posttoday

การเสี่ยงเดิมพันกับจีน อาจกอบกู้สถานการณ์ของไทยได้

10 มีนาคม 2563

เมื่อจีนฟื้นประเทศที่ค้าขายใกล้ชิดกับจีนจะฟื้นตามไปด้วย แต่ทำไมต้องเป็นไทย?

ในช่วงที่การระบาดในจีนรุนแรงมาก รัฐบาลไทยถูกกดันให้ปิดประเทศไม่ต้อนรับคนจีน แต่รัฐบาลก็ยังทนทานกับแรงกดดันมาได้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งกระแสนี้เงียบไปเอง เพราะจุดสนใจเบนไปที่ญี่ปุ่น ตามด้วยเกาหลีใต้ และล่าสุดคืออิตาลี

ขณะที่จีนสถานการณ์ดีขึ้นมาก จนในวันนี้ (10 มีนาคม 2563) ไม่พบผู้ป่วยนอกมณฑลหูเป่ยเลย มันปลอดภัยหายห่วงถึงขนาดที่ "แม่ทัพ" คือ สีจิ้นผิงถึงกับลงไปตรวจราชการที่เมืองอู่ฮั่นด้วยตัวเอง

ว่ากันที่สัญญาณทางเศรษฐกิจ ขณะที่หุ้นทั่วโลกดิ่งเหว ค่าเงินอ่อนระทวย แต่จีนตรงกันข้าม

เราไม่ได้พูดถึงการเทขาย "จันทร์ทมิฬ" (9 มีนาคม 2563) แต่พูดถึงความเคลื่อนไหวในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพนธ์ - 9 มีนาคม ปรากฎว่าขณะที่ดัชนีหลักๆ ของโลกตั้งแต่นิคเคอิ ดาวโจนส์ แดกซ์ ลอนดอนและฮั่งเส็งติดลบทั้งหมด แต่ดัชนีหุ้นจีนทั้ง 3 แห่ง คือที่เซินเจิ้นทั้ง 2 ตลาดและที่เซี่ยงไฮ้ปรากฎว่าบวกทั้งหมด

ค่าเงินหยวนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาถีบตัวเองจากราว 6.98 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แล้วดิ่งลงในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ 7.04 แล้วกระโจนกลับมาที่ 6.94 เหรียญสหรัฐเมื่อถึงเดือนมีนาคมและในตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนลดลงมาก และธุรกิจต่างๆ เริ่มขับเคลื่อนอีกครั้ง

การที่เงินหยวนมั่นคงขึ้นมาเป็นอานิสงส์ที่สีจิ้นผิงเดินทางไปเยือนอู่ฮั่นด้วยตัวเองทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นอีกครั้ง

แต่ความเชื่อมั่นนี้จะยั่งยืนหรือไม่เรายังฟันธงไม่ได้ เหตุผลอยู่ที่ท้ายบทความนี้

จีนเป็นประเทศแรกที่เกิดการระบาดและอาจจะกลายเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวได้ เมื่อจีนฟื้นตัวได้เศรษฐกิจจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

ดังนั้น การที่ไทยไม่ห้ามนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกในตอนนี้แม้ว่ามันจะเป็นการเดิมพันที่เสี่ยงมากก็ตาม

ที่เรียกว่า "เสี่ยงดวง" ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยเอาชีวิตของประชาชนเป็นเดิมพัน แต่การตัดสินใจใดๆ มีความเสี่ยงที่จะตามมา ซึ่งเราไม่ทราบว่ารัฐบาลคิดอย่างไรจึงไม่มีคำสั่งห้ามคนจีนเข้าประเทศ

เราอาจจะบอกได้ว่าหากเสี่ยงดวงผิดมันจะกลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ กลายเป็นวิกฤตที่เลวร้ายแบบเกาหลีใต้หรืออิตาลี

แต่ผู้เขียนมองว่า ถึงไทยจะไม่สั่งห้ามคนจีนเข้ามา คนจีนก็จะไม่เข้ามาอยู่ดีเพราะในเวลานั้นรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการห้ามต่างๆ นานา แม้จะมีคนจีนเข้ามาบ้างแต่ก็ไม่มาก

การตัดสินใจยังต้อนรับคนจีนจึงเป็นการกระทำ "ในเชิงสัญลักษณ์" แต่มันทำให้คนจีนมองไทยในด้านบวก มองไทยว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกับจีน เมื่อจีนฟื้นตัวอีกครั้งย่อมไม่ลังเลที่จะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีก

ใครบอกว่าไม่อยากได้ทัวร์จีน ผู้เขียนขอให้คิดใหม่ เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมทั้งหลายหยุดชะงักหมด หากไม่มีเงินจากส่วนอื่นหล่อเลี้ยง "เราจะตายกันหมดเสียก่อน" ไม่ว่าจะมีผู้นำแบบไหนก็ตาม

ผู้เขียนชื่อว่าหลายคนจินตนาการไม่ออกว่า การท่องเที่ยวพังแล้วมันจะกระทบกับชีวิตของพวกเขาอย่างไร? แม้ว่ามันจะเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่เราส่วนใหญ่เรียนกันมา แต่เราๆ มักจะทำเป็นลืมว่าธุรกิจทุกอย่างโยงใยถึงกันหมด เมื่อธุรกิจหลักของชาติล่มสลาย หลายๆ ธุรกิจก็ไปไม่รอด

อย่างไรก็ตาม เราอย่าเพิ่งดีใจไปว่าจีนฟื้นแล้วจะกลับมาเที่ยวหรือใช้จ่ายทันที คนจีนจะยังคงอยู่ในประเทศของตนไปอีกหลายเดือนโดยไม่ออกมา

นายแพทย์จงหนานซาน หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของปฏิบัติการควบคุมการระบาดคาดการณ์ว่าการระบาดในจีนจะเริ่มสงบลงในเดือนเมษายน แต่กว่าจะเรียบร้อยอาจจะปาเข้าไปเดือนมิถุนายน

หลังจากเดือนมิถุนายนไม่ได้หมายความว่าจีนจะเคลื่อนไหวอีกครั้ง กลับมาเที่ยวไทยอีก หรือจับจ่ายใช้สอยอีก เพราะการระบาดนอกจีนอาจจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด ดีไม่ดีอาจจะลากยาวไปถึงปลายปีนี้

อีกเรื่องก็คือ นักลงทุนต่างชาติยังไม่เชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อของจีนน่าเชื่อถือพอ อาจเป็นเพราะความเชื่อฝังใจว่าจีนมักจะตบแต่งตัวเลขสถิติต่างๆ ให้ดูดีเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้เราคงห้ามไม่ให้พวกเขาคิดแบบนั้นได้ เพราะนี่เป็นข้อหาที่ติดตัวจีนมาตลอดหลายปี

ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี่เอง นักวิจัยของ Yale SOM ระบุว่ารัฐบาลท้องถิ่นของจีนมักจะบิดเบือนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้

หลายคนสงสัยว่าจีนมีผู้ติดเชื้อน้อยลงจริงหรือไม่ หรือเป็นการตกแต่งตัวเลขเหมือนที่บางคนกล่าวหา

ถ้าเราไม่เชื่อจีนแต่เชื่อองค์การอนามัยโลกตัวเลขผู้ติดเชื้อของจีนควรจะลดลงจริงๆ และนี่ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่ว่าจะดีต่อจีนเองและประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ

ถ้าตัวเลขทุกอย่างคือข้อเท็จจริงที่ไม่มีการปรุงแต่ง เราก็คาดหวังได้เลยว่าความมั่นใจของธุรกิจจะเพิ่มมากขึ้น และมันจะมีผลดีต่อประเทศไทยด้วย

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน