งยุคโควิด

ในสเปนซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในยุโรปรองจากอิตาลี ดร. เฟร์นันโด ซิมง (Dr. Fernando Simón) กลายเป็นฮีโร่ทางวิทยาศาสตร์ที่ประชาชนรักใคร่ เขาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฉุกเฉินด้านสุขภาพของสเปน

เขาแถลงข้อมูลล่าสุดและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้วยน้ำเสียงที่ชวนให้ตะลึง และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับประชาชนที่มีความวิตกกังวล ซึ่งพากันมานถามคำถามกับเขาทางออนไลน์และเขาได้ให้แนะนำต่างๆ รวมถึงเรื่องที่ว่าประชาชนควรถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านหรือไม่ (เขาแนะนำว่า ไม่จำเป็น)

แต่แล้ว ดร. ซิมง ต้องติดเชื้อไวรัสเสียเองไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ทำให้ประชาชนแห่แหนกันส่งข้อความเป็นห่วงเป็นใยและหวังให้เขาหายป่วยไวๆ

ฮีโร่ก็มีบาดแผล เบื้องหลังวีรบุรุษปัญญาชนแห่งยุคโควิด

ในสหราชอาณาจักร นีล เฟอร์กูสัน (Neil Ferguson) นักคณิตศาสตร์และนักระบาดวิทยาชั้นนำ กลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนในวงกว้างมากขึ้นในชั่วข้ามคืน จากผลงานการทำจำลองการแพร่กระจายของการระบาด

ผลงานของเขากระตุ้นให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมโรคเข้มงวดมากขึ้น จากเดิมที่รัฐบาลใช้วิธีการที่ผ่อนคลายด้วยการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติเพื่อให้ติดเชื้อมากพอกระทั่งสร้างภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่า "เฮิร์ด อิมมิวนิตี้"

ฮีโร่ในชุดกาวน์เหล่านี้ไม่คุ้นเคยกับการได้รับความสนใจกับจากคนในชาติที่จดจ่อกับทุกคำพูดและการกระทำของพวกเขา แถมยังต้องมาพบกับเสียงวิจารณ์ที่โหดร้ายในบางเรื่อง

เช่น ศาสตราจารย์โซติริออส ซิโอดราส แห่งกรีซซึ่งเป็นคนเคร่งศาสนา จนถูกบางคนวิจารณ์หลังมีการปล่อยคลิปที่ถ่ายภาพของเขาขณะที่ยืนอยู่ในโบสถ์ที่เหมือนจะวางเปล่าแม้ว่ารัฐบาลกรีกเรียกร้องให้มีการระงับกิจกรรมทางศาสนา แต่ศาสนจักรกรีกออร์โธดอกซ์กรีกไม่สมัครใจปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะทางสังคม

ฮีโร่ก็มีบาดแผล เบื้องหลังวีรบุรุษปัญญาชนแห่งยุคโควิด

ดร. ดรอสเทน แห่งเยอรมนีถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเขาท้าทายคำสั่งปิดโรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แต่เขาเปลี่ยนความคิดเมื่อได้รับข้อความติติง รวมถึงจากเพื่อนร่วมงานที่แชร์ข้อมูลใหม่กับเขา

แม้จะหลุดกรอบไปบ้าง แต่ฮีโร่เหล่านี้มีความดีความชอบต่อสังคม เพราะพวกเขามอบความชัดเจนให้กับประชาชนในช่วงเวลาที่สับสน

เมื่อเดือนที่แล้ว เช่นเดียวกับทรัมป์และผู้นำคนอื่นๆ ที่ถกเถียงกันหนักมากถึงความจำเป็นในการปิดประเทศเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรงมาก แต่ศาสตราจารย์ซิโอดราสบอกกันตรงๆ ว่าจำเป็นต้องทำ

ในวันนั้น หลังจากให้ข้อมูลอัปเดตตามปกติเขาก็ปิดสคริปต์ ก้มมองอย่างประหม่าด้วยมือที่ประสานกัน เขาบอกกับประชาชนร่วมชาติว่า

“มีคนรู้จักเขียนถึงผมว่าเรากำลังวุ่นวายมากเกินไปกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้ไร้ความสามารถจากความเจ็บป่วยเรื้อรัง” เขากล่าว “ปาฏิหาริย์ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปี 2020 เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นเพื่อคนที่เป็นแม่ของเรา เป็นพ่อของเรา เป็นปู่ย่าตายายของพวกเรา”

ในตอนนั้นเองที่เสียงของเขาเริ่มสั่นเครือ

“เราไม่มีวันเกิดมาเป็นคน หรือมีตัวตนขึ้นมา หากปราศจากพวกเขา”

แปลและเรียบเรียงจาก The Rising Heroes of the Coronavirus Era? Nations’ Top Nerds