posttoday

อยู่กับความจริง ค้นหาสิ่งใหม่ๆ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน

02 เมษายน 2563

โลกยังไม่ล่มสลาย ในความวุ่นวายอาจมีช่องทางให้เรามองเห็นสิ่งใหม่เพื่อตัวเราและประเทศของเรา

เรากำลังทำสงคราม 2 สมรภูมิในเวลาเดียวกัน มันคือสงครามกับไวรัสและสงครามกับเศรษฐกิจตกต่ำ

สงครามกับเศรษฐกิจตกต่ำไม่เหมือนสงครามการค้าที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ประเทศ เช่นจีนกับสหรัฐ แต่สงครามกับเศรษฐกิจตกต่ำเป็นการต่อสู้กับเงื่อนไขที่เลวร้ายจากผลพวงของการระบาด

แต่ละประเทศได้รับบาดเจ็บจากโควิด-19 เหมือนกัน แต่บาดแผลต่างกัน สำหรับเมืองไทยบาดแผลนั้นโดนเข้าไปที่จุดสำคัญคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

หลังการระบาดที่จนจีนนักท่องเที่ยวไม่มา เราก็ยังหวังว่าจะพึ่งทัวร์จากยุโรป เมื่อโรคลามไปยุโรป เราก็เริ่มหมดหวังที่จะพึ่งใครอีก จากนั้นสถานการณ์ก็เลวร้ายลงแบบกู่ไม่กลับ เริ่มจากโรงแรมที่ไม่มีใครพักจนถึงสนามบินที่ร้างผู้คน และล่าสุดบางสายการบินต้องหยุดทุกเที่ยวไปนานเดือน

ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง สูงจนผู้เขียนเคยเตือนหลายครั้งแล้วว่ามันอันตรายเกินไป ตอนนี้จะมาต่อว่าก็ใช่เรื่อง ได้แต่หวังว่าหลังจากเรื่องสงบแล้วเราจะทบทวนให้ดีว่าควรจะมีกลไกอะไรมารองรับไม่ให้อาการสาหัสแบบนี้

แต่ในตอนนี้ก็ยังมีโอกาส เพราะสิ่งที่ตามมมาคือปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ดังจะเห็นว่าตอนนี้บางประเทศเริ่มที่จะงดส่งออกข้าว และมีออเดอร์สั่งข้าวไทยสูงขึ้นจนน่าดีใจ แม้ว่ามันจะเป็นโอกาสบนความลำบากของชาวโลก แต่ก็ยังเป็นคุณต่อคนไทยอยู่บ้างและน่าจะทำให้เราหวนกลับมาเอาดีด้านนี้กันแบบจริงจัง

ไม่ใช่อุดหนุนอุตสาหกรรมเกษตรของนายทุนไม่กี่ราย แต่ทำให้ภาคเกษตรของเราเข้มแข็ง คนปลูกรวย คนขายรวย คนซื้อก็พอใจ

ส่วนภาคท่องเที่ยวนั้นก็ลดการพึ่งพาลงบ้างเพราะเห็นแล้วว่ามันเปราะบางต่อวิกฤตแค่ไหน

พูดภาษาอังกฤษคือ House of Cards เป็นอะไรที่สร้างขึ้นบนรากฐานไม่มั่นคง เจอลมเบาๆ ก็คลอนแคลนแล้ว แต่นี่เป็นระดับมรสุมเลยทีเดียว

ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงจะตายใจไม่เชื่อว่าโลกเราจะมีเรื่องแบบนี้ ไม่มีทางหรอกที่จะเกิดโรคระบาดแบบไข้หวัดใหญ่สเปน ไม่มีอีกแล้วสงครามเย็น ไม่มีทางที่จะเกิดสงครามโลก

ไปมาๆ ในเวลา 2 ปีมานี้เกิดเรื่องใหญ่ไปแล้ว 2 เรื่องคือโรคระบาดทั่วกับการเผชิญหน้าของ 2 มหาอำนาจ เหลือสงครามโลกเท่านั้นที่ยังไม่เกิด

หากมีเรื่องสะเทือนโลกแบบนี้อีกการท่องเที่ยวจะเอาอยู่หรือ? ไทยจะรอดหรือ? ขอให้ตรองกันดูให้ดี

แล้วทางรอดของเราคืออะไร?

ในเวลาเฉพาะหน้า เราต้องหันมากระตุ้นการบริโภคภายใน ให้คนกลับมาซื้อของในประเทศ เพื่อให้เม็ดเงินที่แจกไปหมุนเวียนในประเทศจริงๆ

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศมากเพราะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในช่วงที่ผลกระทบจากการระบาด ช่วงกลางเดือนมีนาคมนั้น เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายร่วมประชุมกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้คำมั่นสัญญากันว่าจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศและปลดล็อกศักยภาพการบริโภคให้เพิ่มขึ้นเพื่อสู้กับการระบาดใหญ่ เพราะการบริโภคภายในคิดเป็น 57% ของจีดีพีเมื่อปีที่แล้ว

ทีมนโยบายจีนบอกว่าจะ "ปลดปล่อยรูปแบบการบริโภคใหม่" ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก แม้ว่าเรายังไม่รู้ว่ามันใหญ่อยางไร แต่เราก็ควรจะมีโมเดลใหม่ๆ แบบนี้ขึ้นมาบ้าง

ในส่วนของไทยเรานั้นไม่มีอะไรจะวิเศษไปกว่าการกระตุ้นให้คนไทยซื้อสินค้าของคนไทยกันเอง

บางคนอาจจะเถียงว่าทุกวันนี้ก็ซื้ออยู่แล้วนี่? ผู้เขียนจะบอกว่าที่ซื้อไปแน่ใจหรือว่าเงินไปถึงผู้ผลิตรายย่อยจริง? และเงินหมุนเวียนไปถึงคนส่วนใหญ่จริง?

ที่จีนตอนนี้ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น/ภูมิภาคลงมาช่วยประชาชนขายของเอง ในทำนองช่วยโปรโมทอาหารการกินที่เป็น "ของดี" ในภูมิภาคนั้น

การทำแบบนี้ทำให้คนหันมาสนใจสินค้า เพราะรู้สึกแปลกตาที่เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาทำอะไรน่ารักขำๆ เพื่อช่วยขายของให้พี่น้องเกษตรกร เมื่อยอดวิวมา ยอดสั่งซื้อก็มาก

แต่เมืองจีนมีข้อดีกว่าไทยตรงที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งสินค้าดีกว่ามาก ไม่นับระบบอีเพย์เมนต์ที่ไปไหนต่อไหนแล้ว ถ้าเราหันมาสนับสนุนจุดนี้ต่อไปเงินจะถึงประชาชนจริงๆ ไม่ต้องผ่านนายหน้าใหญ่ๆ อีกต่อไป

อีกเรื่องที่ไทยมีปัญหามากกว่าจีน คือบริการส่งอาหารเริ่มที่จะ "ขูดรีด" ผู้บริโภคและร้านอาหารที่ร่วมบริการโดยใช้โอกาสนี้ขึ้นค่าส่งค่ารับในอัตราที่สูงจนน่าตกใจ

ขณะที่เมืองจีนแทบไม่มีการขึ้นราคาค่าบริการ!

จากการซักถามแหล่งข่าวที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว พบว่าบริการส่งอาหารในเมืองใหญ่เหล่านี้ไม่มีการเพิ่มราคา และบริการยังรวดเร็วเหมือนเดิมไม่มีช้าลงทั้่งๆ ที่ความต้องการสูงขึ้นหลายเท่าตัว

บางบริการมีขึ้นราคาเล็กน้อยเช่น ส่านซ่ง (Shansong) ในกว่างโจวที่ของเพิ่มค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเท่านั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีแค่ส่านซ่งเท่านั้นที่ขึ้น "นิดหน่อย" เจ้าอื่นยังรักษาราคาเท่าเดิม

นี่คือประสิทธิภาพของจีนที่ไทยควรเลียนแบบ โดยเฉพาะไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคา

คนจีนมีนิสัยเหมือนคนไทยคือชอบกิน มีอาการดีๆ ที่ไหนจะดั้นด้นไปกิน มีของดีที่ไหนน่าซื้อก็จะซื้อมาลองกินให้ได้

ภาษาจีนเขาเรียกกว่า "ชือฮั่ว" คือนักชิมชั้นเซียน คนจีนกับคนไทยมีนิสัยแบบนี้เหมือนกัน และนิสัย "ชือฮั่ว" นี่แหละที่จะฟื้นฟูประเทศจีนให้กลับมาดีดังเดิมอีกครั้ง

ไม่เฉพาะ "ชือฮั่ว" เรื่องของกิน แต่สินค้าที่ผลิตในไทย โดยคนไทยทุกอย่างจะต้องได้รับการสนับสนุน

ใครที่เกิดทันคงจำได้ว่า "ป๋า" พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ท่านมีไอเดียกระตุ้นเศรษฐกิจหลายเรื่อง เพราะในยุคของท่านเจอกับวิกฤตเข้าอย่างจัง คือ วิกฤตน้ำมันปี 2522

หนึ่งในเคมเปญใหญ่คือ Made in Thailand สนับสนุนให้ประชาชนใช้สินค้าไทย และสร้าง "ยุคโชติช่วงชัชวาล" ด้วยการสร้างอุตสาหกรรมพลังงานคือ ปตท. เพื่อไม่ให้ประเทศต้องพึ่งคนอื่นมากเกินไป

อีกแคมเปญหนึ่งที่ "ป๋า" ให้กำเนิดคือ "Visit Thailand Year" ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างหนักจนถึงทุกวันนี้

นโยบายยุคป๋าอาจจะเก่าไปแต่เป็นแรงบันดาลใจให้คิดอะไรใหม่ๆ ในทำนองเดียวกันได้ ที่สำคัญต้องคิดให้ลึกกว่ายุคป๋า เพราะการสนับสนุนให้ประชาชนใช้สินค้าไทยในยุคนั้นไม่ได้ช่วยอะไรนัก ด้วยเหตุที่สินค้าที่ผลิตต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ แถมนายทุนการผลิตก็ต่างชาติเสียมาก

ดังที่นโยบายนี้โดนวงคาราบาวแซะด้วยบทเพลงชื่อเดียวกับนโยบายป๋านั่นเอง

โจทย์ก็คือเราต้องสร้างพลังการบริโภคภายในให้ใหญ่เหมือนจีนให้ได้ จีนมีการ "บริโภคแบบชาตินิยม" ที่สูงเกือบ 60% ทำให้ต้านสงครามการค้าได้และอาจจะฟื้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้เร็ว

แน่นอน ผู้เขียนไม่ได้ต้องการให้เราวางมือจากการท่องเที่ยว ไอที อุตสาหกรรมรถยนตร์ลงไปดำนาปลูกข้าว แต่จะสะท้อนว่าเราต้องมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่อิงกับ "สิ่งที่จับต้องได้" อิงกับ "ปัจจัยสี่"

โครงสร้างนี้จะเป็นเหมือนฟูกที่คอยรองรับเราตอนที่เกิดเรื่องใหญ่ๆ เหมือนตอนนี้

เพราะทุนนิยมที่เราหมกมุ่นกับมันมาหลายสิบปีอยู่บนรากฐานของสิ่งที่จับต้องไม่ได้หลายๆ อย่าง

เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นเราจะตระหนักได้ว่าชีวิตของเรามีส่วนเกินมากมาย ธุรกิจที่อิงกับส่วนเกินของชีวิตเหล่านี้ขับเคลื่อนโลกของเรามาหลายสิบปี แต่มันหาได้มั่นคง

พอเจออะไรหนักๆ ก็พังพาบเหมือน House of Cards ที่บอกไป

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photos by AFP