posttoday

นักวิจัย MIT เตือนแค่จามก็ทำโคโรนาไวรัสปลิวไกล 8.23 ม.

02 เมษายน 2563

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อเบอร์ต้นๆ ของสหรัฐ แย้งว่าจะต้องเป็นการจามที่รุนแรงมากๆ เท่านั้นละอองจึงจะกระเด็นไปไกลขนาดนั้น

ลีเดีย โบรุยบา (Lydia Bourouiba) รองศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ศึกษาเรื่องพลังงานและการเคลื่อนที่ของการไอและจามมานานหลายปี เผยแพร่งานวิจัยในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (JAMA) ระบุว่า การไอหรือจามทำให้ละอองน้ำลายที่อาจมีเชื้อโคโรนาไวรัสกระจายไปได้ไกลถึง 27 ฟุต หรือ 8.23 เมตร และยังลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังระบุว่าคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้อยู่ห่างกัน 3 ฟุต หรือของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ที่ให้อยู่ห่างกัน 6 ฟุต อ้างอิงจากข้อมูลตั้งแต่ช่วงปี 1930 ซึ่งล้าหลังและไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี ต่อมา แอนโธนี ฟอซี (Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติและทีมงานรับมือโรค Covid-19 ของสหรัฐ แย้งว่างานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะจะต้องเป็นการจามที่รุนแรงมากๆ ละอองจึงจะกระเด็นไปไกลตามที่โบรุยบากล่าว และในทางปฏิบัติไม่มีใครจามแรงขนาดนั้น

ขณะที่องค์การอนามัยโลกชี้แจงกับสำนักข่าว USA Today ว่า องค์การอนามัยโลกจะตรวจสอบหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างระมัดระวัง และจะแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม