posttoday

โควิดทำบ้านแตก ตัวเลขผัวเมียตบตี-ขอหย่าพุ่งพรวด

02 เมษายน 2563

เกิดความกังวลขึ้นทั่วโลกว่าระหว่างที่รัฐบาลสั่งประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านนั้น การใช้ความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น 

มาร์ลีน เชียปปา (Marlène Schiappa) รัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศของฝรั่งเศส ประกาศว่ารัฐบาลจะจัดหาโรงแรม 20,000 แห่งสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาอีก 20 แห่งตามร้านค้าทั่วประเทศ ให้ผู้หญิงเข้ามาขอความช่วยเหลือขณะที่ออกมาทำธุระนอกบ้าน  

ขณะที่ คริสโตฟ กัสตาแนร์ (Christophe Castaner) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเผยว่า ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวสามารถขอความช่วยเหลือกับเภสัชกร และรัฐบาลยังมีแผนจะเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอีกราว 1 ล้านยูโร หรือราว 36.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีเรื่องร้องเรียนเพิ่มขึ้น   

ทั้งนี้ ทางการฝรั่งเศสพบว่ามีการร้องเรียนการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้านเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา  โดยในกรุงปารีสมีการแจ้งความเพิ่มขึ้น 36% ส่วนพื้นที่อื่นทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 32%   

นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงเสียชีวิต 2 รายจากการถูกคนในครอบครัวทำร้าย โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปด้วยกัน  

ขณะที่การกักตัวในประเทศจีนส่งผลให้คู่สามีภรรยาต้องการหย่า และใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.หลังจากมาตรการกักตัวสิ้นสุดลง ถือเป็นการดับฝันทางการจีนที่พยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้โอกาสกักตัวในการผลิตทายาทเพิ่ม   

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เมืองซีอานในมณฑลส่านซี และเมืองต้าโจวในมณฑลเสฉวน มีการยื่นคำร้องขอหย่ามากที่สุดจนเจ้าหน้าที่แทบจะไม่มีเวลาพักดื่มน้ำ ขณะที่ สตีฟ ลี ทนายความในเมืองเซี่ยงไฮ้ระบุว่า หลังจากคำสั่งกักตัวสิ้นสุดลงเขามีคดีฟ้องหย่าเพิ่มขึ้นถึง 25%

และไม่ใช่เฉพาะการขอจดทะเบียนหย่าเท่านั้น แต่ในจีนยังมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย

สำนักข่าว Sixth Tone รายงานว่า ในเดือน ก.พ. ตำรวจในท้องที่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีในมณฑลหูเป่ยใกล้กับเมืองอู่ฮั่นได้รับเรื่องร้องเรียนการใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึง 162 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3 เท่า  

นอกจากนี้ ยังพบว่าแม้ผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติหลังโรคระบาดหายไปแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจและจิตใจจะยังคงอยู่อีกหลายเดือน

ผลการศึกษาวิจัยประชาชนในฮ่องกงช่วงที่โรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2002-2003 พบว่า หลังจากเกิดโรคระบาดผ่านไป 1 ปี ชาวฮ่องกงยังมีภาวะเครียดกังวล และความหดหู่หลงเหลืออยู่ และยังพบว่าอัตราการหย่าในปี 2004 เพิ่มขึ้นจากปี 2002 ถึง 21% 

หนังสือพิมพ์ Global Times ของจีนรายงานว่า ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนครั้งหน้า ทางการจะพิจารณาให้คู่สามีภรรยาที่ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าต้องรอ 30 วัน โดยระหว่างนี้สามารถขอถอนคำร้องได้ เพื่อหวังให้ปรับความเข้าใจกัน