posttoday

เปลี่ยนเหล้ามากู้โลก เมื่อโรงกลั่นสุรากลายเป็นผู้ผลิตอาวุธสู้โควิด

06 เมษายน 2563

บริษัทผลิตเหล้าทั่วโลกร่วมใจ หันมาผลิตแอลกอฮอล์สู้โควิด แต่มันไม่ใช่แค่การช่วยเพื่อนมนุษย์ ยังเป็นกลยุทธ์เอาตัวรอดด้วย

ในเวลานี้บริษัทชั้นนำและธุรกิจท้องถิ่นที่ผลิตสุรา (เช่น วิสกี้) และเมรัย (เช่น ไวน์) ในหลายพื้นที่ของโลกเปลี่ยนรูปแบบการผลิตใหม่ จากเดิมที่ผลิตของมึนเมาสำหรับบริโภค มาเป็นการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ เพราะทั้ง 2 อย่างมีแอลกอฮอล์เหมือนกัน เพียงแต่ต้องปรับการผลิตให้มีระดับแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

ในบางประเทศ โรงกลั่นจะไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อหากใช้สูตรหนึ่งในสองสูตรที่พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลก ทำให้การปรับธุรกิจราบรื่นและทันสถานการณ์มากขึ้น

1. สวิสหยุด "ชแนปป์" เปลี่ยนมันเป็นอาวุธ - โรงกลั่นของสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจดัดแปลงโรงงานการกลั่นเหล้าชแนปป์ (Schnapps) จากลูกแพร์ให้เป็นเจลมือฆ่าเชื้อสำหรับใช้กับโควิด-19

บริษัทนี้ คือ Morand Distillery เป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยครอบครัวก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2432 ในเมืองมาตินญี (Martigny) เป็นผู้ผลิต "Poire Williams" ซึ่งเป็นสุราไม่มีสีทำจากลูกแพร์ที่ปลูกในสวนด้านล่างของภูเขาแอลป์ที่ปกคลุมด้วยหิมะ

หลังจากที่มีการระบาดโรงงานนี้ต้องปลดพนักงานออกครึ่งหนึ่งจากจำนวน 50 คน แต่พวกเขายังมีเหล้า Poire Williams ที่หมักมานานและมีระดับแอลกอฮอล์สูงพอที่จะผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้

เปลี่ยนเหล้ามากู้โลก เมื่อโรงกลั่นสุรากลายเป็นผู้ผลิตอาวุธสู้โควิด

2. ออสเตรเลียเปลี่ยนเหล้าเป็นเจล - เนื่องจากความต้องการเบียร์ทรุดฮวบลงหลังการปิดผับและโรงแรมเพื่อต่อสู้กับการระบาด ทำให้ผู้ผลิตเบียร์ของออสเตรเลียแปลงทักษะการกลั่นของมึนเมา มาผลิตเจลทำความสะอาดมือแทน

ตัวอย่างเช่น One Drop ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์ขนาดย่อมแต่ได้รับรางวัลระดับโลก ตอนนี้พวกเขาไม่เหลือเบียร์ในถังอีกและจะไม่ผลิตอีก แต่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทมาผลิตน้ำยาล้างมือแทน

อีกบริษัทคือ Banks and Solander ผู้ผลิตเหล้าจินบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่าได้รับโทรศัพท์จากแบรนด์สกินแคร์ที่อยากจะได้แอลกอฮอล์เอทานอลมาผลิตน้ำยาล้างมือ ด้วยดีมานด์จำนวนมากทำให้หลังจากนั้นบริษัทต้องเปลี่ยนจากเหล้ามาเป็นยาฆ่าเชื้อ

3. โรงกลั่นในสหรัฐปรับตัวครั้งใหญ่ - จากเหนือจรดใต้และตะวันออกถึงตะวันตก โรงกลั่นสุราหลายแห่งในสหรัฐปรับตัวตามสถานการณ์ได้ฉับไวกว่าการตอบสนองการระบาดของรัฐบาลทรัมป์เสียอีก เช่น Hewn Spirits ที่ผลิตเหล้าดีกรีสูงในแถบเมืองฟิลาเดลเฟีย เดิมกลั่นเหล้าขายขวดละ 20 - 40 เหรียญสหรัฐเปลี่ยนมาเป็นแอลกอฮอล์พกพาขวดละ 12 เหรียญพร้อมค่าส่ง ซึ่งน่าจะขายได้ดีกว่าเหล้าแล้วในตอนนี้

โรงกลั่น Theobald & Oppenheimer ในรัฐเพนซิลเวเนียเล่นขายแอลกอฮอล์ 80% ขวดใหญ่ 1 ลิตรๆ ละ 8 เหรียญสหรัฐ แต่แพคเกจอาจจะมีปัญหานิดหน่อยเพราะพวกเขาใช้ขวดเหล้าและปิดฉลากเหมือนเหล้า เพียงแต่มีตัวอักษรโตๆ เขียนไว้ว่า "ห้ามดื่ม"

Steel Tie Spirits ที่รัฐฟลอริดานำเหล้ามากลั่นใหม่เป็นแอลกอฮอล์ส่วนแรกนำไปบริจาคโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือชุมชน ส่วนที่เหลือขายให้ประชาชนทั่วไปขวดละ 10 เหรียญเพื่อนำรายได้มาจุนเจือพนักงานของโรงกลั่นต่อไป

เปลี่ยนเหล้ามากู้โลก เมื่อโรงกลั่นสุรากลายเป็นผู้ผลิตอาวุธสู้โควิด

4. จากถังน้ำเมาสู่ธารน้ำใจ - ที่เมืองทูซอน รัฐแอริโซนา โรงกลั่น Town Under Black Distillery ผู้ผลิตวิสกี้ปรับตัวมาผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อแม้ว่าโรงงานของพวกเขาจะมีศักยภาพในการผลิตเพียง 1 - 2 แกลลอนต่อสัปดาห์ก็ตาม แต่เพราะมีกระแสเรียกร้องนับร้อยๆ เสียงมาขอแอลกออฮอล์จากพวกเขา โรงกลั่นจึงต้องเลิกทำเหล้ามาส่งแอลกอฮอล์แทน

สิ่งที่ต่างจากรายอื่นคือ ผู้ผลิตวิสกี้รายนี้ไม่ได้ขายแต่แจกให้กับผู้ที่ต้องการมันจริงๆ กระนั้นพวกเขายังรับเงินบริจาคออนไลน์ด้วย ถือเป็นโมเดลที่พบกันครึ่งทางระหว่างจิตกุศลสาธารณะกับการเอาตัวรอดทางธุรกิจ

5. ในวิกฤตคือโอกาสที่เยอรมนี - ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ยอดขายน้ำยาฆ่าเชื้อในเยอรมนีเพิ่มขึ้นถึง 750% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาแต่เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 2 - 3 ของมีนาคมยอดขายดิ่งฮวบ ไม่ใช่เพราะความต้องการลดลง แต่มันมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีกเพียงแต่ไม่มีแอลกอฮอล์เหลือให้ขายอีก ทำให้โรงกลั่นได้รับออเดอร์จากแพทย์ คลินิก และร้านขายยา

นี่คือโอกาสแท้ๆ และทำให้ Penninger Distillery ผู้ผลิตเหล้าแอลกอฮอล์สูงในรัฐบาวาเรียระงับการผลิตสุราร้อนแรงมาผลิตแอลกอฮอล์แทน แต่เหมือนสหายร่วมอุดมการณ์ที่เมืองทูซอน พวกเขาไม่ได้ขายผลผลิตแต่แจกให้โรงพยาบาลกับคลินิกที่ต้องการฟรีๆ ช่วงปลายเดือนมีนาคมพวกเขาส่งแอลกอฮอล์ 80% ให้โรงพยาบาลไปฟรีแล้วถึง 10,000 ลิตร

เปลี่ยนเหล้ามากู้โลก เมื่อโรงกลั่นสุรากลายเป็นผู้ผลิตอาวุธสู้โควิด

6. ตัวอย่างในเอเชียก็มี - เช่นเดียวกับผู้ผลิตสุรารายย่อยในโลกตะวันตก รายใหญ่ในเอเชียก็หันมาแบ่งกำลังการผลิตน้ำเมามาผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อและแจกให้กับสถานพยาบาล เช่น San Miguel Corp. ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์กำลังเตรียมพร้อมที่จะผลิตแอลกอฮอล์มาเป็นยาฆ่าเชื้อแจกให้กับโรงพยาบาลและผู้ที่ต้องการ หลังจากที่ฟิลิปปินส์ขาดแคลนอย่างหนัก

Ginebra San Miguel Inc บริษัทลูกกำลังหมักกากน้ำตาลที่ใช้ในโรงกลั่นเหล้ายินเพื่อผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ 70% ในโรงงานทั้ง 6 แห่งให้ได้ 100,000 ลิตรต่อวันท่ามกลางการขาดแคลนสารฆ่าเชื้อและสารฆ่าเชื้อโรค เมื่อได้แล้วจะนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลและหมู่บ้านทั่วประเทศ

ส่วน Alliance Global Group Inc. ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มบรั่นดี Emperador Inc. ได้ให้คำมั่นว่าจะบริจาคแอลกอฮอล์ 1 ล้านลิตร โดยเบื้องต้นได้ส่งมอบไปยังเมืองหลวงและจังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ของฟิลิปปินส์

7. น้ำเมาไทยเราจะไปทางไหนดี? - ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่มันสะท้อนว่าธุรกิจบางอย่างมีความยืดหยุ่นกับการเอาตัวรอด (resilience) สูงมากเมื่อสถานการณ์เรียกร้องก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเอาตัวรอดได้ด้วย และยังช่วยให้คนอื่นรอดได้อีกด้วย

ประเทศไทยควรพิจารณาแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างเพื่อให้ประชาชน ท้องถิ่น และธุรกิจขนาดย่อมสามารถใช้ทักษะมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อตอบสนองความต้องการในเวลานี้

ชุมชุนท้องถิ่นของไทยมีศักยภาพในการกลั่นสุราดีกรีสูงเหลือเชื่อ และสุราแรงเหล่านี้พัฒนาต่อยอดเป็นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื่อได้ไม่ยาก หากรัฐบาลช่วยปลดล็อคข้อบังคับที่เอาเปรียบผู้ผลิตรายย่อยหรือแทนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ไปไล่จับข้อหาต้มเหล้าเถื่อนเหมือนที่ผ่านมา

หรืออย่างน้อยก็ควรเปลี่ยนโรงกลั่นสุราของรัฐมาผลิตยาฆ่าเชื้อแทน ซึ่งมีข้อดีหลายอย่างทั้งการรับมือกับความต้องการสุราที่ลดลง และตอบสนองดีมานด์แอลกอฮอล์ดีกรีสูงที่เพิ่มขึ้น

ในระยะยาวยังอาจช่วยลดการดื่มสุราในประเทศ ที่เป็นปัญหาด้านสุขภาพของชาติอีกด้วย