posttoday

เกิดอะไรขึ้นกับมาเลเซีย? เมื่อมหาเธร์แตกหักกับอันวาร์

24 กุมภาพันธ์ 2563

มหาเธร์และอันวาร์เคยเป็นมิตร แล้วกลายเป็นศัตรู และต่อมาเป็นมิตร ล่าสุดกำลังจะเป็นศัตรูกันอีกครั้ง

กลายเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายสุดๆ เมื่อ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ลาออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ

เขาคือนายกรัฐมนตรีวัย 94 ปี ผู้นำที่สูงวัยที่สุดสุดโลก เก๋าที่สุดในโลก และเป็นบุรุษเหล็กคนสุดท้ายของอาเซียน

เมื่อปี 2018 มหาเธร์ผนึกกำลังกับอันวาร์ อิบราฮิม อดีตทายาททางการเมืองที่ต่อมากลายมาเป็นศัตรู (แล้วกลายมาเป็นพันธมิตรอีกรอบ) ช่วยกันโค่นล้มนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก และโค่นการผูกขาดของพรรคอัมโน (ํUMNO) พรรคที่พวกเขาทั้งคู่เคยเป็นสมาชิกและทำให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นมา

นาจิบ ราซัก ถูกโจมตีอย่างหนักจากกรณีอื้อฉาว 1MDB ที่ฉ้อโกงเงินหลวงไปใช้ส่วนตัวผ่านบริษัทแห่งชาติ เรื่องอื้อฉาวนี้บวกกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้มาเลเซียถดถอยลงไปมากในช่วงไม่กี่ปีหลัง

ผู้คนจึงโหยหาฮีโร่ที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ และมหาเธร์ที่ล้างมือในอ่างทองคำไปหลายปี ก็ลุกขึ้นมาแบกธงนำมหาชนเพื่อโค่นล้มอดีตลูกพรรคเดียวกับเขา แต่ตอนนี้กลายมาเป็นตัวร้ายในทางการเมือง

เพื่อที่จะโค่นพรรคอัมโนที่มีอิทธิพลมานานหลายปี มหาเธร์ยอมจับมือกับอันวาร์ อิบราฮิม ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับเขาในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายปีก่อน

ย้อนกลับไปในปี 1999 อันวาร์ที่ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองต่อจากมหาเธร์ ถูกมหาเธร์กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมทางเพศอันผิดกฎหมาย จนถูกปลดจากตำแหน่ง เขี่ยออกจากเวทีการเมือง ถูกโยนเข้าคุก แล้วถูกซ้อมจนตาเขียว

การที่มหาเธร์เล่นงานทายาทการเมืองของตัวเองยังคงเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้ว่า "ทำไม?"

แต่หลังจากที่มหาเธร์หันไปไว้วางใจคนอื่นให้มารับไม้ต่อจากตน ดูเหมือนว่าบ้านเมืองจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ จนกระทั่งอันวาร์พ้นจากมลทิน ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งในปี 2004 ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน แล้วก็ถูกเล่นงานด้วยข้อหาทางเพศข้อหาเดิมอีกในปี 2015 ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวในปี 2018

อันวาร์ถูกมหาเธร์และพรรคพวกของมหาเธร์โยนเข้าคุกถึง 2 ครั้ง เหตุผลแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่เขาจะอยู่ร่วมโลกกับมหาเธร์ไม่ได้

แต่ในโลกของการเมืองไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร ในปี 2016 หลังจากกรณีอื้อฉาว 1MDB รุนแรงขึ้น มหาเธร์แสดงสปิริตด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่เขาช่วยทำให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นมา

ในปีเดียวกันนั้น มหาเธร์ร่วมกับพรรคการเมืองใหม่ในฐานะหัวหน้าพรรค และเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2018

แต่พรรคใหม่ของมหาเธร์ไม่สามารถโค่นพรรคเก่าแก่ที่เขาเพิ่งจะออกมาได้ ดังนั้นจึงต้องแสวงหาพันธมิตร

ในบรรดาพรรคที่จะมาเป็นพันธมิตร ไม่มีพรรคไหนที่จะแข็งแกร่งเท่ากับพรรคของอันวาร์อีก

นี่คือสาเหตุที่อดีตศัตรูต้องหวนกลับมาปรองดอง แล้วตั้งพันธมิตร Pakatan Harapan ที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองกลุ่มต่างๆ มีอันวาร์และมหาเธร์เป็นพรรคแกนนำ จนโค่นพรรคอัมโนลงได้ และมหาเธร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคอัมโน

เบื้องหลังชัยชนะครั้งนี้คือข้อตกลงที่ว่ามหาเธร์จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไประยะหนึ่ง แล้วจะส่งไม้ต่อให้กับอันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แต่ผ่านมา 2 ปีแล้ว มหาเธร์ก็ยังไม่มีวี่แววจะโอนตำแหน่งให้อันวาร์ตามสัญญา ความคุกรุ่นในพรรคเริ่มก่อตัวขึ้น

นอกจากนี้ ในพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาล Pakatan Harapan ไม่ได้มีแค่กลุ่มของมหาเธร์และอันวาร์

ความขัดแย้งได้ก่อตัวขึ้นในพันธมิตรนี้และระเบิดขึ้นมาในวันที่ 23 กุภาพันธ์ โดยมีความพยายามจากฝ่ายปฏิปักษ์ของอันวาร์ในพรรคนี้ต้องการที่จะสกัดไม่ให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต่อจากมหาเธร์

มีรายงานว่าในพันธมิตรพรรคร่วมมีฟอร์มทีมพรรคร่วมขึ้นมาใหม่ โดยกีดกันอันวาร์และคนในพรรคของเขาออกไปทั้งหมด

คนที่ก่อหวอดยังรวมถึงคนในพรรค People's Justice Party ของอันวาร์เอง คือ โมฮัมหมัด อัซมิน อาลี และ ซูไรดา กามารุดดิน ซึ่งพยายามฟอร์มทีมขึ้นมาให้เพื่อตั้งรัฐบาลของตัวเองโดยไม่มีพื้นที่ให้อันวาร์

อันวาร์ตอบโต้ด้วยการไล่ทั้ง 2 คนนี้ออกไป สถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย

แต่แล้ววิกฤตนี้ก็รุนแรงขึ้นมาอีกในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงก็นำไปสู่การประกาศลาออกแบบไม่ปี่ไม่มีขลุ่ยของมหาเธร์

ในตอนแรกอันวาร์ได้ไปหารือกับมหาเธร์ เมื่ออกมาก็บอกว่า "คุยกันดี"

แต่สิ่งทีเกิดขึ้นมันตรงกันข้าม เมื่อพรรค Bersatu ของมหาเธร์ประกาศว่าจะถอนตัวจากพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหมายความว่าฝ่ายมหาเธร์จะฟอร์มรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน

มีรายงานว่า มหาเธร์จะกลับไปจับมือกับพรรคอัมโนที่เขาเคยเป็นหัวเรือใหญ่และโค่นมันลงมากับมือ และยังจะไปจับมือกับพรรคมุสลิมสายเคร่ง

เรื่องนี้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในพันธมิตรพรรคร่วมฯ ซึ่งประกอบด้วยพรรคชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และพรรคของชนชาติมลายู นี่คือการรวมตัวกันที่ประดักประเดิด เพราะทราบกันดีว่ามาเลเซียมีปัญหาเรื่องความปรองดองทางเชื้อชาติ

และในเวลานี้คนเชื้อสายมลายูไม่พอใจที่พันธมิตรพรรคร่วมฯ ไม่สามารถปกป้องสิทธิ (หรือที่จริงคืออภิสิทธิ) ของชนเชื้อสายมลายูได้

ความประดักประเดิดนี้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ในที่สุด เมื่อพรรคสายมลายูที่นำโดยมหาเธร์ออกไปผนึกกำลังกับพรรคนิยมมลายูในที่สุด

ตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าอันวาร์มีทั้งศัตรูในพรรคตัวเองและศัตรูนอกพรรค ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการลาออกของเสือเฒ่า อันวาร์จะประมาทไม่ได้ เพราะอาจถูกเขี่ยออกจากวงโคจรไปง่ายๆ

ดังนั้น อันวาร์จึงเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี องค์พระประมุขแห่งมาเลเซียในช่วงล่าย เพื่อกราบทูลถึงสถานการณ์และขอพระบรมราชานุญาติจัดตั้งรัฐบาลของเขา

สถานการณ์ที่ต้องจับตาในตอนนี้คือ มีการฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาได้ทันการณ์ หรือจะต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกระทันหัน