posttoday

อนุทิน ชาญวีรกูลในสายตาชาวโลก

26 มีนาคม 2563

ในบรรดารัฐมนตรีของไทยของรัฐบาลนี้ คุณอนุทินได้ฝากชื่อไว้ให้ชาวโลกได้จดจำมากที่สุด

ความเก่งกาจของทีมแพทย์ไทยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอื่นๆ ไม่เป็นที่ต้องสงสัย เพราะไม่อย่างนั้นยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19ในประเทศไทยคงจะพุ่งพรวดเหมือนอินโดนีเซียและคงจะติดเชื้อมากมายเหมือนมาเลเซีย

แต่ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจว่าทำไมสื่อต่างประเทศถึงไม่ค่อยยกไทยเป็นตัวอย่างโมเดลที่ดีในการควบคุมโรคระบาดทั้งๆ ที่ผลงานก็โดดเด่น สื่อต่างประเทศมักไปชื่นชมสิงคโปร์หรือแม้แต่เกาหลีใต้ที่วันนี้ก็ยังติดเชื้อหลักร้อย

มาถึงบางอ้อว่า แม้ "ทหารเดินเท้าจะรบเก่ง" แต่ "แม่ทัพบัญชาการไม่ดี"

แม่ทัพเป็นเสมือนหน้าตาของกองทัพ เมื่อแม่ทัพไม่น่าไว้ใจหรือมีพฤติกรรมที่น่ากังขา คนเขาก็ย่อมจะกังขาทั้งกองทัพไปด้วย

ไม่เฉพาะแต่คนในประเทศเท่านั้นที่รู้สึกไม่มั่นใจกับการบริหารของรัฐบาล แต่ต่างประเทศก็เห็นเหมือนกัน ความสับสนของการสั่งการที่ตอนเช้าสั่งอย่างหนึ่งตอนบ่ายสั่งอย่างหนึ่ง และการทำงานเหมือนวงดนตรีที่เล่นกันคนละเพลง เล่นเอาคนในชาติหัวปั่น และคนนอกประเทศส่ายหน้า

โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยมีผลงาน "โดดเด่น" เป็นพิเศษ

ที่ผู้เขียนใช้คำว่า "โดดเด่น" ไม่ได้หมายความในแง่บวก แต่เป็นแง่ลบ

ผลงานแรกที่เรียกแขกมาจนถึงทุกวันนี้คือการที่ท่านรัฐมนตรีฉุนเฉียวกับชาวต่างชาติที่ไม่ยอมรับหน้ากากอนามัยจนกระทั่งเอ่ยปากไม่ต้อนรับ

ต่อมาท่านยังทวีตข้อความว่าฝรั่งสกปรกและไม่อาบน้ำ ถึงจะลบข้อความไว้แต่ท่านไม่ไวไปกว่า "นักแคป" ที่จัดการแพร่มันไปทั่วโลก แม้ว่าท่านจะยืนยันกับ BBC ว่าไม่ใช่คนโพสต์ก็ตาม

ท่านจะทราบหรือไม่ว่าชาวโลกเขาเรียกท่านรัฐมนตรีว่า "racist" หรือพวกเหยียดเชื้อชาติ ทั้งชาวต่างชาติในไทยและชาวโลกภายนอกต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด

เป็นโชคดีในโชคร้ายที่โลกของเราในตอนนี้มีเหตุการณ์เหยียดเชื้อชาติมากมายเต็มไปหมด ดังนั้นความสนใจเบี่ยงเบนไปทางอื่นบ้าง หากเป็นสถานการณ์ปกติเมืองไทยเราต้องถูกถล่มเละเป็นแน่นอน

และมันจะส่งผลต่อการภาพลักษณ์ประเทศไปด้วย เพราะผู้นำคือภาพสะท้อนของประชาชน ผู้นำแสดงออกอย่างไร คนเขาก็มักจะคิดว่าผู้ตามเป็นคนจำพวกเดียวกัน

ส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่คิดว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็น "racist" ตรงกันข้ามผู้เขียน "พยายาม" เข้าใจที่ท่านทำไมถึงไม่อยากจะต้อนรับชาวต่างชาติที่ขัดขืนต่อมาตรการป้องกันโรค

แต่อยากจะให้ท่านระวังคำพูดสักนิดเพราะ "คำพูดเป็นนาย" และ "ปลาหมอตายเพราะปาก" ได้ คนที่จะลำบากไม่ได้มีแค่ท่าน แต่เป็นคนไทยทั้งประเทศ

จะขอยกตัวอย่างความเห็นของชาวต่างชาติเกี่ยวกับท่านสักเล็กน้อยเพื่อยืนยันว่าผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอาเอง

เช่น Mercedes Hutton ที่เขียนบทความให้ South China Morning Post เธอเขียนว่า

"ผลข้างเคียงที่น่าเกลียดบางอย่างของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเกลียดกลัวชาวต่างประเทศและการเหยียดเชื้อชาติที่การระบาดได้กระตุ้นให้เกิดขึ้น และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจก็ไม่รอดพ้นจากการติดเชื้อนี้ .... ดูเหมือนว่าประเทศไทยก็ใช้วิธีพิลึกกึกกือในการด่าว่าอย่างน่ารังเกียจ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ทวีตที่โพสต์โดยบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ซึ่งได้ถูกลบไปแล้ว ได้บอกว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตก “สกปรก” มีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อไวรัสมากกว่านักท่องเที่ยวชาวเอเชีย"

นี่เป็นความเห็นของสื่อต่างชาติที่น่าเชื่อถือ ยังไม่นับคอมเมนต์ในโลกโซเชียลที่เลวร้ายกว่านี้หลายเท่า

ยิ่งเป็นสื่อประเภทแท็บลอยด์ด้วยแล้ว ยิ่งใส่สีตีไข่จนภาพลักษณ์ของท่านเละเทะ เช่น Express ในประเทศอังกฤษที่พาดหัวข่าวเสียจนน่าตกใจว่า "รัฐมนตรีของไทยก่อเรื่องความขัดแย้งทางเหยียดเชื้อชาติอันน่าสยดสยอง หลังจากผรุสวาทเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสว่า 'F*** the west!'"

คงไม่ต้องแปลว่า 'F*** the west!' คืออะไร แต่ท่านไม่ได้พูดแบบนี้ เพราะนี่คือการใส่สีของสื่อตะวันตก

แต่มันสะท้อนให้เห็นว่าคำพูดของท่านล่อแหลม ควรที่จะสำรวมวาจามากกว่านี้ แต่ล่าสุดท่านก็ยังเอ่ยคำพูดที่สะเทือนใจออกมา สร้างความขุ่นเคืองไปทั้งประเทศ แม้คราวนี้จะไม่มีฝรั่งเข้ามาเกี่ยว แต่สถานการณ์ของท่านตอนนี้ "เละ" กว่าตอนต่อว่าฝรั่งเสียอีก

เหมือนคราวที่แสดงความเห็นเรื่องฝรั่ง ท่านรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงว่าไม่มีเจตนาเช่นนั้น

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้พิพากษาจึงไม่อาจตัดสินได้ว่าท่านผิดหรือประชาชนคนไทยฟังผิด ได้แต่บอกว่า "กรรมเป็นเครื่องสะท้อนเจตนา"

ในภาษาอังกฤษมีคำศัพท์ 2 คำที่ใกล้เคียงกันแต่มีความหมายต่างกันพอสมควร คือคำว่า blunt กับ blunder

blunt แปลว่าคนพูดตรงไปตรงมาแบบขวานผ่าซาก

ส่วน blunder แปลว่า ทำผิดพลาดเพราะความเขลาหรือพลาดเพราะซุ่มซ่ามไม่ระวัง

ผู้เขียนก็ยังคิดว่าท่านรัฐมนตรีอนุทินเป็นคน blunt ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องสื่อสาร ดังนั้นท่านควรจะสื่อสารผ่านคนกลางคือโฆษกจะเป็นการดีที่สุดเพื่อปกป้องตัวท่านเองจากการถูกเข้าใจผิด และปกป้องคนทั้งประเทศ (และชาวโลก) จากเรื่องน่าตกใจทั้งหลายที่ท่านเคยเอ่ยถึงมา

ในสถานการณ์แบบนี้จะปล่อยให้เกิด blunder ไม่ได้ เพราะเมื่อใดที่เกิด blunder ความเสียหายอย่างประมาณไม่ได้จะตามมาโดยเฉพาะในตอนนี้เป็นวิกฤตการณ์ที่มีชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน

ในประวัติศาสตร์ของโลกเรามีความผิดพลาดประเภท blunder หลายครั้ง ส่วนใหญ่มันมักจะจบไม่สวยทั้งสิ้น

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน