posttoday

นักวิจัยเจาะธารน้ำแข็งที่ทิเบต พบไวรัสที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน

23 มกราคม 2563

การศึกษาไวรัสแช่แข็งมีจุดประสงค์สำคัญ คือเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่ธารน้ำแข็งกำลังจะละลายเพราะภาวะโลกร้อน

 

ทีมนักวิจัยนำโดย Zhi-Ping Zhong ค้นพบไวรัสที่ถูกกักไว้ในธารน้ำแข็งที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทิเบต เป็นไวรัสที่ไม่เคยถูกค้นพบที่ไหนมาก่อน พวกมันถูกแช่แข็งไว้ในธารน้ำแข็งมานานถึง 15,000 ปี

จนกระทั่งในปี 2558 นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐและจีน เจาะลึกลงไปในธารน้ำแข็ง 50 เมตรแล้วนำตัวอย่างน้ำแข็งโบราณออกมา หลังจากผ่านไป 5 ปี นักวิจัยเหล่านี้ทำการศึกษาน้ำแข็งเป็นผลสำเร็จ และค้นพบไวรัสโบราณในธารน้ำแข็ง รวมถึงกลุ่มไวรัส 28 กลุ่มที่วงการวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบกันมาก่อน

ทั้งนี้ ไม่มีขั้นตอนพิเศษที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนขณะทำการเจาะการขนย้ายหรือการขนส่งแกนน้ำแข็ง เพียงแต่เก็บตัวอย่างไว้ในห้องอุณหภูมิ -5 องศาเซลเซียส ทำให้มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์จากภายนอก ทำให้ต้องเสียเวลาในการกำจัดออกไป

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า Glacier ice archives fifteen-thousand-year-old viruses (น้ำแข็งของธารน้ำแข็งเก็บรักษาไวรัสอายุ 15,000 ปี) เผยแพร่ใน BioRxiv แพล็ตฟอร์มสาธารณะเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านชีววิทยา

การศึกษาไวรัสแช่แข็งมีจุดประสงค์สำคัญ คือเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่ธารน้ำแข็งกำลังจะละลายเพราะภาวะโลกร้อน และจะปลดปล่อยไวรัสที่ไม่เคยพบกันมาก่อนออกมาสู่โลกภายนอก ซึ่งอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจไวรัสโบราณเสียก่อน เพื่อรับมือกับสถานการณ์คาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้นได้