posttoday

อาวุธของกองทัพประเทศไหนปล้นง่ายยิ่งกว่าธนาคาร?

10 กุมภาพันธ์ 2563

ไม่ว่ามันจะปล้นจากคลังแสง จากกองรักษาการ หรือจากมือของเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะวิจารณ์กองทัพไม่ได้ในเรื่องการดูแลอาวุธ

ข้อเท็จจริงหนึ่งเกี่ยวกับเหตุกราดยิงที่ จ. นครราชสีมา คนร้ายไม่ได้ปล้นคลังแสง แต่นำอาวุธมาจากกองรักษาการ

ดังนั้น เราจึงไม่อาจข้อตำหนิเรื่องความบกพร่องในการรักษาอาวุธของกองทัพได้อย่างเต็มปากเต็มคำ และคงไม่มีประเทศไหนที่จะปล่อยให้คลังแสงเปิดอ้าซ่าให้ใครหน้าไหนเข้ามาปล้นหรือหยิบฉวยอาวุธร้ายแรงออกไปง่ายๆ

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะวิจารณ์กองทัพไม่ได้ในเรื่องการดูแลอาวุธ ไม่ว่ามันจะปล้นจากคลังแสง จากกองรักษาการ หรือจากมือของเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละ

เราต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดเหตุปล้นอาวุธจากกองทัพบ่อยครั้งเกินไป เกินกว่าจะให้อภัยได้

เกือบทุกครั้งที่มีการปล้นอาวุธในประเทศนั้นจะเกิดพร้อมกับการตายของเจ้าหน้าที่ หรืออาจนำไปสู่การสังหารครั้งใหญ่โดยใช้อาวุธจากคลัง

ประเทศนั้นคือประเทศไหน?

ก่อนที่เราจะไปค้นหาคำตอบ ขอให้ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 90 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หลังจากนั้นมีภาพยนต์จากฮอลลีวูดหลายเรื่องที่ใช้ฉากการปล้นคลังแสงของอดีตสหภาพโซเวียตและนำอาวุธร้ายแรงออกมาขายในตลาดมืดเป็นจำนวนมาก

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีเหตุการณ์เช่นนั้นจริง (เพราะมันเกิดขึ้นจริงๆ) เมื่อเกิดการล่มสลายของประเทศหนึ่งๆ ย่อมเดาได้ว่าสิ่งที่ตามมาคือความโกลาหลและโอกาสที่จะเอาตัวรอดจากการขโมยทุกสิ่งทุกอย่างที่พอจะหาได้เพื่อนำไปขายเลี้ยงชีวิต

แต่ความจริงก็คือมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

Siegfried Hecker ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การจัดการและวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า หลังการล่มสลายของประเทศหลังม่านเหล็ก มีความเสี่ยงที่อาวุธร้ายแรงในคลังแสงของสหภาพโซเวียตจะตกไปอยู่ในมือผู้ก่อการร้าย อาชญากร หรือประเทศที่คิดร้าย

แต่เพราะรัสเซียร่วมมือกับสหรัฐทำการป้องกันคลังแสงเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะต่างก็ทราบดีว่าหากปล่อยให้คลังแสงรั่วโดยเฉพาะคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งรัสเซียและสหรัฐก็จะไม่รอดเหมือนกัน

คลังแสงนิวเคลียร์ของอดีตสหภาพโซเวียตรอดเงื้อมมือคนร้ายมาได้ แต่อาวุธเล็กๆ ต่างก็ถูกลักลอบออกไปขายตามระเบียบ กระนั้น แม้จะมีการปล้นอาวุธไปขาย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสซียขณะนั้นทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น

สถานการณ์แบบเดียวกันยังเกิดขึ้นกับอดีตยูโกสลาเวียหลังสงครามแยกประเทศ และเกิดกับยูเครนในช่วงสงครามกลางเมือง มีรายงานว่าอาวุธจำนวนมากถูกปล้นออกมาขายในตลาดมืด

ในรายงานของสำนักข่าว Reuters เกี่ยวกับการค้าอาวุธที่ปล้นมาในยูเครน ได้สัมภาษณ์ Olena Hitlyanska โฆษกหญิงของฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐยูเครนหรือ SBU ที่ยอมรับว่า “แน่นอนว่าทุกคนที่มีความประสงค์และมีวิธีการ ก็สามารถเข้ามาในธุรกิจ (ค้าอาวุธ) ได้ กลุ่มองค์กรอาชญากรมีการซื้อขายอาวุธอยู่เสมอ”

จากคำสัมภาษณ์นี้เท่ากับว่า แค่ตั้งใจและมีวิธีการคุณก็สามารถปล้นอาวุธเอามาขายได้ง่ายๆ

ย้ำอีกครั้งว่า นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่แตกเป็นเสี่ยงๆ

แต่การปล้นอาวุธในประเทศที่ยังไม่ล่มสลายเป็นเรื่องที่เหนือความเข้าใจของเราจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนผู้คนเริ่มจะชาชิน

ในประเทศเรา เหตุการณ์ปล้นอาวุธส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส คนร้ายปล้นปืนไป 413 กระบอก

ในครั้งนั้นนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บอกว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนแน่ "เพราะการลงมือ มันง่าย สะดวกเกินไปจนเหมือนกับว่าบ้านถูกโจรบุกเข้ามา แต่ว่าไม่มีรอยงัด แสดงว่าคนใช้เปิดประตูให้ วางแผนทำได้รวดเร็วผิดปกติ เกลือเป็นหนอนมีแน่นอนอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหนยังพูดไม่ได้"

แต่เหตุการณ์ผ่านไปจนถึงบัดนี้เรายังไม่รู้ว่าปืนหายไปเพราะใคร เพราะผู้ก่อความไม่สงบ หรือเพราะเกลือเป็นหนอน ทักษิณ ชินวัตรกล่าวถูกต้องหรือไม่ หรือว่าเขาเอ่ยคำรแรงๆ ออกไปเพราะขัดแย้งกับกองทัพเท่านั้น?

หลังจากนั้นปืนของทัพในภาคใต้ก็ถูกปล้นอีกครั้ง 19 ม.ค. 2554 มีเหตุปล้นปืนที่ฐานปฏิบัติการชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 38 คนร้ายได้อาวุธปืนเอ็ม 16 ประมาณ 50 กระบอก กระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 5,000 นัด

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 นี้เอง มีคนร้ายโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครอง จ.นราธิวาส และขโมยอาวุธปืนเอ็ม.16 เอ.1 จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืน HK 33 จำนวน 3 กระบอก และอาวุธปืนพกยี่ห้อชิกซาวเออร์ จำนวน 1 กระบอก รวมทั้งสิ้น 5 กระบอก

แต่เหตุการณ์ในภาคใต้นั้นเราตำหนิเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะพื้นที่นั่นคือสงครามย่อยๆ

แต่สิ่งที่เราอยากจะ "วอนขอ" ต่อกองทัพได้คือ ช่วยหาทางป้องกันเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในแนวหน้าให้พวกเขาได้ปลอดภัยทั้งชีวิตและสามารถรักษาอาวุธของหลวงอันเป็นภาษีประชาชนไม่ให้ตกอยู่ในมือคนร้ายอีกต่อไป

เช่นเดียวกับชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารที่สูญเสียไป จากการโจมตีและปล้นอาวุธจากหมวดรักษาการณ์กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมโคราช

ไม่เฉพาะทหารเท่านั้น ตำรวจเองก็มีกรณีปล้นปืนด้วย แต่เป็นคนในนำปืนหลวงไปขายถึง 49 กระบอกจากสภ.ท่าหิน จ.ลพบุรี โดยคนลงมือก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นด.ต.ชรินทร์ บุตรดี แห่งสภ.ท่าหินนั่นเอง ที่นำปืนไปขายใช้หนี้พนัน

ในสหรัฐและสหราชอาณาจักรก็มีกรณีปล้นอาวุธจากค่ายทหาร แถมยังนำออกขายใน eBay แต่ต้องบอกว่าเป็นแค่ 2 - 3 กรณีเท่านั้น ไม่ได้ถี่แบบบ้านเรา

แม้จะเกิดกรณีกราดยิงโดยทหารในค่ายทหารเอง เช่น กรณี Fort Hood shooting ที่สหรัฐเมื่อปี 2009 ทหารนายนั้นก็ไม่ได้ปล้นอาวุธจากค่าย แต่ไปซื้อปืนจากร้านมาก่อเหตุเอง

บางคนอาจจะรู้สึกว่า อาวุธของหลวงบ้านเรามันปล้นง่ายพอๆ กับแดนมิคสัญญีอย่างยูเครนหรืออดีตสหภาพโซเวียตเลยทีเดียว