posttoday

พนักงานเดลิเวอรี่ ฮีโร่ที่ทุกคนมองข้ามในวิกฤตไวรัสอู่ฮั่น

29 มกราคม 2563

จากข้อมูลของเว็บไซต์ไป่ตู้ เสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังของจีนพบว่า ในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด ชาวเมืองอู่ฮั่นค้นหาคำว่า “บริการส่งอาหาร” มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคำว่า “หน้ากากอนามัย”

บริษัทด้านเทคโนโลยีในจีน บริจาคเงินสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัย และช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์ที่ลงพื้นที่รับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส อาทิ ไป่ตู้ (Baidu) บริจาค 300 ล้านหยวนตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนายารักษาโรค เหม่ยถวน (Meituan) ควักเงิน 200 ล้านหยวนเพื่อใช้ในการดูแลบุคคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ส่วนอาลีบาบา (Alibaba) ของ แจ็ก หม่า บริจาค 1,000 ล้านหยวนสำหรับซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นอกจากนี้ อาลีบาบายังระดมพลทีมแพทย์ทั่วประเทศให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทางออนไลน์แก่ประชาชนในมณฑลหูเป่ยฟรีผ่านแอพพลิเคชันอาลีเพย์ (Alipay) และเถาเป่า (Taobao) เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลในพื้นที่

ขณะที่ธุรกิจเดลิเวอรี่อย่างเหม่ยถวนไว่ไม่ (MeituanWaimai) และเอ้อเลอมา (Ele.me) ยืนยันว่าจะเปิดให้บริการตามปกติ แต่จะหยุดส่งอาหารตามโรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น เพื่อความปลอดภัยของพนักงานส่งอาหารและผู้บริโภค โดยทั้งสองเจ้าได้ออกมาตรการป้องกัน เช่น ให้พนักงานส่งอาหารสวมหน้ากากอนามัย และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างใกล้ชิด

ในช่วงที่ทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นรวมทั้งพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสอู่ฮั่น บวกกับคนในพื้นที่ต้องเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ธุรกิจส่งอาหารถือเป็นความหวังของคนที่อู่ฮั่นกว่า 9 ล้านคน

จากข้อมูลของเว็บไซต์ไป่ตู้ เสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังของจีนพบว่า ในช่วงที่เชื้อโครนาไวรัสระบาด ชาวเมืองอู่ฮั่นค้นหาคำว่า “บริการส่งอาหาร” มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคำว่า “หน้ากากอนามัย”

วิกฤตครั้งนี้จึงกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจส่งอาหาร

จากสถิติของเว็บไซต์ statista.com ระบุว่าปี2019 ธุรกิจส่งอาหารของจีนมีมูลค่ารวม 40,239 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น ประเภท restaurant-to-consumer 11,329 ล้านเหรียญสหรัฐ และ platform-to-consumer 28,910 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปีนี้จะทำรายได้รวม 45,909 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งสูงที่สุดในโลก

ธุรกิจเดลิเวอรี่ของจีนเติบโตมาพร้อมๆ กับการทำทุกสิ่งทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ของคนจีน แต่ที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น อาทิ อีคอมเมิร์ซ ก็คือตลาดเดลิเวอรี่ของจีนมีเจ้าตลาดรายใหญ่อยู่ 2 เจ้าเท่านั้น ได้แก่ เหม่ยถวนไว่ไม่ของเทนเซ็นต์ (Tencent) และเอ้อเลอมาของอาลีบาบา โดยทั้งสองเจ้ามีผู้ใช้รายเดือนรวมกันประมาณ 102.8 ล้านคนเมื่อเดือน ธ.ค. 2019

ธุรกิจเดลิเวอรี่ในจีนค่อนข้างใหญ่และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต Analysis ระบุว่า ปี 2018 ทั่วประเทศจีนมีการสั่งอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด 10,960 ล้านครั้ง เว็บไซต์ statista.com ระบุว่าปี 2018 มีชาวจีนใช้บริการเดลิเวอรี่ราว 368.05 ล้านคน ปี 2019 เพิ่มเป็น 418.76 ล้านคน หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของประชากรจีนทั้งประเทศ

สำนักข่าว China News Agency รายงานว่า หลังจากที่การระบาดของไวรัสอู่ฮั่นเกิดขึ้นมา แม้ว่าลูกค้าตามร้านอาหารในเมืองระดับชั้น 1 (first-tier cities) จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ซัพพลายการส่งอาหารตามบ้านเรือนเพิ่มขึ้น

เมืองระดับชั้น 1 ก็เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว

คนเข้าร้านอาหารลดลงถึงขนาดที่ว่า เมื่อผู้สื่อข่าวได้ซักถามเจ้าของร้านอาหารที่ปักกิ่งถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขาบอกว่าก่อนการระบาดมีลูกค้าเข้าร้านวันละ 1,000 คน แต่ตอนนี้มีไม่ถึง 100 คนต่อวัน

เรื่องนี้ร้านอาหารทุกแห่งจะต้องปรับตัว การปรับตัวของแต่ละร้านแตกต่างกันไป เป็นกรณีศึกษาที่หลายประเทศจะต้องลงไปดูรายละเอียดเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปแล้วว่า ธุรกิจในจีนเอาตัวรอดกันอย่างไรระหว่างสถานการณ์นี้

ในกรณีนี้เราจะมาดูว่าธุรกิจส่งอาหารทำตัวอย่างไร? เพราะเป็น "ตัวเอก" ของสถานการณ์

ปรากฏว่าแทนที่จะกอบโกยอย่างเดียว บริษัทหลายแห่งลดค่าบริการลง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสั่งอาหาร จะได้ไม่ต้องเดินทางออกมาข้างนอกบ้าน แล้วเสี่ยงกับการติดเชื้อ หรืออีกนัยหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ลดค่าบริการลงเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจายตัวของเชื้อ

เช่น เปี้ยนลี่เฟิง (Bianli feng) บริษัทรับส่งอาหารชั้นนำ ริเริ่มโครงการ "ส่งอาหารโดยไม่สัมผัส" นั่นคือจะไม่มีการติดต่อกับผู้ส่งอาหารโดยตรง แต่จะ "ทิ้ง" อาหารไว้ในสถานที่ที่นัดแนะกันไว้ เช่น ที่โต๊ะรีเซปชั่นของสำนักงาน หรือหน้าประตูบ้าน หรือที่อื่นๆ

อันที่จริงแล้วบริษัทที่นำร่องเรื่องนี้คือเหม่ยถวน ที่ริเริ่มโครงการส่งอาหารโดยไม่สัมผัสที่อู่ฮั่นเป็นที่แรก และเพิ่งจะประกาศว่าจะขยายวงครอบคลุม 100 เมืองของจีน และจะครอบคลุมทั้งประเทศในสัปดาห์นี้

กลับมาที่สวัสดิการของพนักงาน เพราะทุกคนต้องบริการในแนวหน้าของการระบาด เปี้ยนลี่เฟิงมีคำสั่งให้พนักงานทุกคนต้องเช็คอุณหภูมิก่อนเข้าทำงาน และในส่วนของสุขภาพของผู้รับบริการ บริษัทยังรับประกันว่าจะมีซัพพลายหน้ากากอนามัยวันละ 20,000 ชิ้น

นี่คือความริเริ่มบางส่วนของธุรกิจเดลิเวอรี่เพื่อรับมือกับการระบาด จะว่าไปแล้วนี่เป็นทั้งโอกาสของการขยายตลาดและยังเป็นโอกาสในการช่วยสังคมในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ "ชาวเน็ต" จีนก็แสดงความชื่นชมพนักงานส่งอาหารราวกับเป็นวีรบุรุษผู้เสียนสละในแนวหน้า

พวกเขาคือหนึ่งในฟันเฟืองเพียงไม่กี่ชิ้นในเมืองที่ถูกปิด ที่ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนต่อไป