posttoday

มหาอำนาจแก้เกมกันสุดมันส์ สงครามน้ำมันเปิดฉากขึ้นแล้ว

09 มีนาคม 2563

สงครามดัมพ์ราคาน้ำมันเริ่มต้นขึ้นแล้วแต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีต่อเศรษฐกิจโลก ต้องบอกว่าโลกในตอนนี้เหมือนผีซ้ำด้ำพลอยจริงๆ

นี่คือสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของตลาดน้ำมันนับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก เพราะราคาน้ำมันดิ่งลงถึง 31%

ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงหลังจากการเจรจาระหว่างกลุ่มโอเปกและรัสเซียประสบกับความล้มเหลว โดยซาอุดิอาระเบียตอบโต้ด้วยการเปิดสงครามหั่นราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ร่วงลงเกือบ 1 ใน 3 เหลือแค่ 31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเช้าวันจันทร์

แต่บริษัท Goldman Sachs Group Inc. บอกกับลูกค้าว่าราคาสามารถลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

วิกฤติครั้งนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน

เมื่อปี 2016 ซาอุดิอาระเบียและสมาชิกโอเปกอื่นๆ เจอปัญหาใหญ่เพราะผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐ (ซึ่งไม่ใช่สมาชิกโอเปก) ปล่อยน้ำมันออกมามาก ทำให้ราคาลดลงต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ซาอุดิอาระเบียและสมาชิกโอเปกจึงต้องหาตัวช่วย ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะรายได้ลดลง จึงโน้มน้าวให้รัสเซียมาฮั้วกันว่าจะลดกำลังการผลิตร่วมกับโอเปกเพื่อที่ราคาน้ำมันจะได้สูงขึ้นและสู้กับการปล่อยน้ำมันออกมาของบริษัทอเมริกัน

ในตอนนั้นโอเปกมีปัญหาเรื่องความบาดหมางระหว่างซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นศัตรูกับอิหร่านแต่อิหร่านเป็นมิตรกับรัสเซีย และยังมีปัญหาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา มหามิตรของรัสเซียที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตร โดยสหรัฐเป็นมหามิตรของซาอุดีอาระเบีย

ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ที่ไขว้กันอย่างวุ่นวายนี้เคลียร์กันได้ เมื่อซาอุดีอาระเบียและรัสเซียยอมที่จะมองข้ามความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเล่นงานเป้าหมายเดียวกันคือสหรัฐ ที่แม้จะเป็นมหามิตรของซาอุดีอาระเบียในทางการเมือง แต่มหามิตรกลับกำลังเจาะขาอ่อนเพื่อนด้วยการปล่อยน้ำมันออกมาขายกันแบบไม่อั้น

นี่คือจุดเริ่มของพันธมิตรซาอุดีอาระเบีย-รัสเซีย เพื่อพยุงราคาน้ำมันโลกไม่ให้ตกลงไปกว่านี้

แต่ล่าสุดรัสเซียปฏิเสธที่จะยอมทำตามข้อเสนอของซาอุดิอาระเบียที่จะบังคับให้รัสเซียลดการผลิตน้ำมันพร้อมๆ กับโอเปกเนื่องจากความต้องการลดลงในยุคเศรษฐกิจถดถอยและการระบาดของโคโนาไวรัส

โอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบียเสนอให้ลดการผลิตลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพื่อที่จะรักษาราคาน้ำมันไม่ให้ลดต่ำลงในช่วงที่ความต้องการน้อย แต่ดีลนี้จะไม่ผ่านถ้ารัสเซียไม่ยอมเล่นด้วย

ปรากฎรัสเซียไม่ยินยอม เพราะมีแผนอยู่ในใจแล้ว คือแทนที่โอเปกกับรัสเซียจะลดการผลิตเอง ทำไมไม่หันไปบีบผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐให้หยุดการผลิตลงหลังจากที่ปล่อยน้ำมันออกมามากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา?

เมื่อตกลงกันไม่ได้ พันธมิตรซาอุดีอาระเบีย-รัสเซีย ที่ช่วยประคองตลาดกันมานับตั้งแต่ปี 2016 ก็จบสิ้นลง นับจากนี้คือจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้า

ซาอุดิอาระเบียจึงตัดสินใจปรับลดราคามากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปีและยังส่งสัญญาณอีกด้วยว่าเพิ่มกำลังผลิต หมายความว่าซาอุดีอาระเบียจะดัมพ์ราคาให้ต่ำลงไปอีกด้วยการปล่อยน้ำมันให้ท่วมตลาด

การทำเช่นนี้เพราะหวังจะให้รัสซียกระอักเลือดตายไปเพราะน้ำมันล้นตลาดจนราคาตกฐานไม่ยอมให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ยังทำให้ซาอุดีอาระเบียสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดของรัสเซียมาได้อีกด้วย

แต่มันจะไม่จบลงแค่นี้ เพราะ Aramco รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตซาอุดิอารเบียกระซิบบอกนักลงทุนบางคนว่ามีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้าและอาจสูงถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หมายความว่าน้ำมันจะถูกลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม การเปิดสงครามราคาไม่ค่อยจะได้ผลนัก เพราะเห็นๆ กันอยู่ว่าตอนที่ซาอุดีอาระเบียจับมือกับรัสเซียบีบสหรัฐ ปรากฎว่าสหรัฐยังเฉย ตรงกันข้ามส่วนแบ่งตลาดของโอเปกกลับลดลง เพราะเงินรายได้และเงินลงทุนยังไหลเข้าไปหาบริษัทอเมริกัน

ดีไม่ดีรัสเซียจะใช้วิธีเดียวกับสหรัฐ โดยทำเป็นนิ่งเอาไว้ก่อนเพื่อรอให้ซาอุดีอาระเบียเจ็บเอง ว่ากันตามกลไกเศรษฐกิจ เรื่องนี้เหมือนจะดีเพราะราคาน้ำมันที่ต่ำลงจะช่วยลดต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมที่ทรุดลงในช่วงการระบาดของไวรัส โดยเฉพาะจีนที่มีสัญญาณดีขึ้นและเริ่มที่จะเดินเครื่องจักรกันอีกครั้ง

แต่ในระยะสั้น สงครามดัมพ์ราคาให้ผลที่เลวร้ายมาก เราะทำให้เศรษฐกิจที่ผูกติดกับการค้าน้ำมันต้องซวนเซไปตามๆ กัน ตั้งแต่ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และแคนาดา ไหนจะประเทศ "เศรษฐีน้ำมัน" ที่เศรษฐกิจบอบช้ำมากอยู่แล้วเพราะราคาต่ำลงยืดเยื้อ เช่น เวเนซุเอลาและอิหร่าน

ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญ เช่น บราซิลก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย อย่าลืมว่าในบรรดาตลาดเกิดใหม่บราซิลได้รับผลกระทบจากไวรัสน้อยกว่าใครเพื่อน

ไม่เพียงแค่นั้น สงครามหั่นราคายังทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนสั่นคลอนจากที่ตอนนี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว มันจะทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน

อย่างที่เห็นก็คือเมื่อเปิดตลาดวันที่ 9 มีนาคม 2563 ตลาดหุ้นล้มระเนระนาดเริ่มตั้งแต่โตเกียวเป็นแห่งแรก เศรษฐกิจโลกในตอนนี้เหมือนผีซ้ำด้ำพลอยจริงๆ

การลงทุนทุกอย่างดิ่งลงหมด เริ่มจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติกาาณ์เพราะแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ตามด้วยตลาดหุ้นเอเชีย และราคาทองคำ รวมถึงสกุลเงินหลักของโลก แม้แต่คริปโตเคอเรนซี่ก็ทรุดลง

ยกเว้นทองคำที่มีราคาสูงกว่า 1,700 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2555

จึงชัดแล้วว่าเงินลงทุนไหลเข้าไปอยู่ที่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ถึงขนาดที่  Goldman Sachs Group Inc. คาดการณ์ว่าราคาทองน่าจะไปถึง 1,800 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ 

ช่วงเวลาดำมืดของน้ำมันและการลงทุนอื่นๆ จึงกลายเป็นช่วงเวลาทองของทองคำไปตามระเบียบ