posttoday

สถานการณ์ฉุกเฉินคืออะไร ประชาชนต้องทำตัวอย่างไร?

25 มีนาคม 2563

ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักการใช้กฎหมายในภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับอำนาจรัฐและสิทธิประชาชน

หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า "สถานการณ์ฉุกเฉินคืออะไร?" และ "รัฐบาลมีอำนาจแค่ไหน?" และ "สิทธิประชาชนเหลือเท่าไร?" คำถามเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเมื่อรู้คำตอบแล้วเราจะใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้ได้คล่องตัวขึ้น

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะมีตั้งแต่สหรัฐไปจนถึงนิวซีแลนด์ จากอินโดนีเซียจนถึงสเปน แต่ละประเทศมีเงื่อนไขการใช้อำนาจพิเศษต่างกันบ้างแต่ตามหลักการแล้วเหมือนกัน

สถานการณ์ฉุกเฉินคืออะไร?

1. สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลมีอำนาจในการดำเนินการหรือกำหนดนโยบายที่ตามปกติแล้วจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ ยกเว้นในช่วงภัยพิบัติทางธรรมชาติ การระบาดใหญ่ เกิดจลาจล หรือสงครามกลางเมือง เมื่อรัฐบาลประกาศแล้วเท่ากับเป็นการเตือนให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมตามปกติ เพราะหลังจากนี้รัฐจะมีอำนาจมากกว่าปกติและใช้บทเฉพาะกาลลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างรุนแรงได้

2. ภาวะฉุกเฉินที่หลายประเทศประกาศในเวลานี้เรียกว่าภาวะฉุกเฉินพลเรือน (civil emergency) เพราะกระทบต่อสังคมโดยรวมและใช้อำนาจในฐานะพลเรือน (civil) ไม่ใช่อำนาจทหาร (martial) แต่รัฐบาลอาจจะมอบหมายให้กองกำลังทหารให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกอยู่ในอันตราย เช่นในเวลานี้เกิดโรคระบาดขึ้นมีพื้นที่อันตรายที่ต้องใช้ทหารและตำรวจเข้าไปช่วยป้องกัน และบางประเทศใช้กำลังทหารตำรวจบังคับใช้คำสั่งกักกันตัวประชาชน

รัฐบาลมีอำนาจแค่ไหน?

3. ตามปกติแล้วประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยมักจะไม่นิยมประกาศภาวะฉุกเฉิน ยกเว้นเป็นสถานการณ์ที่เกินความสามารถจะควบคุมด้วยกฎหมายปกติ เช่น ในเวลานี้ที่ประชาชนในประเทศต่างๆ ละเมิดข้อแนะนำของรัฐบาลกันมาก รัฐบาลจึงต้องใช้อำนาจพิเศษสั่งริดรอนเสรีภาพประชาชนบางส่วนเพื่อความเรียบร้อยของบ้านเมือง

4. เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินของสหรัฐ สภาคองเกรสอาจมอบอำนาจให้รัฐบาลไม่ต้องใช้หมายศาลในกรณีที่เกิดการจลาจลหรือคุกคามความปลอดภัยสาธารณะ และในภาวะฉุกเฉิน ความผิดทางอาญาอาจถูกดำเนินคดีอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องมีลูกขุนชี้ขาดหากสถานการณ์คับขัน เช่น ภาวะสงคราม

5. ส่วนระบอบเผด็จการมักประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบ่อยครั้งและใช้เป็นเวลานานเพื่อที่จะยืดเวลาใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญต่อไป อำนาจของเผด็จการที่อ้างภาวะฉุกเฉินมักจะใช้เพื่อริดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชน และมักลงโทษโดยไม่พิจารณาคดี การประกาศภาวะฉุกเฉินแบบนี้จึงทำควบคู่กับกฎอัยการศึก (martial law)

สิทธิประชาชนเหลือแค่ไหน?

6. การประกาศภาวะฉุกเฉินจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตามหลักสากลสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอาจถูกระงับชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เรียกว่า Derogations ตัวอย่างเช่นรัฐบาลสามารถกักตัวบุคคลและควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดีหรือขอหมายศาล

7. แต่มีสิทธิของประชาชนที่รัฐบาลไม่สามารถริดรอนได้ตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เช่น การทำร้ายร่างกาย การเอาชีวิต การคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่างจากการใช้อำนาจตามกฎหมยภาวะฉุกเฉินที่ให้อำนาจควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดี

8. ในประเด็นหลังอาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะบางครั้งรัฐบาลอาจแก้ไขขอบเขตสิทธิประชาชนในระหว่างประกาศใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉิน ซึ่งใช้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมประชาชนมากขึ้น ดังนั้น บางประเทศจึงต้องมีองค์กรคอยควบคุมมิให้มีการละเมิดสิทธิประชาชนมากเกินไป

ต่างประเทศจะยอมรับหรือไม่?

9. ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินเท่าๆ กันภายในกรอบ ICCPR แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะและต้องแจ้งต่อเลขาธิการสหประชาชาติและรัฐภาคีอื่นๆ ทั้งหมดของ ICCPR ในทันที (ไทยก็เป็นสมาชิกด้วย) พร้อมกับชี้แจงเหตุผลที่ต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน และวันที่ประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมกับวันที่คาดว่าภาวะฉุกเฉินจะจบลง

10. อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการตรวจสอบของ ICCPR ไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งประเทศสมาชิกในการใช้อำนาจตามกฎหมายภาวะฉุกเฉิน เพราะเป็นอธิปไตยของประเทศนั้นๆ ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงมักไม่ทำตามกรอบที่วางไว้ ประเทศที่ดำเนินการตามกรอบที่วางไว้ได้ดีคือสหรัฐและสหภาพยุโรป ส่วนในประเทศไทยนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สื่อมวลชน และภาคประชาชนควรจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ารัฐบาลทำเกินกว่าหน้าที่หรือไม่